นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้หารือร่วมกรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยและรายใหญ่ และผู้ส่งออกไข่ไก่ เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ หลังปัจจุบันราคารับซื้อไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.30 บาท/ฟอง ต่ำกว่าต้นทุนผลิตไข่ไก่อยู่ที่ 2.80 บาท/ฟอง และบางพื้นที่ผู้เลี้ยงรายย่อยขายไข่ไก่ได้ต่ำกว่า 2 บาท/ฟอง เนื่องจากขณะนี้มีไข่ไก่ล้นตลาดถึง 60 ล้านฟอง หรือต้องบริโภค 2-3 วันถึงจะหมด และยังมีไข่ไก่ส่วนเกินออกใหม่เข้ามาสมทบสต๊อกอีกวันละ 10 ล้านฟอง หรือมีไข่ไก่ออกสู่ตลาด 50 ล้านฟอง/วัน มากกว่าการบริโภค 40 ล้านฟอง/วัน
โดยมาตรการเร่งด่วนที่จะนำใช้แก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ จะของบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) หรือขออนุมัติงบจากงบกลาง 15 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ส่งออกไข่ไก่ให้ผลักดันไข่ไก่ออกตลาดต่างประเทศ 60 ล้านฟอง ระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ จะของบประมาณจาก คชก.วงเงิน 130-140 ล้านบาท มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้เลี้ยงในการนำไข่ไก่ 60 ล้านฟองเก็บเข้าห้องเย็น เพื่อดึงไข่ไก่ออกจากระบบเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องนำกลับมาคืนรัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการใช้มาตรการ
ทั้งนี้ หลังจากที่มีข่าวว่าจะออกมาตรการช่วยเหลือไข่ไก่ ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มวันนี้ปรับขึ้นมา 20 สตางค์ อยู่ที่ 2.50 บาท/ฟอง โดยเชื่อว่าหลังจากใช้มาตรการแล้วจะทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะดึงราคาไข่ไก่ให้ขึ้นมาอยู่ที่ 2.80 บาท/ฟอง เป็นราคาที่ผู้เลี้ยงไม่ขาดทุน
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว กรมปศุสัตว์จะรับผิดชอบในการหยุดการเพิ่มของผลผลิตไข่ไก่ โดยแนวทางจะลดปริมาณไก่ยืนกรงจาก 57 ล้านตัว เหลือ 52 ล้านตัว หรือลดลง 10% จะทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดจาก 48 ล้านฟอง/วัน เหลือ 40 ล้านฟอง/วัน ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค และมีแผนจะลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่จาก 5.5 แสนตัว เหลือ 5 แสนตัว ซึ่งจะต้องจัดทำรายละเอียดอีกครั้งว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบลดการผลิตไข่ไก่ลง แต่จะยกเว้นรายย่อยไม่ต้องดำเนินการตามแผนที่กำหนดนี้
----