สถานการณ์การเมืองไทย เริ่มกลับเข้าสู่ความไม่แน่นอนอีกครั้ง หลังการยื่นคำร้องของตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐถึงพรรคเพื่อไทย ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญในข้อหาร้ายแรงต่าง ๆ ถึง 6 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร ไปจนถึงกรณีที่อ้างว่าพรรคเพื่อไทยล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยถูกตัดสินให้ยุบพรรคเพราะกรณีนี้มาแล้ว ทำให้อนาคตของพรรคเพื่อไทยถูกตั้งคำถามว่าจะมีชะตากรรมแบบเดียวกันหรือไม่
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวในรายการคุยข้ามช็อต Exclusive Talk ไว้อย่างน่าสนใจ
เตรียมแพ็กกระเป๋า “เที่ยวคนละครึ่ง” มาแน่!! แจกอีกคนละ 2,000 บาท
"ทนายตั้ม" แจ้งเอาผิดข้อหาหนัก 6 บอสใหญ่ธุรกิจดัง! แง้ม 4 คนติดคุกแน่
ดูบอลสด คิงส์คัพ ครั้งที่ 50 ไทย พบ ฟิลิปปินส์ 11 ต.ค.67
ประเด็นเข้าข่ายล้มล้างการปกครองมีแค่ข้อเดียว
ผศ.ปริญญา กล่าวว่า วิธีการยื่นคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ใช้ทักษะในการร้องเรียนมากข้อหา มากประเด็น และคาดหวังว่าต้องเข้าสักเรื่องหนึ่งเป็นอย่างน้อย ส่วนตัวมองว่ามีบางกระเด็นที่พรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ต้องเหนื่อยในการไปแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้
จากการวิเคราะห์ทั้ง 6 ข้อโดยรวมแล้ว ข้อที่เข้าข่ายล้มล้างระบอบการปกครองมีเพียงข้อ 1 ข้อเดียว คือการที่นายทักษิณระหว่างได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ ไม่ได้อยู่เรือนจำ แต่อยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ จากนั้นได้รับการพักโทษ ทำให้ด้วยความที่กรมราชทัณฑ์ไม่ทำให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมว่านายทักษิณป่วยจริง จึงกระทบระเทือนไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
กรณีดังกล่าวมีการตั้งคำถาม พูดเรื่องการดีลกลับบ้าน ทำให้คนเชื่อมโยงไปถึงจุดนั้น ส่วนข้ออื่น ๆ ไม่เป็นการล้มล้างระบอบการปกครอง เช่นข้อ 2 กรณีการเจรจาเรื่องเขตทับซ้อนกับนายฮุน เซน ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาฝ่ายการเมืองมีอำนาจมากกว่าฝ่ายสถาบัน การที่นายทักษิณไปคบหากับฝ่ายการเมืองกัมพูชา เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันของเรา ในข้อนี้ถือเป็นเรื่องที่เบา เป็นต้น
ส่วนเรื่องที่ไปร่วมกับพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชนในปัจจุบัน) และพรรคก้าวไกลเคยโดนวินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครอง ทำให้พรรคเพื่อไทยเข้าข่ายล้มล้างการปกครองไปด้วย จุดนี้ก็ไม่ค่อยถึง ขณะที่ข้อ 4, 5, 6 เป็นเรื่องของการชี้นำ ครอบงำพรรค โดยเฉพาะข้อ 4 กรณีเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าคุยเรื่องการจัดตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อหาที่นำไปสู่การยุบพรรคได้ เพียงแต่ต้องไปร้องเรียนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ส่วนเหตุผลที่รวมยื่นเรื่องล้มล้างการปกครองที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ยื่น กกต. เพราะสามารถยื่นถึงศาลได้โดยตรง ไม่ต้องรอ กกต.ดำเนินการวินิจฉัยภายใน 15 วัน
