ท่ามกลางดรามา “สุกี้แห้ง” ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงว่าจะต้องผัดหรือต้ม ซึ่งวันนี้ทีมข่าว PPTVHD36 จะพาไปทำความรู้จักที่มาของเมนู “สุกี้” หรือ “สุกี้ยากี้”
โดย “สุกี้ยากี้” หรือ “สุกี้” เป็นอาหารจานร้อนที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น นิยมรับประทานในช่วงฤดูหนาวและในโอกาสสังสรรค์ต่างๆ มีลักษณะเป็นซุป มักมีส่วนผสมเป็นเนื้อสัตว์ เต้าหู้ ผัก วุ้นเส้น ไข่ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนแพร่หลายในหลายประเทศ
“สุกี้ยากี้” กำเนิดครั้งแรกในยุคโบราณของญี่ปุ่น โดยสมัยนั้นชาวญี่ปุ่นจะย่างเนื้อสัตว์บนพลั่ว ซึ่งพลั่วในภาษาญี่ปุ่นคือ
Suki ส่วนเนื้อสัตว์ในภาษาญี่ปุ่น คือ Yaki จึงเรียกกันว่า Sukiyaki ต่อมาในยุคเอโดะ ( ค.ศ. 1603 - 1868 ) ชาวญี่ปุ่นเริ่มนิยมรับประทานอาหารชนิดหนึ่ง ชื่อว่า นามะโมะ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสุกี้ยากี้ เพราะใช้หม้อเหล็กหล่อต้มน้ำซุปและเนื้อสัตว์ และจิ้มน้ำจิ้มสุกี้เพื่อเพิ่มรสชาติให้แก่อาหาร
เมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ ( 1868 – 1912 ) เป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลภายในญี่ปุ่น โดยมีวัตถุดิบใหม่ๆ เช่น เนื้อวัว เนย ซึ่งถูกนำมาใช้ทำสุกี้ยากี้ จึงมีรสชาติและรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จนปัจจุบัน สุกี้ยากี้ กลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากจากทั่วโลก และพบเจอได้ทั่วไป
สุกี้แบบญี่ปุ่น
รูปแบบสุกี้ของญี่ปุ่นนั้น มีส่วนประกอบเป็น ผัก เห็ด ไข่ เต้าหู้ น้ำซุป และเนื้อสัตว์ซึ่งอาจเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู หรืออาหารทะเลก็ได้ ซึ่งนำวัตถุดิบทั้งหมดใส่ลงไปในหม้อเหล็กแบบแบน ต้มด้วยเหล้าหวานกับซอสรวมกันแล้วปิดฝาแล้วรอจนกว่าจะสุก เมื่อพร้อมรับประทาน ก็นำไปเนื้อไปจิ้มกับไข่ดิบก่อนรับประทาน สามารถกินร่วมกันได้หลายคน ซึ่งสุกี้ยากี้นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- สุกี้ยากี้แบบคันไซ ( โอซาก้า )
รูปแบบของคันไซ จะนิยมใช้เนื้อวัวส่วนที่มีไขมันแทรก ต้มลงในน้ำซุปที่ทำจากโชยุ น้ำตาล มิริน และสาหร่ายคอมบุ ซึ่งจะปรุงไปพร้อมๆ กับการต้มสุกี้ยากี้
- สุกี้ยากี้แบบคันโต ( โตเกียว )
รูปแบบของคันโต จะนิยมใช้เนื้อวัวส่วนสันใน ต้มลงในน้ำซุปที่ทำจากโชยุ น้ำตาล มิริน และน้ำซุปดาชิ ซึ่งจะปรุงซอสให้เสร็จเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเริ่มทำสุกี้ยากี้
สุกี้แบบจีน
รูปแบบสุกี้ของจีนนั้น มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของชื่อ โดยประเทศจีนนั้นเรียกสุกี้ว่า หม้อไฟ ( หั่วกัว ) ทั้งยังแบ่งออกไปตามภูมิภาค ดังนี้
- สุกี้ไหหลำ
มีส่วนประกอบเป็นเนื้อวัว ที่หมักกับเต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ผงพะโล้ ส่วนน้ำจิ้มนั้นใช้เต้าหู้ยี้ผสมกับน้ำมันงา ส่วนผักนั้นมักใช้เป็นผักกาดขาวและผักบุ้ง และสิ่งที่จำเป็นต้องมี ห้ามขาดเด็ดขาด คือ หมึกแช่
- สุกี้กวางตุ้ง
มีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ที่หลากหลายรูปแบบ โดยมีเครื่องปรุงหลายแบบ ส่วนน้ำจิ้ม ซอสพริกถือเป็นเครื่องปรุงหลัก และนิยมการรับประทานแบบหม้อไฟ ( ภัตตาคารไทยส่วนใหญ่ทานแบบนี้ )
- สุกี้เสฉวน
มีส่วนประกอบที่โดดเด่นเป็นเครื่องเทศเฉพาะของเสฉวน คือ หมาล่า สามารถทำให้เกิดอาการชาได้ด้วยความเผ็ดจากเครื่องปรุง
- สุกี้กุ้ยหลิน
มีส่วนประกอบเป็นเห็ดและเครื่องยาจีน ซึ่งใช้ในการปรุงเป็นหลัก
- สุกี้แต้จิ๋ว
มีส่วนประกอบเป็นเนื้อไก่และหมู ลูกชิ้นปลาต่างๆ ผัก วุ้นเส้นส่วนน้ำจิ้มใช้เต้าหู้ยี้เป็นหลัก ซึ่งมีลักษณะซึ่งคล้ายกับสุกี้กวางตุ้ง
สุกี้แบบไทย
รูปแบบสุกี้ของไทยนั้น มีการแพร่หลายในประเทศไทยมานานหลายทศวรรษ โดยจุดกำเนิดนั้น มาจากร้านอาหารในกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มให้บริการหม้อไฟแบบจีนภายใต้ชื่อ "สุกียากี้" ใน ปี พ.ศ. 2498 แต่คนไทยเรียกย่อว่า “สุกี้“ ต่อมาร้านอาหารกวางตุ้ง ชื่อ สุกี้โคคา ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2500 ที่ซอยทานตะวัน สีลม นำเสนอสุกี้ในรูปแบบไทยและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จึงมีร้านอาหารมากมายที่เกิดขึ้นมาในรูปแบบคล้ายๆกัน ซึ่งเป็นการดัดแปลงหม้อไฟแบบจีนให้เข้ากับไทย มีลักษณะคล้ายกับ ชาบูชาบู และ โยเซนาเบะ
สุกี้ไทยนั้นมีส่วนประกอบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ น้ำจิ้ม ที่มีส่วนประกอบเป็น กระเทียมสับ น้ำ มะนาว และ พริก ส่วนวัตถุดิบประกอบด้วย เนื้อสัตว์ ผัก อาหารทะเล และลูกชิ้น มักรับประทานกับข้าวต้มหรือบะหมี่ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล
นอกจากนั้นแล้ว ไทยยังมีเมนู “สุกี้แห้ง” ที่เชื่อว่าเป็นเมนูโปรดของหลายๆคน ซึ่งเมนูนี้ร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะปรุงด้วยการผัดส่วนผสมในกระทะ แต่ก็มีร้านอาหารบางแห่งปรุงด้วยการต้มแบบน้ำขลุกขลิก ซึ่งเมนูดังกล่าวก็คงขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละร้าน และขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของผู้บริโภคแต่ละคน
ขอบคุณข้อมูล : www.น้ําจิ้มสุกี้.com