กรณีคดีไร่ภูนับดาว ยังคงเป็นที่พูดถึงในสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่ทางไร่ภูนับดาวออกมาระบุยืนยันว่าเป็นการทำในเชิงเกษตรกรรมอย่างถูกต้อง รวมถึงการที่คดีนี้ไปอยู่ในมือของของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ป.ป.ป. ก็มีผู้มีตั้งข้อสงสัยไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องของตัวคดีว่าแท้จริงแล้วตามขั้นตอนปกติ ควรจะไปต่อที่ ป.ป.ช. หรือไม่ หรือเหตุใดมาอยู่ในมือของ ป.ป.ป. หรือมีการสะท้อนความไม่เชื่อมั่นใด ๆ หรือไม่ อย่างไร
นายสิระ เจนจาคะ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ และ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ปธ.กมธ. ทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมพูดคุยกับ PPTV ในรายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk พร้อมวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
"ไร่ภูนับดาว" อ้างเช่าที่ไม่ได้ ชี้ผิดกฎหมาย - ผิดเจตนารมณ์ ส.ป.ก.
นายสิระ กล่าวว่า กรณีที่ไร่ภูนับดาวออกมาชี้แจงว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ขออนุญาตออกโฉนด ส.ป.ก.4-01 แล้ว และผู้ที่ใช้ประโยชน์และรับสิทธิก็เป็นเกษตรกรนั้น ตามเจตนารมณ์ของการออก ส.ป.ก. ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี อันเนื่องมาจากเกาตรกรไม่มีที่ทำกิน จึงต้องนำที่หลวงให้เกษตรกรมีที่ทำกิน ไม่ให้เช่า ขาย หรือแบ่งให้เช่า สามารถโอนสิทธิให้ทายาทอย่างเดียวเท่านั้น
ซึ่งการที่ไร่ภูนับดาวอ้างว่าไปเช่ามานั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผิดเจตนารมณ์และผิดกฎหมาย ต้องยึดคืนเท่านั้น ไม่ว่าจะให้เช่าหรือทำเรื่องเกษตรเท่านั้น ปัจจุบันก็ยังมีอีกหลายที่ที่ใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ในลักษณะเหมือนกับกรณีของไร่ภูนับดาว อาจมีการเลี่ยงบาลีเป็นคำว่าใช้พื้นที่ในการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ขอย้ำว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง
ปัจจุบันมีนายทุนมาเช่าที่ ส.ป.ก. มากมายโดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ในการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่นที่จังหวัดภูเก็ต แล้วเอาทัวร์มาลง
นายสิระ อธิบายว่า พื้นที่ ส.ป.ก. ต้องทำเกษตรเท่านั้น สิทธิ์ที่ได้รับคือคนที่ไปขอสิทธิ ส.ป.ก. เท่านั้น จะเปลี่ยนมือไปให้สิทธิ์แก่ผู้เช่าไม่ได้ เช่น คนคนหนึ่งมีความรู้เรื่องทำปุ๋ย ปลูกผัก และเขามีคุณสมบัติใช้ที่ ส.ป.ก. จากนั้นก็เปิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้คนมาเรียนรู้วิธีทำปุ๋ย ปลูกผักอย่างไรให้งาม การตอนกิ่ง หรือเลี้ยงสัตว์อย่างไรให้มีคุณภาพ คือทำได้ แต่ต้องเป็นคนที่ได้รับสิทธิ์
นายสิระ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ จะไปเยือนภูนับดาวว่าเป็นที่เรียนรู้ทางเกษตรจริงหรือไม่ หรือมีการบุกรุกป่าหรือไม่ หลังจากนี้ก็ต้องไปว่าตามกระบวนการคือ กรมป่าไม้ กับ ส.ป.ก. ซึ่ง ส.ป.ก. มีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาจโดนลงโทษหมด
รีบยืนยันตัวตน (e-KYC) โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใน 26 ธ.ค.67
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 9 ภาคใต้ 10 จังหวัดระวังฝนตกหนัก
อาหารกินบ่อยเสี่ยง “ไขมันพอกตับ” ปัจจัยก่อมะเร็งตับถึงไม่ดื่มแอลกอฮอล์