ข้อ 1 รอดได้ถ้าป่วยจริง หวั่นข้อ 2 - 6 ประกอบกันแล้วหนัก
นายสมชัย กล่าวว่า ต้องตีความ ตีขอบเขตความหมายของคำว่าล้มล้างการปกครองก่อน ถ้าตีความแบบแคบอาจจะตีความแบบที่พรรคประชาชนระบุว่า การล้มล้างมีเพียงการนำปืนออกมา นำรถถังออกมา รัฐประหารคือการล้มล้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทว่าในมุมของศาลรัฐธรรมนูญ เพียงมีพฤติกรรมเซาะกร่อนบ่อนทำลายบางอย่าง ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแล้ว
ตรงนี้เป็นประเด็นที่น่ากลัวมากขึ้น ถ้าศาลใช้แนววินิจฉัยที่กว้างเช่นนี้ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน เชื่อว่ามีโอกาสรับพิจารณาสูง ซึ่งศาลก็ถือว่าต้องปกป้องสถาบัน หากปัดตกไปเลยก็จะผิดวิสัยของศาล เบื้องต้นจึงคิดว่าโอกาสที่ศาลจะรับพิจารณาไว้ก่อนมีสูง
ในส่วนประเด็นการร้องเรียนทั้ง 6 ข้อ ข้อ1 มองว่าหนักสุดจริง เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ต้องโทษเหลือ 1 ปี แต่นายทักษิณก็ใช้วิธีการหลายต่อหลายอย่างทำให้ตนเองไม่ต้องเข้าคุกแม้แต่วันเดียว ในจุดนี้ตนมองว่านายทักษิณพลาดเกินไป มีอำนาจมากเกินไป และชะล่าใจเกินไป
ซึ่งถ้านายทักษิณสามารถพิสูจน์ได้ว่าป่วยจริง จบ ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าหากว่าไม่ได้ป่วยจริง ไม่ได้โคม่า ไม่ถึงขนาดที่ว่าไม่สามารถรักษาในสถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ได้ จะเหนื่อยตั้งแต่นายทักษิณ ไปจนถึงพรรคเพื่อไทย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
นายสมชัย กล่าวต่อว่า พฤติกรรมของนายทักษิณนั้น เมื่อพิจารณาจากคำว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแล้วนั้น ทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นในเรื่องของการขัดพระบรมราชโองการ และใช้วิธีการทางการเมืองทำให้เข้าไปเกิดผล
ส่วนข้อ 2 - 6 นั้นต้องระวังให้ดี เพราะบางข้อหากมองแบบผิว ๆ สามารถตัดทิ้งได้ เช่น ข้อ 2 ที่แบ่งผลประโยชน์กับกัมพูชา ทุกอย่างเป็นเพียงความคิด ยังไม่เกิดขึ้น แต่หากไปประกอบกับข้อ 6 คำพูดของนายทักษิณ ที่ระบุว่าจะต้องเอาผลประโยชน์ประเทศมาก่อน พรมแดนไว้ที่หลัง หลังจากนั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไปรับลูก ทำให้เมื่อมาประกอบกันแล้ว ข้อ 6 คือการครอบงำพรรค ส่วนข้อ 2 คือการเสียเอกราชในเชิงของอธิปไตยทางด้านพรมแดน
ส่วนข้อ 3 ตนมองว่าเป็นเรื่องที่เบาที่สุด คือเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคก้าวไกล อดีตพรรคประชาชน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายถอยไปแล้ว จุดนี้ตนจึงคิดว่าเบาที่สุด
ฝ่ายค้านไม่น่ากลัวเท่าฝ่ายแค้น เข้าเพียง 1 จาก 6 ข้อก็เป็นเรื่อง
ผศ.ปริญญา กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าพรรคฝ่ายค้านไม่น่ากลัวเท่ากับพรรคฝ่ายแค้น โดยพรรคประชาชนที่เป็นฝ่ายค้านไม่ทำนิติสงคราม ไม่เห็นด้วยกัลการยุบพรรคการเมืองโดยง่ายเกินไปเช่นนี้ ซึ่งการยุบพรรคง่ายเกินไปแบบนี้เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือของประชาชน ที่สร้างนโยบายเลือกนายกฯ ผ่านการเลือกพรรคการเมือง
เวลาที่เราเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เราเลือกโดยตรงไม่ได้ ต้องมีพรรคการเมืองมาเสนอว่าที่นายกฯ การกำหนดนโยบายก็ต้องผ่านพรรคการเมืองที่เสนอมา พอชนะการเลือกตั้งก็เท่ากับว่าประชาชนสามารถเลือกนายกฯ และสร้างนโยบายผ่านการเลือกพรรค
ผศ.ปริญญา กล่าวต่อว่า ประเด็นอยู่ที่ การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีอยู่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือส่วนที่เป็นระบอบการปกครอง อีกส่วนคือพระมหากษัตริย์ ซึ่งในข้อ 1 จะไปกระทบกับส่วนที่เป็นพระมหากษัตริย์ ส่วนข้ออื่น ๆ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างกว้าง ว่าเข้าข่ายเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องได้
หรือต่อให้ศาลยกคำร้องในข้ออื่น ๆ เช่น ข้อ 4 - 6 แม้ว่าจะวินิจฉัยว่าเป็นการครอบงำพรรค ไม่เกี่ยวกับล้มล้างการปกครองแต่เข้าข่าย ในส่วนนี้ กกต.ก็ต้องดำเนินการยุบพรรคแล้ว เนื่องจากการควบคุมครอบงำโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคนั้นสามารถเป็นเหตุในการยุบพรรคได้ ซึ่งทั้ง 6 ข้อนั้น ขอแค่เข้าเพียงสักเรื่องเดียวก็ถือว่าเป็นเรื่องแล้ว
บุคคลครอบงำพรรค เสี่ยงคุก 10 ปี
นายสมชัย กล่าวว่า กรณีการครอบงำพรรคการเมืองนั้น ฝั่งพรรคการเมืองถ้าพรรคไหนยอมให้บุคคลนอกมาครอบงำ กรรมการบริหารพรรคก็จะถูกตัดสิทธิ์ พรรคก็ถูกยุบ แต่ถ้าในแง่ของบุคคลที่มาครอบงำพรรค บุคคลนั้นก็จะมีความผิดทางอาญา จำคุก 10 ปี เป็นการประสงค์ต่อผล
ในช่วงหลังมานี้จะเห็นว่านายทักษิณ โลว์โปรไฟล์เยอะ แตกต่างจากในช่วงแรกที่ออกมาพบปะผู้คน ชี้นำนู่นนี่ แสดงวิสัยทัศน์ แต่ในช่วงหลังมานี้อาจมาจากการที่หลาย ๆ คนเริ่มทักท้วง หรือเริ่มระแคะระคายว่าอีกฝ่ายหนึ่งเตรียมดำเนินการต่าง ๆ เอาไว้แล้ว
นายสมชัย กล่าวต่อว่า การเตรียมเอกสารกว่า 500 หน้านั้นต้องใช้เวลาเตรียมการเท่าไร ในส่วนของประชาชนอาจแม้ไม่ระแคะระคาย แต่ตนเชื่อได้เลยว่าความพยายามในการเตรียมเอกสารกว่า 500 หน้านั้นต้องใช้เวลานานทีเดียว เพราะฉะนั้นตนเชื่อได้ว่านายทักษิณก็รู้เหมือนกันว่าอีกฝ่ายเตรียมจะเล่นงานตน
พรรคเพื่อไทยมีโอกาสสู้ มอง "ทักษิณ" ประมาท
ผศ.ปริญญา กล่าวว่า การต่อสู้ครั้งนี้อยู่ในโหมดสงครามจากการจัดกระบวนทัพของแต่ละฝั่ง ทีนี้สงครามครั้งนี้เป็นนิติสงคราม และผู้ที่จะล้มตายไม่ใช่ไพร่พล แต่เป็นหัวหน้าใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนโอกาสที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถรอมชอม ประณีประนอมกันได้อยู่นั้น เชื่อว่าก่อนหน้านี้มีโอกาส แต่เมื่อยื่นคำร้องซึ่งเหมือนการกดปุ่ม Start ไปแล้วเหมือนกระบวนการเดินหน้าไปเล้ว ก็ไม่ทราบ
หากถามว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสสู้ไหม ตนมองว่ามีโอกาส เช่น คำร้องประเด็นที่ 1 หากนายทักษิณสามารถพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าป่วยจริง ก็จบ แต่ที่น่าหนักใจคือต้องไปแก้รายงานของกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ยื่น ป.ป.ช. เกี่ยวกับข้อที่เคลือบแคลงสงสัยในกรณีดังกล่าว แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็จะลำบาก
ซึ่งกรณีชั้น 14 ต่อให้ศาลยกคำร้องก็เสียหายมากแล้ว ยิ่งถ้าศาลให้ไต่สวนข้อเท็จจริงขึ้นมา ให้เอาทั้งแพทย์ ผอ.โรงพยาบาบาลตำรวจ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส มาสอบสวนมาพิสูจน์
