5 วิธีรักษา “มะเร็งปอด” ผ่าตัด-เคมีบำบัด รู้เร็วโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
“มะเร็งปอด” หนึ่งในโรคที่คนไทยเป็นกันมาก ที่น่าเป็นห่วงคือมักไม่แสดงอาการปรากฏ รู้ตัวอีกทีก็อยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว การรักษามะเร็งปอดโดยเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ
มะเร็งปอดทำไมไม่แสดงอาการ
ภายในปอดมีถุงลมขนาดเล็กจำนวนมากที่คอยทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน เมื่อมะเร็งเริ่มก่อตัวเป็นจุดเล็ก ๆ ในปอดอาจยังไม่แสดงอาการ เพราะร่างกายยังแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ตามปกติ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งปอดก็เป็นตอนที่น้ำท่วมปอดหรือก้อนกระจายไปแล้ว อยู่ในระยะลุกลามที่เริ่มรุนแรงมากแล้ว ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตสูง
อาการมะเร็งปอด
- ไอ เสมหะเป็นเลือด
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลด
- เสียงแหบ
- ปอดติดเชื้อ
มะเร็งปอดระยะสุดท้าย อาการ-วิธีรักษาและโอกาสรอดชีวิต
สายพันธุ์ “มะเร็งปอด” ระยะไหน? แพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง
ซึ่งหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพราะการรักษาจะได้ประสิทธิภาพมากขึ้นหากรับการรักษาในมะเร็งระยะต้น
ตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดจะใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Low-dose CT Scan) หากพบเจอก้อนที่น่าสงสัยจะมีการตัดชิ้นเนื้อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าเป็นมะเร็งปอดหรือไม่
5วิธีการรักษามะเร็งปอด
- ผ่าตัดแบบเปิดช่องอก (Thoracotomy)
มักผ่าแนวกลางหรือเข้าทางด้านข้าง อาจต้องตัดกล้ามเนื้อหลายมัดและถ่างขยายกระดูกซี่โครงในการผ่าตัด เหมาะกับผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่เกิน 8 เซนติเมตร ผู้ป่วยที่ต้องตัดปอดทั้งข้าง หรือผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดซับซ้อนอาจต้องตัดต่อหลอดเลือด ขนาดแผลอยู่ที่ 15 – 20 เซนติเมตร ใช้เวลาฟื้นตัวนาน
- ผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอด (Video Assisted Thoracosocpic Surgery: VATS)
ปัจจุบันใช้กล้องวีดิทัศน์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่มีก้อนขนาดไม่ใหญ่มากและไม่กดเบียดอวัยวะข้างเคียง ในช่วงมะเร็งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยเจาะรูขนาดเล็กบริเวณช่องซี่โครงเพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเข้าไปตัดก้อนมะเร็ง แผลจะมีขนาดเล็กยาวประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
- ผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอดแบบจุดเดียว (Uniportal VATS Surgery)
โดยเจาะรูบริเวณข้างลำตัวเพื่อใส่เครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัด มักใช้ในการผ่าตัดปอดแบบลิ่ม (Wedge Resection) คือตัดเนื้องอกพร้อมเนื้อปอดข้างเคียงออกเป็นรูปลิ่ม การตัดปอดแบบกลีบ (Lobectomy) การตัดปอดที่มีเนื้องอกทั้งข้าง (Pneumonectomy) ซึ่งแผลจะมีขนาดเล็กประมาณ 3.5 เซนติเมตร เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน
“มะเร็งปอด”เนื้องอกโตเร็ว พบป่วยมากในไทย เป็นได้แม้ไม่สูบบุหรี่!
- เคมีบำบัด (Chemotherapy)
ใช้ในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้ฝ่อลงและไม่แพร่กระจาย เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ที่มีการลุกลามหรือกระจายไปยังอวัยวะอื่น ทั้งนี้อาจมีการผ่าตัดร่วมด้วยขึ้นอยู่กับการประเมินโดยแพทย์เป็นสำคัญ
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
เป็นการรักษามะเร็งปอดด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่เข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้กำจัดเซลล์มะเร็ง เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ทั้งนี้อาจใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด รังสีรักษา หรือมีการผ่าตัดร่วมด้วยตามคำแนะนำของแพทย์
สิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดควรรู้
ยิ่งพบมะเร็งปอดได้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาด และรอดชีวิตมากกว่าการพบมะเร็งปอดในระยะลุกลาม ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีน้ำหนักลดผิดปกติย่อมรักษาได้ผลดีกว่าผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้การรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย ย่อมช่วยเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในทุกวัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
ภาพจาก : Freepik
รักษามะเร็งปอด ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง (VATS) โอกาสหายเกือบ100%