จากกรณีที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโลหะหนักในฝุ่นละออง PM 2.5 ที่วัดได้จากชั้นบรรยากาศทั่วกรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีธาตุทางเคมีที่เป็นโลหะหนักในฝุ่นละออง PM 2.5 ถึงจำนวน 3 ชนิด ที่เกินค่ามาตรฐานสากล คือ สารหนู ซีลีเนียม และแคดเมียม โดยธาตุกลุ่มนี้สามารถก่อให้เกิดมะเร็งต่อคนได้ นิด้า พบ “ธาตุก่อมะเร็ง” ในฝุ่นละออง PM 2.5 ในระดับต้องเฝ้าระวัง
ล่าสุดวันนี้ (25 ม.ค.62) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดธาตุกลุ่มนี้ปนเปื้อนในอากาศ ไม่ได้เกิดจากควันที่ออกมาจากท่อไอเสียรถเท่านั้น อีกหนึ่งสาเหตุที่ถูกพูดถึงเป็นจำนวนมาก คือ เรื่องของผ้าเบรค โดยในกระบวนการเบรคของรถยนต์ในแต่ละครั้งจะทำให้ผ้าเบรคถูกเสียดสีไปด้วย ซึ่งผ้าเบรคก็ประกอบไปด้วยธาตุโลหะหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือธาตุแคดเมียมที่มีความอันตรายสูง โดยฝุ่นละออง PM 2.5 มีความสามารถอย่างหนึ่ง คือ ดึงโละหะดังกล่าวมาอยู่กับตัวได้ และเมื่อจับตัวกับฝุ่น โอกาสที่คนหายใจนำธาตุแคดเมียมเข้าไปก็มีมากขึ้น
ทั้งนี้หากธาตุดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก จะไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดง และส่งผลต่อไปที่ไต ทำให้เป็นโรคไตเรื้อรัง หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า โรคอิไตอิไต เป็นโรคชนิดหนึ่งเกิดจากภาวะพิษจากแคดเมียม อย่างไรก็ตามภาครัฐบาลควรตระหนักถึงปัญหานี้ และเร่งทบทวนมาตรการการป้องกัน เพราะปริมาณค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในตอนนี้สูงมาก และยังพบปริมาณโลหะหนักที่ปนเปื้อนในอากาศอีก ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อสุขภาพคนไทยเป็นอย่างมาก