สัมผัสไอหมอกและดอกหงอนนาค ปลายฝนต้นหนาว ณ “ภูสอยดาว”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หากเอ่ยถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว “สายเดินป่า” เพื่อไปสัมผัสธรรมชาติที่สวยงามแล้วเชื่อว่า “ภูสอยดาว” ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวหลายคนอยากจะเดินทางไปสัมผัส แม้หนทางจะยากลำบาก และค่อนข้างวัดแรงใจและแรงกายอยู่พอสมควร วันนี้ทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี จะพาไปยลโฉมดินแดนที่เต็มไปด้วยไอหมอกและ “ดอกหงอนนาค” ที่เบ่งบานอยู่เต็มลานสน รอรับนักท่องเที่ยวให้มาเก็บความประทับใจในช่วงปลายฝนต้นหนาวกัน

“ภูสอยดาว” อยู่ในอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดคือ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก นับเป็นพื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม และยังเป็นแหล่งต้นน้ำ ซึ่งมี “น้ำตกภูสอยดาว” เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีทั้งหมด 5 ชั้น มีชื่อเรียกอย่างไพเราะ คือ ภูสอยดาว สกาวเดือน เหมือนฝัน กรรณิการ์ และสุภาภรณ์ ให้เที่ยวชมด้วย

นอกจากน้ำตกภูสอยดาวแล้วไฮไลท์ของที่นี่คือการเดินเท้าไปยัง “ลานสน” ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,633 เมตร ซึ่งเป็นป่าสนสามใบ เป็นลักษณะทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ซึ่งจุดนี้จะเป็นจุดกางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ซึ่งช่วงการฤดูฝนของทุกปี ทุ่งหญ้าแห่งนี้จะมีดอกไม้ดินชูช่อบานสะพรั่งอวดความงามเป็นกลุ่มหนาแน่นทั่วลานสนสามใบ เช่น ดอกหงอนนาค (สีม่วง) ดอกสร้อยสุวรรณา (สีเหลือง) และดอกรากหญ้าหอม สีดอกจะมีสีม่วงเข้ม ซึ่งจะบานตัดกันสีสันสวยงามเต็มลานสน ส่วนช่วงฤดูหนาวอากาศที่นี่จะมีอุณหภูมิระหว่าง 1-5 องศาเซลเซียส และบริเวณลานสนจะมีดอกกระดุมเงิน กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ และใบเมเปิล ที่เปลี่ยนสีเป็นสีแดง ถูกอกถูกใจนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนเป็นอย่างมาก



ก่อนที่จะไปเยี่ยมเยือน “ลานสน” ของภูสอยดาวในช่วงปลายฝนต้นหนาว อย่างแรกสิ่งที่ควรเตรียมตัวคือ การฟิตร่างกายให้พร้อม เพราะคุณต้องเดินเท้าเป็นระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ผ่านเส้นทางขึ้นเขาที่ต้องเดินๆ ปีนๆ อยู่เป็นระยะ จึงต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายมาในระดับหนึ่ง ไม่งั้นอาจจะต้องหยุดพักเรื่อยๆ ระหว่างทาง ทำให้เสียเวลาในการสัมผัสบรรยากาศลานสน หากใครที่ค้างคืนเพียงแค่คืนเดียว ส่วนการแต่งกายแนะนำว่าควรใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาวจะเหมาะกว่า หากใครที่แพ้แมลงอย่าง “ตัวคุ่น” เจ้าตัวนี้จะเป็นศัตรูตัวฉกาจหากใครที่แพ้ ก็จะมีอาการคันและรอยแผลกลับบ้านไปด้วย และรองเท้าในการเดินก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะระวางทางค่อนข้างลื่นและชัน หากฝนตกแล้วยิ่งไปกันใหญ่ ควรตรวจสอบว่ารองเท้าผ้าใบของคุณมีสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ก่อนออกเดินทาง ไม่งั้นจะลำบากระหว่างขึ้นและลงได้



ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะนิยมค้างบน “ลานสน” ประมาณ 1-2 วัน จึงจำเป็นต้องเตรียมเสบียงไปกินข้างบนด้วย ซึ่งน้ำดื่มเป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรนำไปให้พอ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมจ้างลูกหาบเพื่อขนสัมภาระขึ้นไปให้ ตอนนี้อัตราอยู่ที่ 1 กิโลกรัม ต่อ 30 บาท ส่วนเต็นท์ ถุงนอน เตาถ่าน เตาแก๊ส หม้อ ถ้าไม่พร้อม อุทยานฯก็มีให้เช่าข้างบนลานสนเช่นกัน และที่สำคัญอุปกรณ์กันฝนระหว่างเดินไปลานสนในช่วงฤดูฝนนั้นสำคัญมาก
 

