29 ม.ค. 68 รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยในรายการเปิดโต๊ะข่าว PPTV HD36 ถึงประเด็นการเลือกตั้งนายก อบจ. 2568 ในวันที่ 1 ก.พ. 68 ที่ใกล้จะถึงนี้ จากสัญญาณการแข่งขันระหว่าง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัวแทนพรรคเพื่อไทย และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย
รศ.โอฬาร มองว่า เป็นธรรมชาติทางการเมือง ที่ในสนามการแข่งขันต้องต่อสู้ฟาดฟันกัน ต้องใช้สำนวนโวหารต่าง ๆ ที่ทำให้ตัวเองได้เปรียบ แต่ในการทำงานร่วมกับรัฐบาลก็ต้องอยู่ในสภาพนี้ อาจไม่เห็นพ้องต้องกัน มีเรื่องบาดหมางกัน แต่ก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ในการเป็นพรรคร่วมเอาไว้
ส่วนการปราศรัยหลายพื้นที่ที่มีความเข้มข้นนั้น รศ.โอฬาร มองว่า เป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคสีแดง กับพรรคที่ดูเหมือนไม่มีสี แต่ได้แรงหนุนมาจากพรรคสีน้ำเงิน ซึ่งมีจุดแข็งคนละอย่าง เช่น พรรคเพื่อไทย มีความได้เปรียบจากคะแนนนิยมของนายทักษิณ จากฐานพี่น้องเสื้อแดง จากกลไกของรัฐบาลที่ส่งต่อผ่านนโยบาย เช่น นโยบายเงินหมื่น จึงสามารถใช้เป็นยุทธศาสตร์ให้คนตัดสินใจเลือกนายก อบจ. ของพรรคเพื่อไทย
ในขณะเดียวกัน พรรคสีน้ำเงิน แม้จะประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุนใครลงสมัคร แต่ในทางการเมืองก็เป็นที่จับตามองเพราะจุดแข็งของเขาคือ มีกลไกอำนาจรัฐที่ผ่านกระทรวงมหาดไทย จึงสร้างความได้เปรียบให้แก่กลุ่มนี้ เช่นเดียวกับที่นายทักษิณไปปราศรัยที่จังหวัดทางภาคอีสาน ที่มีการล็อคตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านจากอำนาจเหล่านี้ แสดงว่าสองสีนี้ต่อสู้กันอย่างเข้มข้น
รศ.โอฬาร กล่าวต่อว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลในอดีต สามารถมีตัวแทนได้หลายจังหวัด เพราะในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นเขาส่งตัวแทนแทบทุกจังหวัด ซึ่งถ้าดูสถานการณ์ว่าพรรคส้มมีโอกาสไหม ต้องดูเงื่อนไข 3 ประการ คือ
- เขตพื้นที่ชุมชนเมืองหรือหมู่บ้านจัดสรรมากแค่ไหน
- สส. ในจังหวัดและขบวนของพรรคประชาชนในการทำงานท้องถิ่นมีเอกภาพแค่ไหน
- การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในเขตรอบนอก ทำได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน
ถ้า 3 อย่างนี้ทำได้เต็มที่ก็มีโอกาสมาก ซึ่งจากที่ตนติดตามข้อมูลจากภาคตะวันออก เห็นว่าบางจังหวัดส้มก็พอสู้ได้ เช่น ระยอง นครนายก เพราะอดีตนายก อบจ. ที่เคยอยู่ขั้วตระกูลทางการเมืองต่างๆ มาอยู่พรรคประชาชน แต่จังหวัดอื่น ๆ ตนยังไม่ค่อยเห็นโอกาสของนายกอบจ.พรรคส้ม แม้กระทั่งจังหวัดตราดที่เขาหมายมั่นปั้นมือว่าจะชนะเลือกตั้ง
รศ.โอฬาร ระบุว่า ปัจจัยต่าง ๆ เช่น เลือกตั้งวันเสาร์ หรือการไม่มีเลือกนอกเขต ไม่มีล่วงหน้า จะมีผลให้พรรคส้มเสียคะแนนไปเยอะ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นประชาชนก็ไปใช้สิทธิ์ระดับต่ำอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง สส. แต่พอ กกต. กำหนดให้เป็นการเลือกตั้งวันเสาร์ มีผลแน่กับพรรคส้ม เนื่องจากประชาชนที่เลือกพรรคส้มจะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มชนชั้นกลาง วัยทำงาน
