ทนายตั้ม โชว์บัญชีโต้รับเงินผ่านมูลนิธิ10ล้าน
"ลุงพล" ยืนยันไม่ได้มีปัญหา "ทนายตั้ม"
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564 พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนคดีรถยนต์หรูเลี่ยงภาษีนำเข้า ที่ค้างเป็นคดีพิเศษ ทั้งหมด 1,428 คัน ของ พ.ศ.2555-2557 ปี ว่าตอนนี้ได้มีการประเมิน และทำบัญชีอากรขาดของรถยนต์หรูทั้งหมด พบเป็นยอดเงินทั้งสิ้น 2,559 ล้านบาท
ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษชุดใหม่ได้มีการตั้งคณะสืบสวนสอบสวน แต่งตั้งขึ้นมาดูแลรถหรู 854 คัน 17 ยี่ห้อ ที่ได้รับการประเมินภาษีอากรขาดที่ผู้นำเข้าจากประเทศอังกฤษ 114 บริษัท
โดยกำหนดรูปแบบแบ่งเป็น 10 ทีม เริ่มดำเนินคดีให้เป็นรูปธรรมภายในช่วงระยะเวลา 4 เดือน คาดว่าจะมีความคืบหน้าหลังจากตรวจสอบจากกรมขนส่งทางบก ในเรื่องการแจ้งดำเนินคดีตามกฎหมายของกรมศุลกากร กับ 114 บริษัท ก่อนจะส่งฟ้องอัยการ เพื่อที่จะได้ภาษีกรมศุลกากร, สรรพมิตร, มหาดไทย, ภาษีมูลค่าเพิ่มที่หายไป กลับคืนเข้ารัฐ ส่วนรถยนต์ที่เหลืออีก 574 คัน พันตำรวจโท พเยาว์ บอกว่าจะมีการดำเนินการสอบสวนคู่ขนานกันไป
“ใน 114 บริษัท ก็จะมีการนำเข้าจำนวนคันที่แตกต่างกันไปนะครับ รวมทั้งหมด 854 คัน เราก็จะยึดผู้นำเข้าเป็นหลักนะครับ โดยเราก็จะแบ่งกลุ่ม หนึ่งกลุ่มก็อาจจะมีบริษัทสัก 12 บริษัท นำเข้ารถมา 83 คัน แล้วก็ให้มีท่านผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ 1 กลุ่ม มารับผิดชอบสอบสวน ใน 12-13 บริษัทนี้ไปเลย อีกกลุ่มนึงก็จะเป็นประมาณนี้ครับ ประมาณ 12-13 บริษัท และก็นำเข้ารถยนต์รวมประมาณ 83 คัน เหมือนกันนะครับ ก็มารับสอบสวนไป เป็นสิบกลุ่ม สิบทีม เพื่อจะได้แบ่งงานกันทำ” พ.ต.ท.พเยาว์ กล่าว
สำหรับหรูเลี่ยงภาษี ที่สร้างความเสียหายด้านภาษีให้กับภาครัฐนั้น ดีเอสไอรับผิดชอบอยู่ 2 ส่วน ประเภทแรกคือ รถจดประกอบ ที่เป็นการสำแดงนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากต่างประเทศเพื่อนำมาประกอบขึ้นใหม่ในประเทศ มีกลุ่มนายทุน ได้ใช้ช่องว่างกฎหมาย นำเข้ารถหรูรวมไปถึงซูเปอร์คาร์ แต่ใช้วิธีการถอดล้อ หรือผ่าครึ่งคัน แยกเครื่องออก แล้วสำแดงเป็นอะไหล่รถยนต์ นำเข้ามาประกอบเป็นคันแล้วนำมาจำหน่าย ต่อมามีการแก้ไขกฎหมาย และห้ามจดทะเบียนประเภทรถจดประกอบอีกต่อไป
ประเภทที่สอง คือ การนำเข้ารถหรูทั้งคันในกลุ่มเกรย์มาเก็ต แต่มีการสำแดงเท็จ ตั้งแต่ใบนำเข้าแบบ 32 รวมทั้งปลอมแหล่งกำเนิดที่มาเพื่อลดภาษี ซึ่งรถหรูทั้ง 2 ประเภทจะเล็ดลอดเข้ามาไม่ได้ หากไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยรถเลี่ยงภาษีทั้ง 2 ประเภท ถือว่าสร้างความเสียหายด้านการจัดเก็บรายได้ด้านภาษี ให้กับภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง