แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายคนเดียวของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน เล่าถึงความยากลำบากในวัยเด็กที่เกิดมาเป็นผู้พิการหูหนวก จนกระทั่งครอบครัวพาไปผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมที่ประเทศออสเตรเลีย แต่กว่าจะสามารถแยกแยะเสียงจนพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วง 10 ปีแรกของชีวิต เขาใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการฝึกออกเสียงแบบตัวต่อตัวกับคุณครู ซึ่งมองย้อนกลับไปจากวันนี้ นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะเขาเพิ่งสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา
ย้อนประวัติ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17
รู้จัก "ฉันชาย สิทธิพันธุ์" พี่ชายฝาแฝดชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โปรไฟล์ไม่ธรรมดาทั้งบ้าน
สำหรับแสนปิติ เขารู้สึกโชคดีที่รายล้อมไปด้วยคนที่เข้าใจและให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเมื่อมาใช้ชีวิตที่ประเทศสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้พิการ อย่าง “Americans with Disabilities Act” หรือ ADA ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งห้ามการเลือกปฏิบัติกับผู้พิการ กฎหมายนี้คือเครื่องมือสำคัญทำให้บริษัทหรือสถาบันต่างๆ ต้องอำนวยความสะดวกให้กับพวกเขา
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เรียกว่า “Individual with Disabilities Education Act” หรือ IDEA ที่ระบุให้นักเรียนที่มีความพิการจะต้องได้รับการศึกษาสาธารณะที่เหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
กฎหมายเหล่านี้มีส่วนสำคัญทำให้ในสหรัฐฯ ไม่แบ่งแยกผู้พิการออกจากคนอื่นๆ และได้รับการอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้เท่าเทียมกับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ และเมื่อม้องย้อนกลับมาประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิด เขามองว่าที่นี่ยังขาดทั้งกฎหมายรองรับ และความเข้าใจในข้อจำกัดของพวกเขา
แสนปิติ ยอมรับว่า ช่วงเวลา 4 ปี กับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ของคุณพ่อ อาจไม่สามารถรื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้ตอบโจทย์ผู้พิการทั้งหมดได้ แต่หลายนโยบายก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่าง “Traffy Fondue” ที่ให้ผู้คนสามารถแจ้งปัญหาในเมืองที่พบได้ เป็นการแสดงพลังของ Open Data และเปิดโอกาสการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเมืองเขามองว่ากรุงเทพฯ กำลังไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง
“ผมว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เป็นเวลาที่ดีมากสำหรับสังคมไทย เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ผมเฝ้ารอเหมือนกันว่าอนาคตจะไปทางไหน ในไทยอีก 4 ปีข้างหน้า ผมว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งใหญ่ที่น่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ผมไม่ค่อยอยากพูดเรื่องการเมืองใหญ่ แต่มันคงน่าสนใจทีเดียว ผมเฝ้ารอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง”