วิจัยพบสาร “ไซโตไคน์” ทำข้อเสื่อม แนะกินวิตามินดี-อีเสริมช่วยชะลอโรค
แพทย์จุฬาฯ วิจัยพบสาร “ไซโตไคน์” ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีส่วนทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมและอาการโรครุนแรงขึ้น แนะกินวิตามินดี-อีเสริมช่วยชะลอโรคได้
เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ผู้สูงวัยหลายคนจะเริ่มเดินช้าลง ขึ้นลงบันไดลำบาก หรือเดินแต่ละครั้งก็จะได้ยินเสียงดังกรอบแกรบในข้อ บางทีก็มีอาการเจ็บข้อร่วมด้วย ไม่ว่าจะข้อเข่า ข้อสะโพกหรือข้อนิ้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือน “โรคข้อเข่าเสื่อม” ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ
โรคนี้แม้ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่บั่นทอนความสุขและคุณภาพชีวิตไม่น้อย เพราะรักษาไม่หายขาด และยิ่งปัจจุบันคนไทยอายุยืนขึ้น ยิ่งมีผู้ป่วยโรคนี้เพิ่มขึ้นด้วย
ค้นพบยีนก่อ “ลมชัก” ในผู้ใหญ่ ความหวังใหม่ตรวจวินิจฉัยโรค
จุฬาฯเปิดตรวจ "เลือด-จุลินทรีย์" วิเคราะห์ความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม
ศาสตราจารย์นายแพทย์สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก
ดังนั้นหากทำนายแนวโน้มความรุนแรงของโรคได้ เราจะหาทางลดหรือชะลอความรุนแรงของโรคได้ เป็นที่มาให้ ศาสตราจารย์นายแพทย์สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มโครงการวิจัย “ไซโตไคน์และสารชีวเคมี เพื่อเป็นตัวบ่งชี้และเป้าหมายในการรักษาโรคข้อเสื่อม” มากว่า 10 ปี จนได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่นของบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประจำปี 2564 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ไซโตไคน์และกลไกการเกิดโรคข้อเสื่อม
จากการศึกษากลไกการเกิดโรคข้อเสื่อมพบว่า “สารไซโตไคน์บางตัว” มีส่วนทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมและโรครุนแรงขึ้น
ไซโตไคน์เป็นสารในกลุ่มโปรตีนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ที่อักเสบภายในข้อ ไซโตไคน์และสารชีวเคมีจะกระตุ้นให้เซลล์กระดูกอ่อนหลั่งสารอื่นๆ ออกมา เช่น สารช่วยในการสร้างและสลายกระดูกอ่อน การมีสารไซโตไคน์ที่ไม่สมดุลจะกระตุ้นให้เกิดการสลายตัวของกระดูกอ่อนให้เสื่อมสภาพเร็ว ทำให้ข้อเสื่อมได้มากขึ้น
รู้จักโรคข้อเสื่อม
สาเหตุสำคัญของโรคข้อเสื่อมมาจากคุณภาพของกระดูกอ่อนในข้อต่อที่เสื่อมลงตามวัย เกิดได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และจะปรากฏชัดในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสพบโรคข้อเสื่อมก็มากขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไป เป็นโรคข้อเสื่อม
ข้อต่อของอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายจะมีกระดูกสองชิ้นประกอบกันคือ กระดูกแข็ง และกระดูกอ่อนหุ้มข้อ เมื่อคนเราอายุมากขึ้น การสร้างกระดูกอ่อนมีคุณภาพลดลง ส่งผลให้การทำงานของกระดูกอ่อนเสียไป ร่างกายจะกระตุ้นให้เซลล์กระดูกอ่อนผลิตสารไซโตไคน์ออกมา ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบข้อ เอ็น และกล้ามเนื้อ แต่ที่พบมากที่สุดคือข้อเข่า รองลงมาคือข้อสะโพกและข้อนิ้วมือ
นอกจากวัยแล้ว ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2 – 3 เท่า เนื่องจากผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนในร่างกายที่กระตุ้นเซลล์ต่างๆ จะลดลง ส่งผลต่อคุณภาพของกระดูกอ่อน ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยเสี่ยงอีกประการคือน้ำหนักตัวที่มีส่วนทำให้โรคข้อเสื่อมรุนแรงมากขึ้น
อย่าคิดว่าแค่ไม่สวยจนชะล่าใจ “เส้นเลือดขอด” โชคร้ายถึงขั้นเสียชีวิต
“เล็บพยากรณ์โรค” ยกขึ้นมาเช็กกันสักนิด รับมือได้หาแพทย์ทัน
อาการของโรคข้อเสื่อม
ความรุนแรงของโรคข้อเสื่อมมีความแตกต่างกันขึ้นกับระยะเวลาการเป็นโรค โดยในระยะแรก อาการเจ็บปวดตามข้อจะเกิดขึ้นเวลาเดิน ยืน หรือขึ้นลงบันได จากนั้นก็จะเริ่มมีอาการข้อฝืด มีเสียงดัง เดินไปได้สักพักก็ต้องนั่งพัก อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ
หากโรคข้อเสื่อมเข้าสู่ระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมในข้อและเกิดการอักเสบ งอ-เหยียดบริเวณข้อได้ไม่เต็มที่ ในรายที่เป็นมาก ข้อจะบิดเบี้ยว เข่าโก่ง นิ้วมือเก เมื่อเอกซเรย์จะพบว่ามีการสร้างกระดูกงอกบริเวณข้อไปทิ่มเนื้อเยื่อในข้อเข่า ทำให้มีอาการอักเสบและเจ็บบริเวณข้อเข่า
โรคนี้ไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คุณภาพชีวิตแย่ลง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มานาน กล้ามเนื้ออาจจะลีบได้เนื่องจากไม่ได้ใช้งาน และ 50% ของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมีโอกาสที่ข้อเข่าจะเสื่อมทั้งสองข้างได้
รักษาได้ แม้ไม่หายขาด
แม้โรคข้อเสื่อมเป็นแล้วไม่หายขาด แต่ก็มีวิธีที่จะดูแลให้มีคุณภาพชีวิตและลดอาการเจ็บปวดได้ แนวทางการรักษาในปัจจุบันมี 3 ทางด้วยกัน ตามระดับความรุนแรงของโรค เริ่มจากการไม่ใช้ยา การรักษาโดยใช้ยา และการผ่าตัดซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา
ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 80% มีน้ำหนักเกิน ดังนั้นการควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม จะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อต่อ และช่วยให้อาการเสื่อมดีขึ้น
วิธีการคำนวณน้ำหนักเกิน ให้ดูที่ดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) โดยใช้น้ำหนักตัวเป็นตัวตั้ง หารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ถ้าอยู่ในช่วง 18 – 23 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอเหมาะ อีกวิธีในการคำนวณน้ำหนักเกินแบบง่ายๆ คือ เอาความสูงลบด้วย 100 ถ้าน้ำหนักตัวมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ก็แสดงว่าน้ำหนักเกิน
นอกจากนี้ แนะนำให้มีการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะข้อเข่า ด้วยการเหยียดขา 10 วินาที แล้วเอาลง ทำวันละ 20 รอบ รอบละ 20 ครั้ง ถ้ามีอุปกรณ์พยุงข้อ เช่น ใส่ปลอกหุ้มข้อ หรือ ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน จะช่วยทำให้เดินได้ดีขึ้น
- การรักษาโดยใช้ยา
ปัจจุบันมีการรักษาโดยการใช้ยา เช่น ยาบรรเทาอาการปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดอาการอักเสบ และยาฉีด ได้แก่ การฉีดน้ำไขข้อเทียม และการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นของผู้ป่วยเข้าไปในข้อเพื่อช่วยลดการอักเสบ ทำให้ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก ๆ มีอาการดีขึ้น
ถ้ามีอาการปวดข้อในระยะ 24 ชั่วโมงแรก ต้องประคบเย็น เพื่อให้ความเย็นไปบรรเทาอาการปวดจากการอักเสบ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วมีอาการปวดเรื้อรังขึ้นอีกควรจะประคบอุ่น ซึ่งจะทำให้เลือดไหลเวียนบริเวณนั้นได้ดีขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