ส่วนนายทักษิณเองก็ประมาท เหมือนรอเวลาให้ผ่านไปครบ 6 เดือนแล้วกลับบ้านทันที ซึ่งตามสิทธิของผู้ป่วยนั้นหากป่วยจริงจะอยู่กี่วันก็อยู่ไป หากสถานพยาบาลของเรือนจำรักษาไม่ได้ แต่พอจังหวะพอดีกันเป๊ะ ๆ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความสงสัย อีกทั้งหลังจากที่ออกมาก็มีการใส่ปลอกคอไม่นาน ยิ่งทำให้สงสัยว่าอาการป่วยหายเร็วเกินไป สรุปคือถ้านายทักษิณทำให้หายสงสัยได้ ข้อ 1 ก็หลุด
ในส่วนของการควบคุม ครอบงำนั้น ถ้าถ้อยคำเป็นควบคุม ครอบงำ สั่งการ โอกาสหลุดก็มีมากหน่อย แต่พอเป็นควบคุม ครอบงำ ชี้นำ คำว่าชี้นำนั้นกว้าง พรรคเพื่อไทยและนายทักษิณตอนนี้ก็เหมือนกับอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าศาลทั้ง 5 จาก 9 ท่าน จะออกเสียงเหมือนเดิมกับตอนที่ประกาศให้นายเศรษฐาพ้นตำแหน่ง เป็นแบบใดก็จะเป็นแบบนั้น พรรคก็ต้องสู้ต่อไปหลังจากนี้
ศาลฯ รับคำร้อง สะเทือนยันภาคเศรษฐกิจ หวั่นการเมืองอึมครึม
นายสมชัย กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ ถ้ารับก็ถือว่าเกิดความเสียหายแล้ว ทั้งในแง่ของตัวรัฐบาลเองก็ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง เสียสมาธิในการทำงาน ในแง่ของชาวต่างชาติ และนักลงทุนต่างชาติ นักธุรกิจต่าง ๆ ก็จะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจแล้วว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อเนื่องต่อไปหรือไม่ เพราะฉะนั้นความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้คนมาลงทุนมากขึ้น ก็จะหายไป
ต่อมาเมื่อรับคำร้องเสร็จแล้ว ในกรณีที่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงขึ้น หลายต่อหลายเรื่องที่ยังเป็นปริศนาอยู่ในเงามืด ไม่มีใครรู้ ศาลก็ใช้อำนาจของตนเองในการเรียกตัวบุคคล เรียกเอกสาร ข้อเท็จจริง หลักฐานต่าง ๆ มาดู เพราะฉะนั้นด่านแรกที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับนั้นเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูให้ดี ถ้ารับก็จะเหนื่อย ไม่ว่าจะตัดสินช้าหรือเร็ว ถ้ารับแล้วจบเร็วยังถือว่าดีกว่า แต่ถ้ายื้อไว้ 6 เดือน - 1 ปี จะทำให้การเมืองอึมครึม
ในกรณีที่ไม่ผิด แม้จะจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่จบในขั้นของ กกต. เพราะการครอบงำพรรคนั้นไม่ได้แปลว่ายังร้องไม่ได้ สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสำนวนดังกล่าว ที่เป็นเรื่องซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าครอบงำ ก็ยังสามารถไปร้องเรียน กกต. ได้ และหาก กกต. เห็นว่าเป็นความผิดตาม พรป.พรรคการเมือง ก็จะมีคำสั่งยุบพรรค และผู้ที่ครอบงำพรรคการเมืองก็จะโดนคดีอาญา
นายสมชัย ทิ้งท้ายว่า ความชะล่าใจ ความรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ ความรู้สึกที่ว่าตัวเองได้เป็นรัฐบาลแล้วนั้น ทำให้กล้าตัดสินใจในหลายต่อหลายเรื่อง โดยที่ไม่เกรงใจผู้คน ไม่เกรงใจสังคมว่าจะคิดอย่างไร ประกอบกับในช่วง 6 เดือนนั้นไม่มีอะไรให้ประชาชนได้รับรู้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมมองว่าไม่เหมาะสม ดังนั้น กรณีทั้งหมดมาจากการที่นายทักษิณวางใจมากเกินไป ทำตามใจตัวเองมากเกินไป