เมื่อถึงหน้าร้อน ร่างกายคนเราต้องเจอกับอะไรบ้าง และควรรับมืออย่างไร?

โดย PPTV Online

เผยแพร่

พอถึงช่วงหน้าร้อนทีไร หากพูดถึงแสงแดด หลายคนต้องส่ายหน้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะแสงแดดที่แสนร้อนแรงระอุ เพราะปกติประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ร้อนอยู่แล้ว ยิ่งหากเป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งอุณหภูมิอาจสูงถึง 37-38 องศาเซลเซียส นี่บอกเลยเหมือนกับอยู่ในทะเลทราย!! ร้อนจริงร้อนจัง ร้อนจนอยากจะหอบหิ้วเสื้อผ้าหนีไปอยู่ต่างประเทศซะเลย แหมถ้าบ้านเรานี่มีหิมะตกบ้างก็คงจะดี.... ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่านอกจากแสงแดดที่ร้อนแรงแล้ว ร่างกายคนเราต้องเจอกับอะไรอีกบ้าง?

 

ในหน้าร้อน แสงแดดที่ร้อนแรงนั้น อาจจะทำเรารู้สึกหงุดหงิดได้ และยังส่งผลต่อร่างกายได้ด้วยอีก นั่นคืออาจทำให้ร่างกายของเราเกิดการระคายเคือง ผิวไหม้จากแสงแดด หรือเกิดโรคผิวหนังชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดกลิ่นกายขึ้นได้ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่เฉพาะสาวๆที่อาจหงุดหงิด หนุ่มๆก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องตากแดดเป็นเวลานาน เฮ้อ...แค่คิดก็รู้สึกกลัวขึ้นมาทันที

 

ผศ.พญ.เพ็ญวดี พัฒนปรีชากุล ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยกับทีมนิวมีเดีย PPTV ว่าพออากาศร้อนขึ้น อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายจะพยายามที่จะปรับอุณหภูมิของร่างกายให้ลดลง โดยการหลั่งเหงื่ออกมาเพื่อระบายความร้อน เหมือนกับเวลาเป็นไข้ “เหงื่อ” จึงเป็นสาเหตุหนึ่งและยังเป็นสาเหตุใหญ่ที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังตามมา ทำให้ก่อปัญหาในคนที่เหงื่อออกมากหรือคนที่เจ้าเนื้อ

 

ผศ.พญ.เพ็ญวดี กล่าวว่าอีกส่วนหนึ่งคือแสงแดดเองก็มีผลต่อผิวหนังโดยตรง แดดที่จัดมากๆ จะมีผลทำให้เกิดผิวไหม้ตามร่างกายหรืออาจเกิดผิวคล้ำได้ ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหากับคุณผู้หญิงเพราะจะเกิดรอยดำขึ้นทั้งที่บริเวณใบหน้าและผิวหนังส่วนอื่นๆของร่างกายที่ได้รับการสัมผัสแสงแดดโดยตรง

 

เมื่อถึงฤดูร้อน ร่างกายต้องเจอกับอะไรบ้าง คุณหมอบอกว่าแบ่งกลุ่มโรคผิวหนังได้เป็น 6 กลุ่ม คือ

1. ผดร้อน ปัญหานี้จะเจอได้บ่อยในเด็กเล็กๆเช่น กลุ่มเด็กอนุบาล ซึ่งในผู้ใหญ่ก็สามารถที่จะมีผดร้อนขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนที่เจ้าเนื้อ หรือคนที่ต้องใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมากๆ เพราะเหงื่อจะระบายได้ไม่ดี จะเกิดการอุดตันของการหลั่งเหงื่อ และทำให้เกิดผดร้อนขึ้น ซึ่งผื่นอาจเกิดขึ้นบริเวณหน้าอก คอ และหลังได้ โดยจะเกิดเป็นผดแดงๆ หรือเป็นเม็ดตุ่มน้ำใสๆ

