ความหมายของคำว่า SLAPP
ความสำเร็จ และก้าวต่อไป การประเมิน ITA
ส่อง 28 ความผิดมูลฐาน เข้าข่ายผิดกฎหมายฟอกเงิน
SLAPP ย่อมาจาก Strategic Lawsuit against Public Participation โดย Canan และ Pring นักทฤษฎีกฎหมายชาวอเมริกันเป็นผู้คิดค้นคำนี้ขึ้น
ความหมายของ SLAPP คือ การฟ้องร้องที่ปราศจากการแสวงหาความยุติธรรมอันเป็นสาระสำคัญ (substantial merit) โดยภาคเอกชนเพื่อหยุดพลเมืองไม่ให้ใช้สิทธิทางการเมืองเพื่อลงโทษพวกเขา เช่น การฟ้องหมิ่นฐานประมาท การฟ้องร้องในกระบวนยุติธรรมเหล่านั้นจึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งแสวงหาความยุติธรรม
แต่เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อกดดัน จำกัดการแสดงออกเพราะต้องวิ่งเต้นสู้คดี และยุติข้อเรียกร้องจากกลุ่มที่เคลื่อนไหว
วิธีการนี้เป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ รวมถึง "ไทย" และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทเอกชนกับภาคประชาชน
บทบาท ป.ป.ช. ฮึดสู้ เสนอกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law)
สำหรับประเทศไทย มีการเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... เพื่อนำมาใช้เป็นกฎหมายปกป้องประชาชน เพราะตามหลักการของกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-Strategic Lawsuit Against Public Participation Law หรือ Anti-SLAPP Law) คือ
กำหนดให้รัฐมี มาตรการคุ้มครองบุคคล ที่ออกมาเปิดโปงหรือแสดงความเห็นโดยสุจริต แล้วบุคคลนั้นถูกฟ้องคดีปิดปากในลักษณะที่เป็น การคุกคามโดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือด้วยวิธีการฟ้องคดี เพื่อยับยั้ง ข่มขู่ ประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะหรือการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
ซึ่งการ "ฟ้องปิดปากนี้" ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มุ่งหวังในผลแพ้ชนะของคดีแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อข่มขู่ กลั่นแกล้ง หรือขัดขวางประชาชนที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร้องเรียน แสดงความคิดเห็น หรือแจ้งเบาะแส เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ
เพราะฉะนั้น (ร่าง) พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... จะเป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปากคือ “การยุติคดี” ประเภทนี้โดยรวดเร็วตั้งแต่ในชั้นเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม
ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากไม่ต้องเสียเวลารวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ ไปจำนวนมากในระหว่างการต่อสู้คดี เพื่อเป็นการลดความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก
ปัจจุบัน (ร่าง) พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการ ไปเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2565 ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป
ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
โดยกำหนดเพิ่มเติมมาตรการหรือกลไกในการป้องกันการฟ้องปิดปากเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่มีใน(ร่าง) พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ และได้มีการนำ (ร่าง) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว
โดยกฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 2 การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้กำหนดให้มี “กฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law)” และสอดคล้องกับมาตรา 63 ประกอบมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ดังนั้น บทบาทของ “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” ต่อ “กฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law)” คือ การใช้กลไกทางกฏหมาย สามารถพิจารณามีความเห็นว่า
บุคคลใดสมควรได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือในกรณีที่ถูกฟ้องคดี ถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ หรือถูกดำเนินการทางวินัยสืบเนื่องมากจากการที่บุคคลดังกล่าวได้มาให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแส ข้อมูล หรือแสดงความคิดเห็น โดยสุจริตเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
และสามารถประสานข้อมูลและการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือบุคคลผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากเพื่อช่วยเหลือจากการถูกฟ้องคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา รวมทั้งการถูกดำเนินการทางวินัย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือในระหว่างที่ถูกดำเนินคดี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเช่น ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความ ค่าฤชาธรรมเนียม การวางหลักประกัน เป็นต้น