คดีไร่ภูนับดาว บูรณาการหลายหน่วยได้ ย้ำเจ้าหน้าที่ต้องมีสามัญสำนึก
นายชีวะภาพ กล่าวว่า คนเคยเข้าไปตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวกับหน่วยงานต่าง ๆ ดูหลักฐาน นิติวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ แล้ว ซึ่งหากเป็นเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ที่ออกมา ก็มองว่าเป็นการออกเอกสารอย่างผิดกฎหมาย จาก 2 เรื่อง คือ พื้นที่ไปทับกับสวนป่า ซึ่งต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไป
และเรื่องที่สองคือทับแปลงคดีความเก่าตั้งแต่ปี 2558 ที่ศาลเคยสั่งพิพากษาให้จำคุก รอลงอาญา โดยให้จำเลยบริวารออกนอกที่ที่บุกรุก ซึ่งเจตนาของศาลคือไม่อยากให้ใครเข้าไปทำอะไรตรงนั้น ในเมื่อศาลสั่งแบบนี้แล้วถ้ายังเอาไปให้เช่าอย่างไร ก็ต้องดูว่าผิดตามระเบียบข้อไหน หรือมีอะไรค้านความรู้สึกคนบ้าง
นายชีวะภาพ กล่าวว่า การกระทำนี้ย้อนแย้งกับเจตนารมณ์กฎหมายใน พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ซึ่งต้องการจะอนุรักษ์เอาไว้
สำหรับพื้นที่ไร่ภูนับดาว 122 ไร่ ก็มีการนำเอกสารมาแสดง 2 ฉบับ ซึ่งข้อแรกตนมองว่าพื้นที่ที่ครอบครองกับพื้นที่ที่ทำประโยชน์นั้นไม่เท่ากัน ยังมีความย้อนแย้งกันอยู่ ตรงนี้ต้องให้ได้ข้อยุติ ซึ่งถ้าบอกว่าได้รับสิทธิ์การเช่าจาก ส.ป.ก. อย่างถูกต้อง ตรงนี้ก็ต้องมาดูเอกสารว่าให้เช่าด้วยระเบียบข้อไหน พื้นที่เท่าไหร่ ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ไหม ถ้าครอบคลุมครอบคลุมเท่าไร
ต้องเข้าใจว่าวันนี้ทางภูนับดาวได้รับการเช่าพื้นที่เป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ ทางเขาก็ต้องมีความเชื่อมั่นว่ำด้สิทธิ์ในการครอบครองทำประโยชน์จริง ซึ่งก็ต้องไปดูว่าสามารถใช้ทำประโยชน์ใด ๆ ได้บ้างกันต่อไป ทีนี้ก็ต้องไล่ย้อนไปว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ออกหนังสือให้เช่าตามกฎหมายนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดก็ต้องว่ากันต่อไป
นายชีวะภาพ กล่าวต่อว่า กระบวนการดำเนินการทางกฎหมายนั้นร่วมกันทำโดยหลายหน่วยงานได้ ต้องเข้าใจว่าเนื้องานในเรื่องการอนุรักษ์รักษาพื้นที่นั้นมีกฎหมายหลายฉบับ และบูรณาการในการปฏิบัติร่วมกันได้
ตัวอย่างเช่นเมื่อตนลงพื้นที่ไปครั้งหนึ่งในฐานะหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ก็ประสานการปฏิบัติกับทาง ป.ป.ท. เพราะมองว่าการออกเอกสารนี้น่าจะมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งเขาเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบทุจริตข้าราชการระดับไปเกินซี 8 ถ้าซี 8 ขึ้นไปต้องเป็นทาง ป.ป.ช. โดยในขณะนั้นก็มีทาง กอ.รมน. กรมป่าไม้ ชุดพยัคฆ์ไพร และ ส.ป.ก. จังหวัดก็ไปร่วมตรวจด้วย
ทั้งนี้ ทุกหน่วยต้องมีจิตวิญญาณ มีสามัญสำนึก เจอตรงไหนผิดก็ต้องกลับไปจัดการดำเนินคดีต่อไป หรือมีใครที่เกี่ยวข้องก็ส่งเรื่องกันต่อไป
ด้าน นายสิระ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า ที่มีการโอนคดีไร่ภูนับดาวมาที่ ป.ป.ป. ไม่ได้ดำเนินการโดย ป.ป.ช. เพราะข้าราชการที่เกี่ยวข้องคงไม่ถึง ซี 9 และเรื่องนี้ถ้า ป.ป.ช. ต้องมามีความเกี่ยวข้องด้วย ก็ขอให้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สามารถกอบกู้ข้อเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนในการทำงานของ ป.ป.ช. ในหลายเรื่องที่ผ่านมา
จับพิรุธ "หวานใจบิ๊กการเมือง" หุ้นกู้ไม่มีซอยจ่าย
นายสิระ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าทางไร่จะออกมาชี้แจงว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับทางหวานใจบิ๊กการเมืองแต่อย่างใด แต่จุดเริ่มต้นที่มีการตรวจสอบเส้นเงินมาจากเงิน 10 ล้านที่มีการโอนเข้าบัญชีในวันเดียว ครั้งละ 2 ล้าน และชี้แจงว่าเป็นการรับจากหุ้นกู้ ตรงนี้มีข้อสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า เช่น ตนเคยลงทุนในหุ้นกู้บริษัทหนึ่ง พอครบกำหนดเขาก็โอนเต็มจำนวนมาครั้งเดียว ยอดเดียว ไม่มีการทยอยจ่ายซอยหลาย ๆ ยอด
หรืออาจเป็นไปได้ว่า บริษัทมหาชนเหล่านี้จะมีตั้งคอมมิชชันให้ตัวแทน เราไปซื้อกับตัวแทน ซึ่งถ้าเป็นบริษัทกลุ่มธนาคารก็จะรับเป็นโบรกเกอร์ แต่หากสมมติซื้อผ่านนายหน้า ก็ไม่มีความมั่นใจ มีความน่าเชื่อถือตรงไหน หรืออาจเลือกซื้อกับบริษัทโดยตรงเลยก็ได้
ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ การซอยจ่ายนั้นเป็นตัวเลข 2 ล้านกลม ๆ เลยไหม หรืออาจ 1.9 ล้าน ซึ่งการทำธุรกรรมทางการเงินธนาคารจะต้องมีการส่งไปยัง ป.ป.ง. ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ง. ต้องเข้ามาดูแล้วว่าทำไมไม่โอนครั้งเดียว ซอยโอนทีละ 2 ล้าน หรือ 1.9 ล้านกว่า ๆ อย่างไรก็ตาม ตนยังยืนยันว่าไม่มีใครไปซื้อหุ้นกู้ในนามบุคคล ต้องมาพิสูจน์ว่าเส้นทางการเงินถูกกฎหมายหรือไม่ เงินมาจากไหน ส่งต่อไปไหนอย่างไร เพราะส่วนตัวมองว่าเจ้าของบัญชีที่ได้รับข่าวมาว่าไม่ได้เป็นข้าราชการใหญ่โต แต่กลับมีเงินหมุนเวียน 6 ปี 900 ล้าน และธุรกิจทำอะไร ส่งงบประจำปี ขาดทุนกำไรอย่างไร
แนะ "บิ๊กนักการเมือง" พักผ่อน ไม่มีท่านบ้านเมืองก็ไปต่อได้
นายสิระ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์นี้เหมือนฝีแตกแล้ว เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีเรื่องก็ปิดเรื่องได้ ตอนนั้นยังอยู่ฝ่ายมีอำนาจอยู่ ยังดำเนินการต่อได้ คำถามคือนั่นยังปกติอยู่หรือไม่ หรือทำไมพอมีคนชุดเดิมเข้าไปลุย แต่แยกซีกคนละข้าง เรื่องถึงแดงขึ้น
เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนายสามารถ หรือเรื่องนี้ ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ต้องห่วงตรงนี้บ้าง ไม่ใช่เอาอำนาจมาทำให้ประชาชนเดือดร้อน แล้วไปเบียดเบียนที่ดินทำกินของประชาชน ตรงนี้นักการเมืองต้องหันกลับมาดูแล้ว ขณะที่คนมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ เมื่อหมดอำนาจแล้วก็จะต้องโดนเช็กบิล หรือชำระแค้น อยู่ต่อไปก็มีแต่เจ็บตัว คนใกล้ตัวก็ทยอยโดนจัดการกันไป
นายสิระ มองว่า เรื่องถัดไปที่อาจจะแดงหลังจากนี้คือ เรื่องเรือดำน้ำ เพราะคำถามคืองบจากภาษีของประชาชน การจัดซื้อนั้นดำเนินการไปเท่าไร ตอนนี้อยู่ไหน มีเครื่องหรือยัง ซึ่งคนที่มีส่วนได้เสียเขาก็จะมาทวงสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วกลับคืน และส่วนตัวก็มองว่าไม่มีอะไรที่สู้ต่อได้ น่าจะยอมโยนผ้าขาว ไม่ชกต่อ เรื่องอื่นอาจจะเป็นเรื่องของคนใกล้ตัว แต่ถ้าเป็นเรื่องเรือดำน้ำเจ้าตัวจะโดนโดยตรง
นายสิระ มองอีกว่า สัญญาณปลายทางของบิ๊กนักการเมืองคนดังกล่าว คือ อย่างแรกคนใกล้ชิดเริ่มถอยออก ไม่อยากเจอลูกหลง สองคือหลายคนมีที่ไปก็ไปกันหมด สัญญาณเหล่านี้คือสิ่งที่จะบ่งบอกเองว่าจะยอมหรือจะไปต่อ ส่วนตัวอยากให้พัก เชื่อมั่นในคำโบราณที่ว่า อย่าคิดว่าตัวเองเป็นไก่ ที่ต้องไปขัน ถ้าไม่ขันแล้วพระอาทิตย์จะไม่ขึ้น ลองดูว่าถ้าวันไหนไม่ได้ขึ้นไปขัน จะมีไก่ตัวอื่นขันไหม หรือพระอาทิตย์จะขึ้นไหม เหมือนไม่มีท่านบ้านเมืองก็ไปได้