หลังจากช่วงปลายปี 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้รับมอบรถไฟดีเซลราง รุ่น KIHA 183 มาจาก บริษัทรถไฟฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน โดยรถไฟรุ่นนี้เคยผ่านการให้บริการทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทาง รฟท.ได้ตรวจสอบ พบว่า ขบวนรถมีตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และตู้โดยสารอยู่ในสภาพดี สามารถนำมาใช้งานได้ จึงคาดว่ายังมีอายุการใช้งานต่อไปได้ไม่ต่ำกว่า 50 ปี ประเทศญี่ปุ่นจึงมอบรถดีเซลรางนี้มาให้กับประเทศไทยได้ใช้ฟรี โดย รฟท. รับผิดชอบค่าขนส่งมาที่ประเทศไทยประมาณ 42 ล้านบาท
ถึงไทยแล้ว รถจักรดีเซลรุ่นใหม่จากจีน เตรียมใช้แทนรถเก่าที่วิ่งมานานกว่า 50 ปี
เปิดข้อมูลงบโฆษณาของรัฐบาลอันดับ 13
ณ โรงงานมักกะสัน บรรดาพนักงานฝ่ายการช่างกล การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เริ่มภารกิจสำคัญ “ชุบชีวิต” รถดีเซลราง KIHA 183 ที่ได้รับมอบ และจะนำออกมาทดลองให้บริการภายในปี 2565 โดยจะมีการนำร่องให้บริการในรูปแบบขบวนรถไฟท่องเที่ยว และวิ่งให้บริการในระยะสั้น
สำหรับแผนการปรับปรุง จะปรับปรุงครั้งละ 4 คัน จนครบ 4 ชุด และมีรถสำหรอไว้ 1 คัน จากนั้นก็สู่กระบวนการซ่อมปรับปรุง เช่น ความกว้างของล้อที่เดิมฐานจะกว้าง 1.067 เมตร ตามมาตรฐานรางของประเทศญี่ปุ่น ก็ปรับให้ได้ตามมาตรฐานของประเทศไทยที่ 1.00 เมตร ขั้นต่อมา คือการดัดแปลงตัวแคร่ (โบกี้ ซึ่งเป็นส่วนฐานของรถไฟ) ตรวจสอบระยะห้ามล้อ ระบบเกียร์ ระบบไฟ ระบบเครื่องปรับอากาศ เปลี่ยนอะไหล่สิ้นเปลืองต่างๆ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันของเหลว เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน พร้อมสำหรับการใช้งาน
ทั้งนี้ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีการนำรถไปทดลองวิ่งในเส้นทางสายตะวันออกจนถึงสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ซึ่งพบว่าใช้งานได้ดี ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน จากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการทำสี ปรับปรุงสภาพภายใน ทำความสะอาด เช็ดผนัง ชั้นวางของ กระจก หากพบว่าส่วนไหนมีปัญหาจะทำการเปลี่ยนทันที
รถไฟดีเซลราง KIHA 183 ยังคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของความเป็นญี่ปุ่น เช่น ตัวหนังสือระบุที่นั่ง แต่จะมีข้อความภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทยไว้ โดยเฉพาะในห้องน้ำ ซึ่งเป็นระบบปิดเหมือนรถไฟรุ่นใหม่ 115 คัน (อุตราวิถี อีสานมรรคา อีสานวัตนา ทักษิณารัถย์) หรือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ในส่วนของห้องขับหรือส่วนควบคุมรถ ก็เพิ่มเติมข้อความภาษาอังกฤษเข้าไป เพื่อให้ช่างที่ดูแลรถทำงานง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ภายในขบวนรถ ยังมีป้ายรูปสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยที่น่าสนใจในเส้นทางรถไฟ เช่น หัวหิน ทางรถไฟสายมรณะ พระนครศรีอยุธยา รวมไปถึงกรุงเทพมหานคร เป็นภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้ข้อมูลส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นการคงกลิ่นอายความเป็นประเทศญี่ปุ่นภายในขบวนไว้ด้วย ในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่มีโอกาสเข้ามาใช้บริการได้รับทราบข้อมูลด้านการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆที่ทางการรถไฟฯ ส่งเสริมและสามารถเผยแพร่ข้อมูลแบบบอกต่อกันในบรรดานักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นให้มาท่องเที่ยวที่เมืองไทยเพิ่มมากขึ้น
สำหรับระยะแรก การรถไฟฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะนำรถ KIHA 183 นี้มารับ-ส่ง ผู้โดยสารในระยะทางใกล้ ๆ หรือทำเป็นรถท่องเที่ยว พอเข้าสู่ระยะที่2 ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น เครื่องยนต์ เพลาล้อ เครื่องถ่ายทอดกำลัง เครื่องยนต์ปั่นไฟ เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ซึ่งการปรับปรุงส่วนนี้ สามารถทำให้รถวิ่งได้ไม่ต่ำกว่า 15 ปี เมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะนำรถดีเซลราง KIHA 183 ทั้งหมด มาให้บริการเป็นขบวนรถท่องเที่ยว รวมทั้งเปิดให้ประชาชน หน่วยงาน หรือผู้สนใจสามารถเช่าเหมาขบวนรถในรูปแบบ Charter Train อีกด้วย