ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ โดยมีความรุนแรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากผลสำรวจของสภาเศรษฐกิจโลกในเรื่องความเสมอภาคทางเพศเมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 ญี่ปุ่นถูกจัดไว้ในลำดับที่ 101 จาก 145 ประเทศ (ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 60 ส่วนประเทศที่มีความเสมอภาคทางเพศมากที่สุดคือไอซ์แลนด์)
ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ เปิดโอกาสให้ผู้ชายมีสิทธิอำนาจเหนือผู้หญิงในหลายๆ ด้าน บางครั้งก้าวล่วงความเป็นส่วนตัว ดังที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทำงานในญี่ปุ่นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่เธอไม่แทบไม่มีสิทธิ์ต่อสู้เรียกร้องเพื่อตัวของเธอเอง
จากผลสำรวจโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (1 มี.ค. 59) ระบุว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้หญิงทำงานในญี่ปุ่นถูกคุกคาม และ/หรือ ล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งมีตั้งแต่โดนพูดจาแทะโลม ถูกแตะเนื้อต้องตัว ชวนพูดคุยในเรื่องใต้สะดือ หรือชวนไปเดท
ประมาณ 2 ใน 3 ของสาวๆ ที่โดนล่วงละเมิด เลือกที่จะเก็บเรื่องเงียบไว้ ถึงแม้ว่าเธอไม่ได้อยากทำอย่างนั้นก็ตาม น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้แจ้งเหตุผลไว้ในผลสำรวจว่าเป็นเพราะเหตุใด
สาวๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ก็มี ร้องเรียนกันไปเลยว่าโดนล่วงละเมิด แต่ผลลัพธ์ที่เธอได้รับก็คือการถูกกลั่นแกล้งเพิ่มเติม ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม อาจถึงขึ้นถูกลงโทษ ลดตำแหน่ง หรือลดขั้นเงินเดือน ถ้าหากใครทนไหวก็ทนกันไป ใครทนไม่ไหวก็เก็บของกลับบ้านไปปรนนิบัติสามี หรือเลี้ยงดูลูกในแบบที่ผู้หญิงควรทำ
การกลั่นแกล้งในที่ทำงานไม่ได้จำกัดอยู่แค่การล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น ในหลายครั้งก็เป็นการกระทำที่ทำให้ผู้หญิงเกิดความอับอาย เช่น เหตุการณ์เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศของสถานี NHK ถูกกลั่นแกล้งขณะกำลังรายงานสภาพอากาศ โดยฝ่ายภาพนำเสนอภาพไม่ตรงกับลำดับการรายงานหลายต่อหลายครั้ง ผู้ประกาศข่าวสาวถึงกับร้องไห้ขณะกำลังออกอากาศ
นอกจากนี้บริษัทที่มีวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น ยังแบ่งแยกสายงานสำหรับผู้หญิงให้แตกต่างจากผู้ชาย โดยงานสำหรับผู้หญิงมักมีลักษณะเป็นงาน part-time เพื่อให้ผู้หญิงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูแลบ้านตามธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้หญิงทำงานหลายๆ คนถูกบีบบังคับให้ลาออกเมื่อแต่งงานหรือตั้งครรภ์ หรือถ้าไม่บังคับกันตรงๆ ก็มักเป็นการแนะนำว่า ลาออกเถอะนะเธอที่รัก
ทั้งนี้ผู้หญิงญี่ปุ่นที่ต้องการทำงานแบบผู้ชายก็ต้องต่อสู้มากพอสมควร ทั้งต่อสู้กับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าแกร่งจริง ไม่อย่างนั้นก็เสียงต่อการโดนดูถูก
ที่มา : ญี่ปุ่นโดยสังเขป : Japan in a Nutshell , Japan Times