2. โรคเชื้อราที่ผิวหนัง ตำแหน่งที่มักเกิดโรคเชื้อราที่ผิวหนังจะเป็นบริเวณในร่มผ้า ข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ หรือบริเวณง่ามนิ้วเท้าที่มีการอับชื้น และสำหรับในเด็กเล็กๆอาจเกิดผื่นบริเวณซอกคอและร่องก้น ซึ่งปริมาณของผู้ป่วยที่เป็นผื่นผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราในร่มผ้าจะเพิ่มมากขึ้นด้วยในช่วงหน้าร้อน โดยเชื้อราที่เจอได้บ่อยๆ คือ กลาก เกลื้อน และเชื้อราแคนดิดา ซึ่งพบได้บ่อย

- เกลื้อน จะเกิดตรงตำแหน่งที่ร่างกายมีความมันซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก โดยจะเด่นตรงบริเวณหน้าอก หลัง หรือคอ ซึ่งจะเกิดโรคเกลื้อนได้มากขึ้นในผู้ที่ออกกำลังกายมากโดยเฉพาะนักกีฬากลางแจ้งหรือในกลุ่มคนที่ต้องแต่งชุดที่ค่อนข้างรัดแน่น เช่นชุดเครื่องแบบ หรือผู้ที่ต้องทำงานกลางแดดเยอะ โดยผื่นของโรคเกลื้อนจะมีลักษณะราบเป็นดวงสีขาวหรือสีน้ำตาล รูปร่างกลมหรือรี ขนาดตั้งแต่ 2-3 มม.ถึง มากกว่า 10 ซม.ได้ มักจะไม่มีอาการคัน และผื่นจะค่อยๆลามขึ้นในระยะเวลาเป็นเดือน ก่อให้เกิดความไม่สวยงามและรำคาญใจแก่ผู้ที่เป็น

 

โรคเกลื้อน จะมีลักษณะผื่นดวงสีขาว มีขุยบางๆ และขอบแดงเล็กน้อย

 

- กลาก ที่สัมพันธ์กับเหงื่อและความอับชื้นคือกลากในร่มผ้า เช่น บริเวณขาหนีบ และง่ามนิ้วเท้า ในคนที่ต้องใส่รองเท้าที่อับๆ โดยโรคกลากบริเวณขาหนีบหรือในร่มผ้าจะมีลักษณะเป็นผื่นกลมสีนำตาลหรือแดง มีขุยแห้งๆและขอบเขตชัดโดยตรงกลางของผื่นอาจเป็นลักษณะผิวหนังที่ดูปกติได้ ส่วนกลากบริเวณฝ่าเท้าหรือง่ามนิ้วเท้านั้นอาจเกิดเป็นตุ่มน้ำใส คัน ฝ่าเท้าลอกหรือมีผื่นแฉะสีขาวที่บริเวณง่ามนิ้วเท้าได้

 

โรคกลากที่ง่ามนิ้วเท้า

 

- แคนดิดา จะเกิดตามซอกพับและบริเวณอับชื้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นได้แก่ โรคเบาหวาน ความอ้วน เหงื่อออกมาก การได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ การได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือชนิดทา หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่องอยู่เดิม  โดยผื่นจะเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนองอาจรวมกันเป็นปื้นใหญ่ แฉะและมีแผลถลอกได้ และจะมีผื่นเล็กๆ กระจายออกด้านข้างดังรูปด้านล่าง

 

รูปผื่นจากเชื้อราแคนดิดาบริเวณรักแร้

 

3. โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง โดยปกติแล้วที่ผิวหนังของเราจะมีแบคทีเรียอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นแบคทีเรียประจำถิ่นที่มีอยู่ตามผิวหนังของคนเราโดยไม่ก่อโรค แต่เมื่อมีเหงื่อออกมากขึ้นก็จะเพิ่มความอับชื้น ทำให้แบคทีเรียเหล่านี้จะมีการเพิ่มจำนวนขึ้นและอาจก่อโรคได้ โดยอาจเกิดผื่นตามซอกพับ ขาหนีบ รักแร้ได้เหมือนกัน ส่วนกลุ่มคนที่ต้องใส่เสื้อผ้าที่รัดๆ หรือเสื้อผ้าที่อับ อาจส่งผลให้รูขุมขนอักเสบหรือเป็นฝีที่ผิวหนังตามมาได้โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบหรือก้น โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งเสื้อผ้าที่รัด อากาศที่ถ่ายเทไม่สะดวก และเรื่องของเหงื่อที่เพิ่มขึ้น

