จากกรณีที่ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 28 ปี เล่าเรื่องราวของการเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สู้ดิวะ ซึ่งสร้างความสนใจให้กับประชาชนจำนวนมาก
ล่าสุด นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กล่าวว่า แม้ว่าคุณหมอรายนี้มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เป็นมะเร็งปอด เพราะทางการแพทย์อาจจะยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เรายังไม่รู้
"มะเร็งปอด" ไม่มีสัญญานเตือนในระยะเริ่มแรก
หมอหนุ่มโพสต์เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เผยดูแลตัวเองอย่างดี ไม่มีประวัติสูบบุหรี่
เท่าที่ทราบ หมอรายนี้ มีความเป็นไปได้ที่อาจจะอยู่ในมลภาวะเสี่ยง เพราะมีข้อมูลอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เราพบการเผาไหม้ทุกปี มีฝุ่น pm 2.5 แสดงว่า พื้นที่นี้มีมลภาวะ ย่อมมีโอกาสมีสารก่อมะเร็งสูง อย่างไรก็ตาม เราก็ได้แต่คาดการณ์ว่าอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของหมอรายนี้
นพ.สกานต์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบัน เราพบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ 17,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 50 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิต 14,000 รายต่อปีหรือเฉลี่ย 40 รายต่อวัน และเป็นมะเร็งอันดับ 2 ที่พบในเพศชาย และเป็นอันดับ 4 ที่พบในเพศหญิง
เราพบว่า ผู้ที่มีอายุน้อย มักตรวจพบมะเร็งที่อยู่ในระยะรุนแรงแล้ว เนื่องจากผู้ที่มีอายุน้อยมีต้นทุนทางร่างกายที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญ
นพ.สถานต์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรคมะเร็ง การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น การบริหารอารมณ์ การพักผ่อน รวมถึงการกินอาหารให้ครบทุกหมู่ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จำเป็น และที่สำคัญต้องอย่าซ้ำเติมเรื่องมลภาวะ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อภูมิคุ้มกันของเรา
ถ้ารอจนมีอาการแล้วค่อยไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่จะสายเกินไป โดยปกติเราจะพบว่าเป็นมะเร็งเมื่อตรวจร่างกาย ส่วนอาการที่พบบ่อยคือไอเรื้อรัง ไอต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ไม่หาย หากมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ร่วมด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากขึ้น และไปพบแพทย์ทันที