ซึ่งช่วงนี้มหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งมีการสอบกลางภาค นักศึกษาอาจจะไม่กลับบ้านเพราะต้องอ่านหนังสือ หรือคนที่ทำงานโรงงาน สถานประกอบการอาจไม่หยุดให้ ปัจจัยเหล่านี้ก็มีผลต่อพรรคส้มพอสมควร จึงไม่แปลกที่แกนนำพรรคส้มจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ เพราะทำให้เขาเสียโอกาสมากที่สุด
รศ.โอฬาร ยังกล่าวต่ออีกว่า หลังจากกรณีของ สจ.โต้ง หลายคนก็เห็นโอกาส เช่น สจ.จอย กับ พรรคเพื่อไทย ก็ใช้โอกาสนี้ล้มหรือปิดเกมตระกูลของวิลาวัลย์ ด้านพรรคประชาชนก็เลือกคนที่เก่ง คือ นายจำรูญ ซึ่งเป็นที่รู้จักในสังคม ทำงานช่วยเหลือประชาชนแนวหน้าของจังหวัดปราจีนบุรี เขาเห็นโอกาสเหมือนกันว่าสภาพการเมืองแบบนี้ น่าจะมีโอกาสอยู่บ้างจากต้นทุนของผู้สมัครที่นำมาลงในนามพรรคฯ
ในขณะเดียวกัน กำนันศักดิ์ ก็มีลักษณะการทำงานเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีเครือข่ายกว้างขวาง เป็นที่ยอมรับของนักการเมืองที่ยังนิยมทางการเมืองแบบนี้ ทำให้ทั้ง 3 พรรคนี้ ตนให้น้ำหนักอยู่ที่ตัวกำนันศักดิ์กับพรรคประชาชน ส่วนบ้านวิลาวัลย์อาจจะต้องถอยออกมาก้าวหนึ่งด้วยสถานการณ์ แต่จะหนุนใครก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งก็มีนักการเมืองจำนวนมากที่ยังต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจการเมืองแบบเดิม
ส่วน สจ.จอย ต้องยอมรับว่าน่าสงสารที่สามีมาเสียชีวิตกับเรื่องนี้ แต่หลายๆคนในพื้นที่ก็จะรู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างของ สจ.โต้ง เป็นพฤติกรรมที่บรรดานักการเมืองในจังหวัดไม่โอเค ถึงแม้จะมีแรงหนุนจากพรรคเพื่อไทย ถึงไม่มีวิลาวัลย์ แต่นักการเมืองหลายท่านก็ยังต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจแบบนี้ เนื่องจากลงตัวกันในผลประโยชน์ ทั้งการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งกำนันศักดิ์คือตัวแทนของเรื่องนี้ได้
ส่วนระบบที่ว่า เป็นเรื่องของโครงการการจัดการรับเหมาด้วยหรือไม่ รศ.โอฬารกล่าวว่า ใช่ เขาต้องการหาคนที่เข้าใจวิถีการเมืองท้องถิ่นแบบต่างจังหวัด จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราเห็นว่าพอมาโค้งสุดท้าย พรรคเพื่อไทยลืม สจ. จอยไป นายทักษิณ พรรคเพื่อไทย ไม่พูดถึง สจ.จอย เลย
รศ.โอฬาร กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องยอมรับว่าการเมืองท้องถิ่นในต่างจังหวัด มีสิ่งที่เรียกว่าธุรกิจการเมือง การที่เอาคนแปลกหน้าเข้าไปเปลี่ยนระบบจะกระทบโครงสร้างเยอะ คนที่ลงตัวกันแล้วในทางเศรษฐกิจการเมืองก็ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก จะกระทบต่อวิถีการทำงานของข้าราชการ วิถีจัดสรรผลประโยชน์ และวิถีทางการเมือง ซึ่งตนมองว่าพรรคส้มอาจจะชนะยากในสนาม อบจ. รอบนี้