 

ผื่นรูขุมขนอักเสบ

 

4. กลิ่นตัว สร้างความรำคาญใจ แม้ไม่ได้เกิดเป็นภาวะของผื่นผิวหนังชัดเจน ซึ่งพอหน้าหนาว เหงื่อไม่ค่อยออก อากาศไม่ค่อยร้อน ก็จะไม่ค่อยมีกลิ่นตัว แต่พอเข้าสู่หน้าร้อน พอเหงื่อออกเยอะๆ ก็จะเริ่มมีกลิ่นตัว ซึ่งจะเป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น อันนี้ก็ต้องระวัง

 

มารู้จักกับกลิ่นตัว และวิธีการขจัด!

คุณหมอ บอกว่าสำหรับกลิ่นตัวคนเราจริงๆแล้วเกิดจากการที่แบคทีเรียที่ผิวหนังไปทำปฏิกิริยาหรือเปลี่ยนแปลงสารบางอย่างในเหงื่อของคนเราให้เกิดกลิ่นขึ้นมา เพราะฉะนั้นเมื่อแบคทีเรียมีการเพิ่มจำนวนขึ้นในบริเวณที่อับชื้นจากการมีเหงื่อออกมากขึ้น ทำให้กลิ่นตัวเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน

คุณหมอ ยังบอกอีกว่าสำหรับอาหารบางชนิดอาจทำกระตุ้นให้เกิดกลิ่นตัว เช่น พวกเครื่องเทศ กระเทียม หรือชีสบางอย่าง หากรับประทานมากก็จะทำให้มีกลิ่นตัวได้ เพราะฉะนั้นถ้าใครมีปัญหาเหล่านี้ในช่วงหน้าร้อนหรือช่วงที่เหงื่อออกมาก ก็ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มนี้หรือรับประทานให้น้อยลง ก็จะเป็นการช่วยลดกลิ่นตัวอย่างหนึ่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ช่วยในการลดเหงื่อ ไม่ว่าจะเป็นสเปรย์ โรลออน ที่มีสารในกลุ่มอลูมิเนียมคลอไรด์ ก็จะช่วยลดการหลั่งเหงื่อลงก็จะช่วยให้กลิ่นตัวลดลง

 

5. โรคผิวหนังอักเสบชนิดต่างๆ ในกลุ่มคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis)อยู่เดิม  พอเข้าสู่หน้าร้อน เหงื่อและความร้อนอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังมากขึ้น และทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบกำเริบได้ หรือผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดตามซอกพับจากการเสียดสีกันของผิวหนังบริเวณนั้นโดยมักเกิดในเด็กเล็กๆและผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวมาก อีกโรคที่ต้องระมัดระวังและต้องหลีกเลี่ยงแสงแดดคือโรคภูมิแพ้ตัวเองหรือโรคเอสแอลอี (SLE) เนื่องจากแสงแดดจะกระตุ้นให้มีการกำเริบของผื่นแพ้แสงรวมทั้งอาการของระบบอื่นๆของโรค SLE ขึ้น เพราะฉะนั้นหากใครรู้ตัวว่าเป็นโรค SLE อยู่แล้ว ไม่ควรที่จะไปตากแดด นอกจากนี้แสงแดดจัดๆสามารถทำให้เกิดผิวไหม้ (Sunburn) จึงต้องพึงระวังในผู้ที่จะไปเที่ยวทะเลหรือไปเล่นสงกรานต์หรือผู้ที่ตากแดดจัดๆโดยที่ไม่มีการป้องกัน

6. ฝ้า กระแดด เป็นเรื่องของความสวยความงามของคุณผู้หญิงทั้งหลาย แสงยูวีจะกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานมากขึ้นและเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดฝ้าและกระแดด และทำให้ผิวคล้ำขึ้น เพราะฉะนั้นใครที่เป็นฝ้าหรือกระแดดอยู่แล้วก็จะเป็นมากขึ้น หรือใครที่ยังไม่เคยเป็นก็มีโอกาสจะเป็นได้ หากมีการสัมผัสแสงแดดบ่อยๆโดยไม่มีการป้องกัน

 

สำหรับวิธีการปฏิบัติตัวในหน้าร้อนนั้น คุณหมอแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการตากแดดจัดๆเป็นระยะเวลานานๆ แต่ถ้าหากต้องอยู่กลางแดดจ้านานๆ ก็ควรที่จะต้องมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของครีมกันแดด ซึ่งหาซื้อได้ตามท้องตลาด ครีมกันแดดที่ใช้ทาบริเวณใบหน้านั้น สำหรับเด็กหรือวัยรุ่น เอสพีเอฟ (SPF) ประมาณ 15-30 ก็น่าจะเพียงพอกับบ้านเรา แต่ถ้าผู้ใหญ่วัยทำงานหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องฝ้าหรือกระอยู่เดิมก็สามารถใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF ได้ถึง50 ส่วนถ้าใครที่จะไปเที่ยวทะเลหรือโดนแดดจัดๆ ก็ควรจะมีครีมกันแดดที่ทาตัวด้วย ไม่ใช่ป้องกันแต่เพียงใบหน้า นอกจากนี้ในเด็กเล็กๆที่อายุมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ผู้ปกครองก็ควรที่จะเริ่มมีการทาครีมกันแดดให้ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการผลิตครีมกันแดดที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กแล้ว 

 

ถ้าต้องอยู่กลางแดดจ้าเป็นระยะเวลานาน เช่น ไปเที่ยวทะเล ควรทาครีมกันแดดซ้ำเป็นระยะ โดยหลักการทาครีมกันแดดที่ถูกต้องควรจะทาก่อนออกแดดประมาณครึ่งชั่วโมงและหลังจากทาไปแล้วหากยังต้องอยู่กลางแจ้งหลายๆชั่วโมง ก็ควรจะมีการทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมง”

 

คุณหมอ บอกต่อว่าในช่วงหน้าร้อนควรใส่เสื้อแขนยาวหรือเสื้อที่มีสีเข้ม เพราะจะช่วยป้องกันแดดได้ดี และก็ควรใส่หมวกกันแดดปีกกว้าง และแว่นตากันแดด ควรหลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาที่แดดจ้ามากๆ ตั้งแต่ 10.00-16.00 น. ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่แน่นหรือรัดเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคผิวหนังต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเป็นการลดเหงื่อด้วย เพราะเสื้อผ้าหลวมขึ้นจะทำให้อากาศถ่ายเทได้ดีขึ้น

 

ทั้งนี้สำหรับคนที่เหงื่อออกมากหรือเล่นกีฬากลางแจ้งหรือเด็กเล็กๆที่เป็นผดร้อน ก็ควรอาบน้ำบ่อยขึ้นในช่วงหน้าร้อน และควรฟอกสบู่ในบริเวณซอกพับเพื่อเป็นการลดปริมาณแบคทีเรียที่ผิวหนังซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นตัวร่วมกับการใช้พวกโรลออนหรือสเปรย์ลดกลิ่นตัว และที่สำคัญสาวๆยังสามารถแต่งหน้าตามปกตินะจ้า

 

ความจริงแล้วโรคทั้ง 6 กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้นนี้มีอยู่ทุกฤดู แต่ในฤดูร้อนจะพบได้มากกว่าฤดูอื่นๆ

 

สุดท้ายนี้ คุณหมอได้ฝากไว้ว่า “อีกโรคที่อยากจะฝากไว้ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสแสงแดดในระยะยาวคือโรคมะเร็งผิวหนัง เพราะไม่ใช่แค่เฉพาะหน้าร้อน แต่การโดนแดดสะสมไปเรื่อยๆ การออกแดดจ้าทุกๆวัน โดยไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดเลย ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาจจะเกิดมะเร็งผิวหนังในอนาคต ซึ่งมักจะเกิดขึ้นตอนที่เรามีอายุ 50 ปีไปแล้ว ซึ่งถ้าเรารู้จักป้องกันผิวเรา ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้อนหรือหน้าหนาว มีการใช้ครีมกันแดดอยู่สม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่มะเร็งผิวหนังได้”

 

 

 

 

 

 

 

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