วางแผนเกษียณฉบับมืออาชีพ เก็บเงินอย่างไรให้มีเงินใช้ตลอดชีวิต
ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากจะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างยากลำบาก และต้องการมีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายในตอนที่เกษียณแล้ว แต่การจะไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยหากไม่ได้วางแผนเกษียณอย่างเป็นระบบ
บทความนี้จะช่วยให้เข้าใจความหมายของการวางแผนชีวิต เจาะลึกถึงวิธีวางแผนการเงินหลังเกษียณเพื่อให้มีเงินใช้อย่างเพียงพอในระยะยาว
พร้อมทั้งบอกข้อควรระวังที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ทุก ๆ คนก้าวเข้าสู่ชีวิตหลังเกษียณด้วยความมั่นคง และใช้ชีวิตตามที่ต้องการได้อย่างมีความสุขมากที่สุด
วางแผนเกษียณคืออะไร เข้าใจความหมายของการวางแผนชีวิตแบบเข้าใจง่าย
การวางแผนเกษียณ (Retirement Planning) คือการเตรียมความพร้อมทางการเงินล่วงหน้า เพื่อให้ช่วงเวลาที่ลาออกจากงานและไม่มีรายได้ประจำแล้ว ยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนเดิม โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินทองจากลูกหลาน หรือไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ การวางแผนเกษียณอายุในลักษณะนี้จะต้องคาดการณ์รายจ่ายที่เป็นไปได้ในอนาคต แล้วนำไปตั้งเป้าหมายทางการเงิน จากนั้นจึงออกแบบแผนการออมและการลงทุน ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้
การเรียนรู้แนวทางวางแผนเกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็สามารถวางแผนการเงินเพื่ออนาคตได้ และสิ่งที่สำคัญก็คือ ยิ่งเริ่มต้นวางแผนเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะหากเริ่มต้นได้ไวก็จะมีโอกาสในการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น
วางแผนเกษียณสำคัญแค่ไหน เหตุผลที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด
เมื่อเข้าสู่ช่วงหลังเกษียณ รายได้ประจำมักจะลดลง แต่ค่าใช้จ่ายกลับยังคงอยู่ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามอายุ การวางแผนชีวิตหลังเกษียณจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีคุณภาพ
หากใครวางแผนเกษียณได้ดี ก็เปรียบเหมือนกับการวางรากฐานในช่วงบั้นปลายชีวิตได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะต้องเอาเงินไปใช้รักษาตัวเอง หรือเติมเต็มความสุขในวัยชรา ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินไม่พอใช้ และไม่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ตอนแก่ด้วย ยิ่งในยุคที่อายุเฉลี่ยของประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่าคนเราจะมีชีวิตอยู่ได้นานมากกว่าเดิม การทราบแนวทางวางแผนเกษียณจึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะจะช่วยให้มีอิสรภาพทางการเงินได้ในระยะยาว
วิธีวางแผนเกษียณให้มั่นคง เพื่อเป้าหมายในอนาคต
การวางแผนเกษียณที่ดีต้องไม่ใช่แค่การออมเงินเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องประเมินตัวเองอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ครอบครัว หรือความต้องการในชีวิต เพื่อสร้างความมั่นคงในทุก ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยทั้งเวลาและวินัย เพื่อให้ก้าวไปถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการได้ในที่สุด โดยขั้นตอนวิธีวางแผนเกษียณมีดังนี้
คำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
การคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการวางแผนทางการเงิน ซึ่งควรประเมินให้ครอบคลุม โดยแยกประเภทค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำ (เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าอาหาร) ค่าใช้จ่ายเฉพาะทาง (เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าตรวจสุขภาพประจำปี) และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ (เช่น ค่าท่องเที่ยว ค่าของขวัญ หรือค่าทำบุญ) นอกจากนี้ ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอีก 1 ก้อนเก็บไว้ใช้ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิดด้วย
ตั้งเป้าหมาย
เมื่อรู้ว่าต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไร ขั้นตอนต่อไปก็คือการตั้งเป้าหมายในการเก็บเงิน ตัวอย่างเช่น หากต้องการใช้เดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 25 ปี เท่ากับต้องมีเงินเก็บประมาณ 9 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อที่ต้องคิดเผื่อเอาไว้ให้ครอบคลุมด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่จำเป็นต้องหาให้ได้ค่อนข้างสูง การเริ่มต้นวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย จึงมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากกว่า
วางแผนเก็บเงิน
การวางแผนหลังเกษียณให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ควรมีวิธีเก็บเงินที่ชาญฉลาด การเก็บเงินเพื่อเกษียณจึงไม่ควรฝากไว้ในที่เดียว แต่ควรกระจายความเสี่ยงไปไว้ตามช่องทางต่าง ๆ เช่น การออมในธนาคาร กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ นอกจากนี้ ใครที่กำลังวางแผนเกษียณฉบับมนุษย์เงินเดือน ยังต้องพิจารณาถึงสภาพคล่องทางการเงิน หรือความสามารถในการถอนเงินสดออกมาใช้ เพราะการออมบางรูปแบบที่มีการถอนเงินออกมาใช้ก่อนล่วงหน้า อาจทำให้ดอกเบี้ยที่ควรได้ลดลง และไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
วางแผนเกษียณอย่างไรไม่ให้พลาด จุดเสี่ยงและข้อควรระวัง
นอกจากจะมีแผนที่ดีแล้ว อยากให้เพิ่มข้อควรระวังในรายละเอียดสำคัญบางอย่างเข้าไปด้วย เพราะหากมองข้ามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไป อาจทำให้วางแผนเกษียณผิดพลาดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจุดเสี่ยงสำคัญที่ควรระวังมีดังนี้
- ลืมคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ทำให้ตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อมีความสำคัญเป็นอย่างมาก การคำนวณค่าใช้จ่ายในอนาคตจึงต้องเผื่อเงินเฟ้อปีละประมาณ 2-3% เพื่อให้ตัวเลขสะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุด
- กระจุกการลงทุน การนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในสินทรัพย์เพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะกระทบกับเงินเก็บทั้งหมดทันที ดังนั้น จึงควรเลือกกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่หลากหลาย ภายใต้การศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน
- หวังพึ่งแต่สวัสดิการ จริงอยู่ที่เงินบำเหน็จหรือบำนาญจากรัฐจะช่วยให้สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้สบาย ๆ แต่ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจถูกตัดออกหรือลดลง หากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรหวังพึ่งสวัสดิการรัฐเพียงอย่างเดียว
- ไม่มีแผนสำรอง เหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น โรคระบาด ปัญหาสุขภาพ หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจทำให้เงินเก็บที่สำรองไว้ไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงควรเผื่อเงินสำรองฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อไม่ให้กระทบต่อกับแผนหลักที่วางไว้
- เริ่มต้นช้าเกินไป เคล็ดลับวางแผนเกษียณสไตล์มนุษย์เงินเดือนที่ดีควรเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะหากอายุ 40 ปีแล้วค่อยวางแผนเกษียณจะมีเวลาเก็บเงินน้อยลง และทำให้ต้องเก็บเงินต่อเดือนมากกว่าคนที่เริ่มเร็ว
- ไม่เคยทบทวนแผนเกษียณ เป้าหมายชีวิตอาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ การทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนให้ทันต่อยุคสมัยจึงถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะช่วยทำให้ก้าวถึงเป้าหมายได้รวดเร็วมากขึ้น
วางแผนเกษียณให้สำเร็จต้องมีวินัย เริ่มต้นได้เลยไม่ต้องรอ
การวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไป หากเข้าใจวิธีการเตรียมตัวเกษียณอย่างถูกต้อง มีวินัยในการออมที่ดี และไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่มีเป้าหมาย หากทำตามนี้ได้ก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถวางแผนเกษียณได้อย่างมั่นใจ แม้จะไม่ใช่คนที่มีรายได้สูงก็ตาม
ดังนั้น หากจะให้สรุปการวางแผนเพื่อเกษียณอายุที่ดี จึงควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ประเมินค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ เลือกช่องทางการออมและการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง หมั่นติดตามแผนอย่างต่อเนื่อง และเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ เพราะวิธีวางแผนเกษียณไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลข แต่มันคือการสร้างความมั่นคงให้กับอนาคตและครอบครัว ทำให้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินอีกต่อไป