เมื่อพร้อมแล้วเราจะพาไปบุกป่าลุยฝน เพื่อไปให้ถึง “ลานสน”  แต่อย่างแรกเมื่อเรามาถึงอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว เราก็จะต้องมาลงทะเบียนกับอุทยานฯ ในเวลา 8.00 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้เขียนชื่อคนรายละเอียดคนที่มากับเราด้วย เบอร์โทรฉุกเฉินต่างๆ ถ้าใครจะจองเต็นท์ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ตรงจุดนี้ รวมทั้งการจองลูกหาบด้วยเช่นกัย ก่อนเจ้าหน้าที่จะนำสัมภาระที่เราจะให้ลูกหาบแบกขึ้นไป มาชั่งและติดเบอร์ รวมทั้งน้ำหนัก จากนั้นก็จะคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมด เจ้าหน้าที่ก็จะนำบัตรรับใส่ซองกันน้ำอย่างดี มอบให้เราเพื่อนำไปรับของที่ลานสน จากนั้นลูกหาบจะนำของไปแพคเพื่อเตรียมแบกขึ้นไป

จากนั้นเตรียมตัวให้พร้อมในอุทยานฯ จะมีร้านข้าว หรือจะซื้อมาทานจากข้างนอกก็ตามแต่สะดวก แต่อย่างลืมหาของรองท้องไว้มื้อเที่ยง ซึ่งอาหารที่เรากินจะอร่อยเป็นพิเศษ เพราะเหนื่อยจากการเดิน แนะนำว่า ควรเป็นอาหารที่ทานง่าย สะดวก ไม่เลอะเทอะง่ายจะดีกว่า เมื่อพร้อมเจ้าหน้าที่จะมีรถยนต์ไปส่งที่ทางขึ้น ซึ่งอยู่บริเวณน้ำตกภูสอยดาว ที่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร
 

เมื่อลงรถจะพบกับป้าย “เส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่ ลานสนภูสอยดาว 6.5 กิโลเมตร” เป็นด่านแรกที่เราได้เจอ เมื่อเดินเข้าไปไม่กี่อึดใจ ก็จะเจอกับ ศาลเจ้าพ่อภูสอยดาว ใครที่จะเดินขึ้นก็ต่างหยุดแวะไหว้ขอพรให้การเดินทางในครั้งนี้ราบรื่น ทางเดินในตอนแรกจะเป็นสลับบันไดเหล็ก ที่เรียกว่า แค่เริ่มเต้นก็บั่นทอนจิตใจและพลังงานไปค่อนข้างมาก ตลอดที่เราเดินจะผ่านต้นไม้น้อยใหญ่จำนวนมาก สลับกับเสียงของน้ำตกที่ดังกังวาลไปทั่วทั้งป่า

เดินไปสักพักใหญ่ๆ เราก็จะเจอ เนินแรก จากทั้งหมด 5 เนินที่ต้องเจอก่อนไปลานสน ซึ่งเนินแรกมีชื่อว่า “เนินส่งญาติ” มีระดับความสูง 650 เมตร แค่เพียงเห็นชื่อก็อยากจะกลับแล้วทีเดียว แต่ส่วนใหญ่ก็ทำให้มีกำลังใจมากขึ้นว่าได้เดินมาถึงเนินแรกแล้ว เป็นจุดพักเหนื่อยที่หลายคนพักเพื่อเอาแรงก่อนเดินไปยังเนินต่อไป ระหว่างทางถ้าไม่เหนื่อยจนเกินไปนัก การมองไปรอบตัวๆ ก็จะทำให้เห็นพรรณไม้ ดอกไม้แปลกๆ ที่ออกมาอวดโฉมเราตลอดทางที่เดินๆ ปีนๆ เกาะบันไดขึ้นไป ก่อนเราจะมาถึง “เนินปราบเซียน” ระดับความสูง 780 เมตร ที่เรียกได้ว่าเส้นทางนี้ปราบเซียนจนหลายคนต้องหยุดพักตามทางกันเป็นระยะเลยทีเดียว จังหวะนี้ใครที่พกยาลม ยาดม ยาหม่องมานั้นต้องได้ใช้กันแน่ๆ

ขณะที่การเดินเท้ากลางป่านั้นสิ่งที่เราต้องระวังคือ “ตัวคุ่น” ซึ่งควรเตรียมเสื้อผ้าที่มิดชิดและนำสเปรย์กันแมลงมาด้วย จะช่วยลดโอกาสในการที่ถูกตัวคุ่นกัดได้ ซึ่งหากโดนกัดจะมีอาการคัน หากใครแพ้ก็อันตรายเลยทีเดียว บางคนที่ไม่ระวังก็จะได้รับแผลจากตัวคุ่นติดตัวกลับบ้านไปด้วย

เดินไปเดินมาเราก็มาถึงเนินที่สาม คือ “เนินป่าก่อ” ระดับความสูง 850 เมตร โดยเนินนี้จะมีป้ายอธิบายว่า เหตุที่ชื่อเนินป่าก่อ หรือต้นโอ๊ก นั้น เนื่องจากบริเวณนี้สัตว์มากมายใช้ก่อเป็นอาหาร เช่น นก หนู กระรอก หรือแม้แต่มนุษย์ก็กินลูกก่อบางชนิดด้วย เหตุนี้จึงมีการยกย่อง ก่อเหมือนราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่ให้ความเอื้ออาทร ให้ที่พักอาศัย ให้อาหารแก่ชีวิตน้อยใหญ่ในอาณาจักรป่าดิบเขาแห่งนี้

เมื่อหยุดพักและชื่นชมกับธรรมชาติบริเวณนี้ได้พักใหญ่ จึงถึงเวลาเดินทางต่อไปยัง “เนินเสือโคร่ง” ระดับความสูง 1,150 เมตร ซึ่งเป็นอาณาจักรของสมุนไพร เนื่องจากบริเวณนี้มีต้น “กำลังเสือโคร่ง”  หรือ “กำลังพญาเสือโคร่ง” อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ได้มาจากมีเสือโคร่งมาเพ่นพ่านบริเวณนี้แต่อย่างใด โดยเปลือกของต้นไม้ชนิดนี้ มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร ชาวบ้านมักนำไปต้มน้ำรับประทาน เป็นยาสมุนไพร เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรงและแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายด้วย

และในที่สุดเราก็เดินทางที่เนินสุดท้ายก่อนจะถึงลานสนภูสอยดาว ที่มีชื่อข่มขวัญผู้เดินทางว่า “เนินมรณะ” ระดับความสูง 1,410 เมตร ซึ่งระยะทางจุดนี้ไปยังลานสนนั้นเส้นทางค่อนข้างอันตรายพอสมควร หากฝนตรงแบบที่เราเผชิญ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายจุดต้องมีการปีนป่าย โดยจากจุดนี้เราต้องเดินอีก 1.5 กิโลเมตร ถึงจะถึงที่หมายของเราในวันนี้ จุดนี้เป็นอีกจุดที่นักท่องเที่ยวหลายคนหมดแรง จะหยุดนั่งพักกันตลอดทาง เช่นเดียวกับลูกหาบ

ระหว่างทางเราจึงได้เห็นมิตรภาพของ “ลูกหาบ” ที่เดินผ่านพวกเราและคอยบอกว่า อีกไม่ไกลนะ อีกนิดเดียว คอยให้กำลังใจระหว่างทางตลอด ซึ่งจุดหนึ่งที่พอให้เรามีแรงฮึดไปได้จนถึงปลายทาง แม้จะพักกันเยอะหน่อยก็ตาม

ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึง “ลานสนภูสอยดาว” ที่เป็นป่าสนสามใบตามธรรมชาติ ในพื้นที่ภูเขายอดตัด มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,633 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และจุดที่ไม่ถ่ายรูปไม่ได้คือ “ป้ายผู้พิชิตลานสนภูสอยดาว” เพื่อเป็นที่ระลึก ถัดจากป้ายคือสิ่งที่เราเห็นคือความสวยงามของ “ดอกหงอนนาค” สีม่วงชูช่อ ท่ามกลางไอหมอกอยู่เต็มทุ่ง สีสันสวยงามสลับกับสีเขียว ที่ทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง สิ่งที่เห็นคือทุกคนทิ้งความเหนื่อยล้ามาตลอดเส้นทาง เพื่อมาเพลิดเพลินกับการเก็บภาพความสวยงามของดอกไม้เหล่านี้เป็นที่ระลึก



จากนั้นจึงเดินเอาบัตรไปรับของและอุปกรณ์ที่เราจองไว้ที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯและลูกหาบ จากนั้นจึงใช้เวลาไปกับการพักผ่อน แต่ในช่วงที่เราเดินทางไป ฟ้าฝนไม่เป็นใจเท่าไหร่เลยไม่เห็นหมู่ดาวออกมาอวดโฉมท่ามกลางป่าสนสามใบเท่าไหร่นัก จากนั้นแต่ละคนใช้เวลาพักผ่อน ทำอาหาร และที่สำคัญต้องนำขยะลงไปทิ้งข้างล่าง เราก็จะใช้ค่ามัดจำขยะคืนจากเจ้าหน้าที่ด้วย

ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวบนลานสนมีทั้งจุดชมพระอาทิตย์ตก จุดชมพระอาทิตย์ขึ้น  น้ำตกสายทิพย์  และ หลักเขตไทย- ลาว เป็นหลักเขตที่ปักปันเขตแดนแบ่งระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวมีขึ้นหลังสงครามบ้านร่มเกล้า


เมื่อถึงเวลากลับเราไม่ควรนำสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติกลับไป ควรบันทึกไว้เพียงภาพถ่ายและความทรงจำว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตเราคือ “ผู้พิชิตลานสนภูสอยดาว” ว่าแล้วก็ได้เวลาเดินเท้ากลับลงไปด้านล่างยังจุดเริ่มต้น ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร เช่นเดียวกัน ท่ามกลางภูเขาและไอหมอกที่มาโบกมือลาให้เราเดินกลับไปพร้อมความประทับใจในการมาเยี่ยมเยือน “ภูสอยดาว” ในช่วงปลายฝนต้นหนาว

Content / Photo  : พัฐอร พิจารณ์โสภณ

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