อาการเหล่านี้เองที่บ่งบอกว่า เรากำลังเสี่ยงกับกลุ่มอาการเกี่ยวกับดวงตาที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome หรือ CVS แล้ว แม้ว่ากลุ่มอาการนี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักส่งผลให้เกิดความไม่สบายตา
กลุ่มเสี่ยงโรค Computer vision syndrome
1. พนักงานออฟฟิศทั่วไป
2. นักเขียน
3. คนทำงานด้านกราฟิก
4. นักเรียนนักศึกษาที่เรียนออนไลน์
5. บุคคลที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
เตือน “สังคมก้มหน้า” เล่นมือถือเป็นเวลานาน เสี่ยงเกิดอาการเจ็บป่วยใด น่ากังวลแค่ไหน
"ตาแห้ง" จนระคายเคือง อีกอาการที่ผู้สูงวัยเป็นกันมาก
Computer Vision Syndrome คือกลุ่มของอาการทางตาและการมองเห็น ที่มีผลมาจากการใช้หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงพฤติกรรมการมองจอคอมพิวเตอร์ที่ใกล้เกินกว่าครึ่งฟุต หรือประมาณ 6 นิ้ว
โดยกลุ่มโรคนี้สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากขึ้นหากจ้องหน้าจอในที่ที่มีแสงน้อย หรือมีท่านั่งที่ไม่เหมาะสมในขณะใช้งานครับ
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่า มักพบภาวะ CVS นี้ได้ถึง 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงขึ้นไปโดยไม่มีการหยุดพัก ซึ่งความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการใช้งานและการจ้องหน้าจออย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในอาการหลักของกลุ่มอาการ CVS ก็คืออาการ “ตาล้า” ซึ่งอาการ ‘ตาล้า’ หรือ แอส-เตอร์-โน- เปีย (Asthenopia) คืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตา ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา แสบตา ตาพร่ามัว และบางครั้งก็อาจมองเห็นภาพซ้อนได้
มักจะเกิดจากการทำงานที่ต้องใช้สายตามากขึ้นในสภาพแสงสว่างที่ไม่เพียงพอ รวมถึงแสงสีฟ้าจากจอเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายตา และต้องใช้สายตาในการเพ่งมากขึ้น
และอาการปวดเมื่อยนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณดวงตาเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงใบหน้า กราม และขมับ เมื่อกล้ามเนื้อมีการเกร็งตัวมากเกินไปจากความตึงเครียด จึงทำให้มีอาการลุกลาม โดยอาการเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายเกิดความอ่อนล้า อ่อนเพลีย และประสิทธิภาพการทำงานลดลงจนกระทบต่อการทำงานได้อีกด้วย
แม้อาการตาล้าจะเป็นเพียงอาการชั่วคราวไม่ได้อยู่ถาวร และมักจะหายเองได้เมื่อคุณได้พักสายตา แต่หากปล่อยให้มีอาการตาล้าบ่อย ๆ อาการก็อาจรุนแรงกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้
สาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการ CVS Computer Vision Syndrome นั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้
1. ปัจจัยจากดวงตา
จากข้อมูลพบว่าการทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็นการใช้สายตาระยะใกล้ถึงระยะกลาง โดยธรรมชาติจะต้องเพ่งกล้ามเนื้อตาเพื่อให้มองภาพคมชัด ส่งผลให้กะพริบตาลดลง ทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตาและตาแห้งได้ง่าย ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่ดูแล ก็จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตา ทำให้แสบตาได้
ตรงกับงานวิจัยงานหนึ่งที่พบว่า การใช้สายตากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสี่ยงทำให้ตาแห้ง และระคายเคือง เนื่องจากขณะจ้องหน้าจอ หรืออ่านหนังสือบนจอดิจิทัล คนเราจะกะพริบตาน้อยกว่าปกติราว 50-90% เลยครับ บางคนอาจเคยกะพริบตาประมาณ 17 ครั้งต่อนาที แต่ว่าเวลาจ้องหน้าจออาจกะพริบแค่ 6 ครั้งหรือน้อยกว่านั้น
ซึ่งการกะพริบตาจำเป็นต่อดวงตาอย่างมาก เพราะจะช่วยให้น้ำตาไหลออกมาหล่อเลี้ยงดวงตา ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและไม่ระคายเคือง นอกจากนี้ การใส่คอนแทกเลนส์ ก็ยังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ตาแห้งได้ง่ายขึ้น และถ้าเราปล่อยให้มีอาการตาแห้งมาก ๆ อาจส่งผลให้กระจกตาถลอกหรือเป็นแผล เวลาที่เราขยี้ตา ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ และส่งผลต่อการมองเห็นในที่สุด
2. สิ่งแวดล้อมในห้องทำงาน
