วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทำให้มีพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวต่างชาติอาศัยช่วงวันหยุดยาวนี้เดินทางไปเข้าวัดทำบุญกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตรดอกไม้ ถวายผ้าอาบน้ำฝน เวียนเทียนในยามราตรี หรือร่วมแห่เทียนพรรษา อันเป็นประเพณีปฏิบัติอันทรงคุณค่าของชาวไทยมาช้านาน
นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้คัดสรร 36 สุดยอดภาพถ่ายจากช่างภาพของ PPTVHD36 ที่สะท้อนพลังอันศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยและต่างชาติในเมืองไทย มาให้ทุกคนได้ชมความสวยงามนี้ไปพร้อมๆ กัน
เทศบาลนครนนทบุรี จัดประกวดรถแห่เทียนพรรษา
มาเริ่มกันที่แรกกับ เทศบาลนครนนทบุรี ปีนี้ได้จัดกิจกรรมแห่เทียนพรรษา โดยมีชาวบ้านเข้ามาร่วมจัดริ้วขบวนให้พุทธศาสนิกชนได้ชมกันทั้งหมด 27 คัน
โดยขบวนรถแห่จะตกแต่งด้วยเทียนพรรษาและดอกไม้นานาพันธุ์ พร้อมนำเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนมาตกแต่งบนรถแห่เทียนพรรษาอย่างสวยงาม
ริ้วขบวนจะแห่รอบพื้นที่เมืองนนทบุรี เริ่มจากท่าน้ำนนท์ จนถึง เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ซึ่งตลอดสองข้างทางมีประชาชนถ่ายรูปรถขบวนแห่เทียนเป็นจำนวนมาก
พุทธศาสนิกชนเวียนเทียน วัดเบญจมบพิตรฯ
แห่งที่สองที่ช่างภาพพีพีทีวีได้เดินทางไป คือ วัดเบญจมบพิตรดุสิต วนารามราชวรวิหาร ที่แห่งนี้ได้จัดกิจกรรมเวียนเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2566 เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือเทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี หลังทรงตรัสรู้ได้ 2 เดือน
โดยผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เป็นเหตุให้ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกของพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
รวมที่จัดงานบุญ 2566 วันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา เช็กเส้นทางไหว้พระ แห่เทียนพรรษาใกล้บ้าน
วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา 2566 ตรงกับวันที่เท่าไร ถือเป็นวันหยุดไหม ทำไมบางบริษัทไม่ได้หยุด
ไขข้อสงสัย!? "วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา" ต้องเวียนเทียนไหม
ชมความงดงาม “แห่เทียนทางน้ำ” เอกลักษณ์เฉพาะชุมชนคลองลาดชะโด
ต่อมาที่เราจะพาไปชมกัน คือ ที่คลองลาดชะโด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานที่แห่งนี้จะมีการจัดกิจรรมแห่เทียนพรรษาทางน้ำในทุกๆ ปี ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 22 โดยจะเริ่มในวันอาสาฬหบูชาก่อนเข้าพรรษา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2566
ในวันดังกล่าว มีชาวบ้านมาเดินทางมาร่วมชมริ้วขบวนแห่เทียนพรรษาจำนวนมาก โดยครั้งนี้มีขบวนเรือเข้าร่วม 137 ลำ แต่ละลำต่างตกแต่งด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ที่มีทั้งความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ อย่างขบวนแห่เทียน “โรงพักลาดชะโด”, ขบวนแห่เทียนลวดลายเสือ หรือขบวนเทียนที่ตกแต่งข้าวของเครื่องใช้ของชาวบ้านในอดีตด้วย
ขบวนเรือแห่เทียนพรรษาครั้งนี้ ได้ล่องไปตามคลองลาดชะโด และประชาชนจะนำเทียนไปถวายวัด เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีของประเทศไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนคลองลาดชะโด
อวดโฉมเทียนพรรษา เตรียมแห่รอบเมืองสุพรรณบุรี
ถัดมาไกลอีกหน่อย ในพื้นที่สุพรรณบุรี ช่างภาพพีพีทีวีได้เดินทางไปยัง วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อถ่ายภาพความงดงามของของวัฒนธรรมประเพณีไทยอันประณีต คือ การแกะสลักเทียนพรรษา ที่จะเริ่มจัดขึ้นริ้วแห่เทียนพรรษากันในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 มาให้ทุกคนได้ชมกัน
โดยในปีนี้ จังหวัดสุพรรณบุรีได้จัดประกวดเทียนพรรษาจาก 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ด่านช้าง , อ.ศรีประจันทร์ ,อ.หนองหญ้าไซ อ.อู่ทอง ,อ.สองพี่น้อง และ อ.เมืองสุพรรณบุรี ครั้งนี้แต่ละอำเภอได้ร่วมกันแกะสลักเทียนพรรษาพร้อมกับจัดรถแห่ด้วยดอกไม้นานาพันธุ์และสิ่งประดิษฐ์มากล้ำด้วยความคิดสร้างสรรค์ เรียกว่าต่างประชันความงดงามกันอย่างไม่มีใครยอมใคร
ตักบาตรดอกพรรษา ปชช.ร่วมสืบสานวัฒนธรรมแห่งเมืองสระบุรีหนาแน่น
สำหรับสถานที่สุดท้ายที่ช่างภาพพีพีทีวีของเราได้ไป คือ “วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี” ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีประเพณีรับวันเข้าพรรษาที่โดดเด่น เพราะเป็นหนึ่งเดียวในประเทศที่มีการตักบาตรดอกไม้ด้วย “ดอกพรรษา” ซึ่งออกดอกชู่ช่อในช่วงฤดูฝนเท่านั้นและเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกันที่ชาวพุทธในสมัยอดีตนิยมนำไปบูชาพระกันในช่วงเข้าพรรษา
กิจกรรมในปีนี้ ยังคงมีพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมพิธีกรรมกันอย่างคึกคัก โดยในช่วงเช้าที่ผ่านมา พระสงฆ์ได้มารับบิณฑบาตรดอกไม้จากพุทธศาสนิกชน ก่อนที่จะนำดอกพรรษาจากพุทธศาสนิกชนมาสักการะพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสักการบูชาพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วเข้าพระอุโบสถ
อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางที่พระสงฆ์กำลังจะขึ้นพระอุโบสถนั้น พุทธศาสนิกชนได้ล้างเท้าให้กับพระสงฆ์ อันเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอีกอย่างประจำวัดแห่งนี้ด้วย
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้เดินทางเข้าไปกราบรอยพระพุทธบาท เพราะเชื่อว่ารอยพระพุทธบาทนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเป็นเวลาหลายร้อยปี