ระบบภูมิคุ้มกัน เกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายระบบภายในร่างกาย ทั้งอวัยวะต่างๆ เซลล์และสารเคมี รวมถึงโปรตีนหลากหลายชนิด ซึ่งถ้าหากภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการทำงานที่ผิดปกติ หรือการมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (Unhealthy Lifestyle) ร่างกายก็จะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อภายนอก หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้ ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายได้ในอนาคต
สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ตัวเองแบบง่ายๆ ทำได้ทันที
เสริมเกราะ-สร้างภูมิ รับมือหน้าฝน วันที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
ระบบภูมิคุ้มกันมีความซับซ้อนอย่างมาก และแบ่งออกเป็น 2 ระบบหลัก ๆ ได้แก่
1. ภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด (Innate immune system) เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับระบบภูมิคุ้มกันประเภทนี้ ถูกถ่ายทอดจากพันธุกรรม เป็นกลไกที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ผิวหนัง เยื่อบุ เยื่อเมือกต่างๆ ช่วยขัดขวางไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือ กรดในกระเพาะอาหาร น้ำตา เหงื่อ ช่วยทำลายเชื้อโรคก่อนเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงเซลล์เพชฌฆาต (Natural Killer Cells; NK Cells) ที่พร้อมต่อสู้กับเนื้องอก เซลล์มะเร็ง หรือการติดเชื้อไวรัสอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดการติดเชื้อ
2. ภูมิคุ้มกันที่ได้มาภายหลัง (Adaptive immune system) เป็นระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจงที่ร่างกายสร้างขึ้นมาหลังจากได้รับเชื้อ โดยพื้นผิวของจุลินทรีย์จะมีโมเลกุลโปรตีน ที่เรียกว่า “แอนติเจน” (Antigen) ซึ่งสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้ โดยเซลล์เม็ดขาวชนิด B lymphocyte (B-cells) จะตอบสนองด้วยการสร้างโปรตีนชนิดพิเศษที่เจาะจงกับแอนติเจนขึ้นมา หรือที่เรียกว่า “แอนติบอดี้” (Antibody) เพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte (T-cells) มาทำลายต่อไป แม้ว่าหลังการได้รับเชื้อครั้งแรก ร่างกายอาจใช้เวลาหลายวันในการสร้างแอนติบอดี้ แต่ระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำและปรับตัว เพื่อให้สามารถต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมในครั้งถัดไป
ภูมิแพ้ โรคยอดฮิตคนไทย รู้เท่าทันหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการ
แพทย์ผิวหนังชี้พักผ่อนน้อย เพิ่มความเสี่ยงเกิด "โรคงูสวัด"
หน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกัน
1. ป้องกันและทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
2. ทำหน้าที่จดจำ และต่อต้านสารที่เป็นอันตรายจากสิ่งแวดล้อม
3. ต่อสู้กับเซลล์ที่แปรสภาพผิดปกติ เช่น เนื้องอก เซลล์มะเร็ง
จะเกิดอะไรขึ้นหากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
บางครั้งระบบภูมิคุ้มกันเกิดการตอบสนองขึ้นมา แม้ว่าจะไม่มีการรุกรานเกิดขึ้นจริงๆ โรคและความผิดปกติเหล่านี้ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ปกติในร่างกาย และไม่สามารถปกป้องคุณเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อก่อโรคได้
ภาวะและโรคผิดปกติทางภูมิคุ้มกัน อาทิ
• โรคภูมิแพ้ (Allergies) เกิดเมื่อร่างกายเกิดการตอบสนองต่อสารที่ไม่เป็นอันตราย เช่น อาหาร หรือเกสรดอกไม้ โดยการหลังสารฮีสตามีน (Histamine) ก่อให้เกิดอาการแพ้ ตั้งแต่ คัดจมูก จาม หรืออาจรุนแรงถึงหายใจติดขัด และถึงขั้นเสียชีวิตได้
• โรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune diseases) คือการที่ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดและโจมตีเซลล์ปกติในร่างกายของคุณ ก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัสหรือโรคแอสเอลอี (SLE)
• โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency diseases) หากคุณมีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง คุณจะป่วยง่ายขึ้นและการติดเชื้อของคุณอาจยาวนานและรุนแรงขึ้น ทำให้ยากต่อการรักษา มักเกิดจากโรคทางพันธุกรรม (genetic disorders) หรือการติดเชื้อไวรัส HIV ที่จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกาย และเพิ่มโอกาสเจ็บป่วยร้ายแรงได้
• โรคมะเร็ง (Cancer) เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple myeloma) โรคมะเร็งกลุ่มนี้ส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง
• ยาบางชนิด การได้รับยาสเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัดสามารถทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้
เห็นได้ว่าระบบภูมิคุ้มกันมีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว และฟื้นตัวได้เร็วหากได้รับเชื้อก่อโรค ดังนั้นเราจึงควรดูแลระบบภูมิคุ้มกันของเราให้ทำงานอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ ด้วยการตรวจเช็คร่างกาย และมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ
BDMS Wellness Clinic มุ่งมั่นพัฒนาและวิจัยเรื่องสุขภาพ เพื่อมอบเป็นของขวัญสุขภาพแก่คนไทยทุกคน เพราะสุขภาพที่ดี คือของขวัญที่ดีที่สุด Live longer, Healthier and Happier
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) ไลน์ : @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/rdIDv1A เว็บไซต์ : www.bdmswellness.com
แหล่งอ้างอิง
1. How does the immune system work? [Internet]. Institute for Quality and Efficiency in Health Care (IQWiG). 2020 [cited 15 June 2022]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279364/
2. Immune System: Parts & Common Problems [Internet]. Cleveland Clinic. 2022 [cited 21 June 2022]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/articles/21196-immune-system
3. Overview of the Immune System [Internet]. Niaid.nih.gov. 2022 [cited 21 June 2022]. Available from: https://www.niaid.nih.gov/research/immune-system-overview
มันมากับน้ำท่วม "โรคน้ำกัดเท้า" เช็กอาการและวิธีรักษาก่อนลุกลาม