เข้าสู่ฤดูร้อนเป็นสัญญาณของการเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษของเหล่าคนไทยเชื้อสายจีนกันแล้ว เพราะหากนับตามปฏิทินจีน “วันเช็งเม้ง” จะตรงกับช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นฤดูร้อนของไทยนั่นเอง
โดย “วันเช็งเม้ง” หรือ “ชิงหมิง” (Qingming) ถือเป็นประเพณีสำคัญของลูกหลานแดนมังกร ที่จะเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และทำพิธีเซ่นไหว้ ปัดกวาดหลุมศพของบรรพบุรุษให้สะอาด
สำหรับวันเช็งเม้งในประเทศจีนนั้น จะเริ่มต้นช่วงวันที่ 4 - 5 เมษายนของทุกปี ไปจนถึงวันที่ 19 - 20 เมษายน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ที่อากาศจะเริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอยๆ มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง
ขณะที่ประเทศไทยเทศนั้น “วันเช็งเม้ง” จะถูกกำหนดให้ตรงกับ วันที่ 5 เมษายนของทุกปี แต่ด้วยสภาพจราจรที่ติดตัด สุสานต่างๆ จึงขยายช่วงเวลาเช็งเม้งให้ยาวขึ้นอีก 3 สัปดาห์ คือจะเริ่มเดินทางกันได้ตั้งแต่ 15 มีนาคม - 8 เมษายนของทุกปี ส่วนในภาคใต้บางพื้นที่จะจัดวันไหว้เร็วกว่าที่อื่น 1 วัน ประมาณวันที่ 4 เมษายนของทุกปี
ประเพณีปฏิบัติวันเช็งเม้ง
ทำความสะอาดฮวงซุ้ย
ในวันเช็งเม้งนี้ หลายบ้านมักจะนัดมารวมตัวกัน เพื่อจะได้ไหว้บรรพบุรุษไปพร้อมกัน อีกทั้งยังช่วยทำความสะอาดฮวงซุ้ยของบรรพบุรุษได้ โดยอาจลงสีที่ป้ายชื่อให้ดูใหม่ โดยคนตายแล้วลงสีเขียว/สีทองขลิบเขียว ขณะที่ป้ายชื่อคนเป็นให้ลงสีแดง แต่ทั้งนี้ ห้ามถอนหญ้า เพราะอาจกระทบตำแหน่งห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ เป็นต้น
สำหรับการตกแต่งสุสานนั้น อาจใช้กระดาษม้วนสายรุ้ง โดยสุสานคนเป็น ให้ใช้สายรุ้งสีแดง ส่วนสุสานคนตาย สามารถใช้สายรุ้งสีอะไรก็ได้ แต่ห้ามห้ามปักธงลงบนหลังเต่า เพราะถือว่า เป็นการทิ่มแทงหลุม และบางความเชื่อ ถือว่าเป็นการทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่ว
ไหว้เจ้าที่
การกราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแลสถานที่และสุสาน โดยสามารถจัดวางของไหว้ ได้ดังนี้
- เทียน 1 คู่
- ธูป 5 ดอก (ปักลงบนฟักได้ )
- ชา 5 ถ้วย
- เหล้า 5 ถ้วย
- ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ควรงดเนื้อหมูเพราะเคยมีปรากฎว่าเจ้าที่เป็นอิสลาม)
- กระดาษเงิน กระดาษทอง
ไหว้บรรพบุรุษ
การไหว้บรรพบุรุษ เพื่อระลึกถึงและขอบคุณท่าน สามารถจัดวางของไหว้ ได้ดังนี้
- เทียน 1 คู่
- ธูป ตามจำนวนบรรพบุรุษ ท่านละ 1 ดอก
- ชา 3 ถ้วย
- เหล้า 3 ถ้วย
- ของไหว้ต่างๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ของไหว้ตามความเชื่อประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นขนมถ้วยฟู)
- กระดาษเงิน กระดาษทอง, ชุดกระดาษไหว้บรรพบุรุษ ฯลฯ
หมายเหตุ
ห้ามวางของตรงแท่นหน้า “เจี๊ยะปี” (ป้ายหิน ที่จารึกชื่อ บรรพบุรุษ) เพราะเป็นที่เข้าออกของวิญญาณบรรพบุรุษ ไม่ใช่เก้าอี้นั่งอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด
ของไหว้วันเช็งเม้ง
ของไหว้ที่นิยมใช้ประกอบพิธีไหว้วันเช็งเม้ง มีดังต่อไปนี้
- ไก่ต้ม 1 ตัว
- หมูสามชั้น ต้ม 1 ชิ้น (โดยประมาณขนาด 1/2 กิโลกรัมขึ้นไป)
- เส้นบะหมี่สด
- ขนม 3 อย่าง คือ เต่เหลี่ยว ข้าวเหนียวกวน ขนมเต่า (ขนมกู้)
- ขนมถ้วยฟู (ฮวดโก้ย)
- สับปะรด 2 ลูก (ใช้ทั้งก้านและหัวจุก)
- น้ำชา
- ธูป
- เทียน
- กระดาษเงิน/กระดาษทอง
การทำพิธีไหว้วันเช็งเม้ง
ให้ผู้อาวุโสเป็นผู้นำกราบไหว้และเมื่อเทียนใกล้หมดก้านก็ให้ลูกหลานตีวงล้อมด้วยหวาย เผา กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ เป็นการกำหนดขอบเขตว่าสิ่งเหล่านี้ลูกหลานส่งให้บรรพบุรุษของครอบครัวนั้นๆ เป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันการแย่งชิง (ผู้ตีวงล้อม ต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น)
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว บางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงทานอาหารกันต่อเพื่อแสดงความสมานสามัคคีแก่บรรพบุรุษ
ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย, สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน และ ครูบ้านนอก
ไหว้เช็งเม้งก่อน-หลัง ไม่ตรงวันตามธรรมเนียมประเพณีได้ไหม?
"เช็งเม้ง" ทำอย่างไรเมื่อลูกหลานไม่อยากไป-ไม่อยากสืบทอดประเพณีแบบเดิม
“การเลือกทำเลฮวงซุ้ย” บ้านหลังสุดท้ายคนของคนตาย สู่ความเจริญแก่ลูกหลาน