เช่น แสงสว่างในห้องไม่เหมาะสม ระยะห่างจากจอไม่เหมาะสม มีแสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ สัญญาณจากหน้าจอที่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ภาพไม่คมชัด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ตาต้องเพ่งมากขึ้น เกิดอาการเมื่อยล้า ปวดตา หรือตาพร่ามัวได้
นอกจากนี้ การอยู่ในห้องแอร์ปรับอากาศ ซึ่งมีความชื้นในอากาศน้อย ก็ส่งผลให้ตาแห้งมากขึ้นได้
3. โต๊ะและเก้าอี้ หรือ Workstation ที่ไม่ได้ระดับเหมาะสม
ย่อมส่งผลต่อท่าทางการนั่ง รวมถึง ระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ต้องก้มหรือเงยมากเกินไป จึงเกิดอาการปวดเมื่อยหลัง หัวไหล่ และต้นคอได้ง่าย
การป้องกันอาการ CVS สามารถทำได้ง่ายมาก ๆ นั่นคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด
1. ปรับแสงของจอให้พอเหมาะไม่จ้าหรือมืดเกินไป
สำหรับคอมพิวเตอร์ ให้เปิดการทำงานฟีเจอร์ Night Light บน Windows หรือ Night Shift สำหรับเครื่อง Mac ในส่วนแท็บเล็ตและสมาร์ตโฟน อาจเปิดใช้ฟีเจอร์ช่วยลดแสงสีฟ้าอย่าง Blue Light Filter ส่วนสำหรับอุปกรณ์ที่ไม่มีฟีเจอร์ช่วยตัดแสงสีฟ้าจากหน้าจอก็สามารถเลือกดาวน์โหลดแอปพลิเคชันช่วยปรับลดแสงแทนได้ นอกจากนี้ ควรปรับขนาดและปรับสีของตัวอักษรให้สะดวกต่อการใช้งาน และมองเห็นได้คมชัด
รวมทั้งใส่แว่นกรองแสงเพื่อช่วยลดแสงจ้าและแสงสะท้อน จนสามารถมองภาพได้อย่างสบายตา ช่วยลดอาการตาล้าได้
2. ปรับสถานที่และโต๊ะที่นั่งทำงานคอมพิวเตอร์
•ระยะห่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์กับดวงตา ควรมีระยะประมาณ 20 - 28 นิ้ว หรือสักหนึ่งช่วงแขน
•ปรับระดับหน้าจอให้ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 5 - 6 นิ้ว เพื่อให้เวลาเราทำงาน ศีรษะเราจะได้ตั้งตรง สายตาอยู่ในท่ามองลงต่ำเล็กน้อย จะเป็นการลดการเปิดกว้างของตา ช่วยลดอาการตาแห้ง ปวดคอ ปวดไหล่ จากการก้มหรือเงยที่มากเกินไป
•ในส่วนของตัวเก้าอี้ ก็ควรมีพนักพิงที่เหมาะสม สามารถนั่งพิงในระดับหลังตรง โดยที่พิงหลังสามารถพยุงกล้ามเนื้อหลังและไหล่เราได้ครับ
•เอกสารสิ่งพิมพ์หรือหนังสือควรวางอยู่ในระดับและระยะเดียวกับจอ เพื่อไม่ต้องขยับหรือหันศีรษะ และเปลี่ยนการปรับโฟกัสมากเกินไป
3. ปรับแสงสว่างในห้องทำงาน
•ควรลดแสงสว่างจากหลอดไฟที่เพดาน หรือโคมไฟที่โต๊ะทำงาน รวมทั้ง ปิดม่านหรือหน้าต่างเพื่อลดแสงสว่างจากภายนอกนะครับ เนื่องจากแสงจ้าเหล่านี้ จะทำให้เกิดแสงสะท้อนที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้เรามองภาพได้ไม่คมชัด ต้องเพ่งสายตามากขึ้น
•ควรติดโคมไฟที่โต๊ะทำงาน เพื่อช่วยให้มองเอกสารได้สบายตามากขึ้น โดยให้ระดับความสว่างอยู่ระดับในเดียวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์
4. การพักสายตาระหว่างการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
•ปฏิบัติตามกฎ 20-20-20 คือ ควรมีการพักสายตาหลังจากนั่งทำงานไป 20 นาที โดยพัก 20 วินาที อาจใช้วิธีหลับตา หรือมองโฟกัสสิ่งของหรือกำแพงในระยะไกลที่ 20 ฟุต จะเป็นการช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา
•หลังจากนั่งทำงานต่อเนื่องกัน 2 ชั่วโมง ควรหยุดพัก 15 นาที โดยลุกขึ้นเดินไปมา หรือไปทำงานอื่นที่ไม่ได้โฟกัสหน้าจอ เพื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อย และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย
5. การหยอดน้ำตาเทียม
ควรหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ เพื่อช่วยลดอาการตาแห้ง แสบเคืองตาจากการกะพริบตาลดลง เนื่องจากจ้องมองคอมพิวเตอร์ และช่วยให้สบายตามากขึ้น
6. ใช้แว่นสายตาที่เหมาะสม
สำหรับคนที่มีปัญหาทางสายตา ควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวัดสายตาและดูความเหมาะสมของแว่นที่ใส่อยู่กับค่าสายตา เพราะการสวมแว่นสายตาที่ผิดไปจากค่าสายตาจริง ทำให้การโฟกัสภาพได้ยาก ภาพไม่คมชัด เกิดอาการปวดกระบอกตาและปวดศีรษะได้
สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี การเลือกใช้แว่นตาและเลนส์ที่ได้รับการเคลือบสารเคมี หรือ Multicoat จะช่วยถนอมสายตาได้มากขึ้น และที่สำคัญควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาหรือสายตาเรา และควรรับการตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์เป็นประจำ
โรคยอดฮิตของคนติดจอ | DigiHealth EP.9 | 27 ส.ค. 65
“แสงสีฟ้า” แสงจากเครื่องมือไอทีภัยใกล้ตัวทำลายสายตามนุษย์ยุคดิจิทัล