วิธีการนี้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ข้อผิดรูป หรือมีอาการเจ็บปวดมากจนส่งผลต่อการทำงานและดำเนินชีวิต ทั้งนี้การผ่าตัดมีหลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเพื่อล้างข้อ เอาเศษกระดูกที่แตกหรือหลุดภายในข้อออก การผ่าตัดแก้ไขเปลี่ยนแนวกระดูกข้อที่ผิดรูปให้ตรง
วิธีสุดท้าย คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ข้อเข่าเทียมจะใช้ได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา
วิจัยพบ “วิตามินดี-อี” ช่วยลดอาการปวดข้อจริง
นอกจากจะศึกษากลไกการเกิดโรคแล้ว โครงการนี้ยังได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพของการเสริมวิตามินดี 2 ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 200 ราย ที่มารักษาที่แผนกกระดูกและข้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โดยให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีผลการตรวจวัดวิตามินดีในร่างกายต่ำกว่า 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร รับประทานวิตามินดี 2 (Ergocalciferol ขนาด 20,000 unit/เม็ด) สัปดาห์ละ 2 เม็ด เป็นเวลา 6 เดือน
ผลการศึกษาพบว่า วิตามินดี 2 ช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูก ช่วยในการก่อตัวของแร่ธาตุ แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสเฟตที่กระดูก ที่สำคัญวิตามินดียังทำงานร่วมกับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนเพื่อช่วยดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ และกระตุ้นการดูดกลับของแคลเซียมที่ไต ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น จึงช่วยในการสร้างกระดูกให้แข็งแรงขึ้นจริง นอกจากนี้วิตามินดียังช่วยให้สมรรถภาพของกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น สามารถทำงานได้ดีขึ้น
ส่วนการให้วิตามินอีเสริมกับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจะช่วยเสริมสมรรถภาพกระดูกด้วยหรือไม่นั้น ทีมวิจัยได้ทดลองให้ผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างรับประทานวิตามินอีเป็นเวลา 2 เดือน พบด้วยว่า วิตามินอี มีส่วนช่วยลดสารอนุมูลอิสระ ทำให้อาการเจ็บปวดข้อลดลง การใช้งานของข้อดีขึ้นจริง
กลุ่มใดควรได้รับวิตามินเสริม
1. ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี เช่น ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์
2. ผู้ป่วยโรคกระดูกบาง กระดูกพรุน
3. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
4. ผู้ป่วยโรคลำไส้บางชนิดที่ส่งผลให้การดูดซึมวิตามินดีทางลำไส้บกพร่อง
5. ผู้ที่มีความบกพร่องในการย่อยสลายและดูดซึมไขมัน (เนื่องจากวิตามินดีละลายได้ในไขมัน) ทำให้ดูดซึมวิตามินดีได้ลดลง เป็นต้น
สำหรับปริมาณวิตามินดีที่แนะนำคือ 400 - 600 IU/วัน วิตามินอี แนะนำปริมาณ 40 - 200 IU/วัน ทั้งนี้ปริมาณที่แนะนำจะแตกต่างกันตามวัยและภาวะร่างกายของแต่ละบุคคล ดังนั้นการเสริมวิตามินดี หรือวิตามินอี ควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
“โรคข้อเข่าเสื่อม” สามารถป้องกันได้เพียงเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งยอง ๆ หรือการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ และควรเสริมสมรรถนะให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย อย่างว่ายน้ำ เดิน หรือปั่นจักรยานเบา ๆ ควบคู่ไปกับการควบคุมน้ำหนักตัว เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถชะลอโรคข้อเสื่อมไปได้อีกนาน
จุฬาฯ วิจัยนวัตกรรมปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ รักษาเบาหวานในสัตว์เลี้ยงสำเร็จ!
สปสช.ชวน "สูงวัย" ตรวจภาวะกระดูกพรุน ลดเสี่ยงพลัดตกหกล้ม