ไขปมบริษัทไทยผู้นำความยั่งยืน แต่ CPI ไม่ขยับ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้ดัชนีคอร์รัปชัน หรือ CPI ของไทยปีที่แล้วจะมีค่าคะแนนดีขึ้น 1 คะแนนแต่หากมองภาพรวมต้องยอมรับว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทยยังไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่บริษัทเอกชนของไทยจำนวนมากกลับติดอันดับบริษัทที่มีความยั่งยืนของ S&P Global ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร และสะท้อนอะไร

ถือเป็นข่าวดีของภาคเอกชนไทย เมื่อการประเมินอันดับด้านความยั่งยืน โดย S&P GLOBAL ปีล่าสุด 2023 พบว่า มีบริษัทเอกชนถึง 12 บริษัท ติดอันดับความยั่งยืน ระดับ GOLD CLASS มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า นี่เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุน เพราะการประเมินอันดับด้านความยั่งยืน ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญ ที่นักลงทุนจะใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน 

ดัชนีคอร์รัปชัน 2022 ไทยคะแนนกระเตื้อง แต่ยังหนีไม่พ้นอันดับหลักร้อย

รู้จัก SLAPP ฟ้องปิดปาก อุปสรรคต้านทุจริต

แต่เมื่อมาดูคะแนนดัชนีการรับรู้ทุจริต หรือ CPI ของปี 2565 ที่เพิ่งมีการรายงานเมื่อต้นปีนี้ ก็พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 101 ของโลก ได้ 36 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 คะแนน ซึ่งในปีที่ผ่านๆมา หากย้อนกลับไปดูคะแนน CPI ของไทยไม่เคยเกินจากนี้ จึงมีการตั้งคำถามว่า ทำไมการประเมิน อันดับด้านความยั่งยืน บริษัทเอกชนไทย ติดอันดับ 1 ของโลก แต่ค่าคะแนน CPI กลับไม่กระเตื้อง

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) อธิบายว่า การประเมินทั้ง 2 ประเภทนี้ มีความแตกต่างกัน เช่น การประเมินอันดับด้านความยั่งยืนจะประเมินบริษัทเอกชน โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม แต่การประเมินคะแนน CPI จะประเมินเรื่องความโปร่งใสของภาครัฐ ซึ่งแม้การประเมินอันดับด้านความยั่งยืน พบว่า บริษัทเอกชนรับผิดชอบต่อสังคมในเกณฑ์ดี แต่การทุจริตในประเทศ ไม่ได้มีแค่กรณีภาคเอกชนติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือยอมจ่ายเมื่อถูกรีดไถ แต่การทุจริตในประเทศ ยังมีอีกหลากหลายกรณี

อีกปัจจัยก็คือ บริษัทเอกชนมีเจ้าของ ผู้ถือหุ้นคอยรักษาผลประโยชน์ และมีการตรวจสอบที่รัดกุม แต่ในภาครัฐแทบไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ยังแก้ไขปัญหาทุจริตไม่ได้ ซึ่งในมุมมองของเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินทำธุรกิจของภาคเอกชน ที่รับผิดชอบต่อสังคม ก็จะทำได้ยากมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้นักลงทุนรู้สึกขาดความมั่นคง และคิดหนัก เมื่อจะมาลงทุน โดยเฉพาะต้นทุนที่คาดไม่ถึงจากการทุจริตของนโยบายรัฐ

ข้อเสนอ ถึงการเพิ่มคะแนน CPI จากเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในระยะสั้น คือ การกิโยตินกฎหมาย ที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ไม่เอื้อต่อภาคธุรกิจ ซึ่งถือว่า มีความคืบหน้าไปมากจากความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มความโปร่งใสของภาครัฐ ในการดำเนินนโยบาย การใช้งบประมาณ และการลดใช้ดุลยพินิจ ส่วนในระยะยาวโจทย์ใหญ่คือ การแก้ไขระบบอุปถัมภ์ ที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง เชื่อมั่นว่า ไทยนั้นทำได้ เพราะประชาชนตื่นรู้ แต่ต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป.

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