นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เสียงจากใจ ไทยคู่ฟ้า” วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ถึงประเด็นข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลว่า ในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา มีการล่าอาณานิคมด้วยการเดินทางทางเรือ และเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคทั่วโลก และตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ. 125 โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก มีการผนวกดินแดนที่เรียกว่าประเทศอินโดจีน
ส่วนฝั่งตะวันตกมีการผนวกดินแดนที่เรียกว่าสหราชอาณาจักร หรือประเทศอังกฤษในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยนั้นอยู่ตรงกลาง และเมื่อถูกประชิดติดชายแดนก็ต้องเจรจา ซึ่งในสมัยนั้นประเทศไทยได้เสียดินแดนฝั่งตะวันออกที่ใกล้กับจังหวัดสระแก้ว
และต่อมาในปี 2499 มีการลงนามสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือเกาะกูด และเมืองตราด รวมถึงเกาะต่าง ๆ ภายใต้แหลมสิงห์ ลงมาจนถึงเกาะกูด
ซึ่งสัญญาฉบับดังกล่าว ยังยืนยันแลกมณฑลบูรพา ได้แก่ เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ของสยามให้กับฝรั่งเศส และภายหลังกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส จึงเป็นกลายเป็นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ที่อ้างอิงตามเส้นเขตแดนตามสัญญาฉบับดังกล่าว
ดังนั้น เกาะกูดจึงเป็นของไทยตลอดมา ไม่ได้เป็นพื้นที่ทับซ้อนให้ได้ถกเถียงกันในปัจจุบัน
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชายแดนที่ อ.เกาะกูด จ.ตราด วันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 โดยมี 2 ประเด็นคือ
- จะเดินทางไปยังหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กองทัพเรือ เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ ดูแลทุกข์สุขกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ที่อยู่เฝ้าชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกูด
- เพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าเราเป็นเจ้าของเกาะกูด ประเทศไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด และบนเกาะกูดเป็นเขตอธิปไตยของประเทศไทย มีหน่วยราชการและประชาชนอาศัยอยู่ด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจและมั่นใจขึ้น โดยจะเดินทางไปพร้อมกับปลัดกระทรวงกลาโหมและเสนาธิการกองทัพเรือ