จากกรณีประเด็นร้อน หลังจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องคุณสมบัติผู้ช่วยหาเสียง จนทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตุว่าอาจทำให้ทั้ง นายทักษิณ ชินวัตร, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะขาดคุณสมบัติจนนำไปสู่ใบแดง นายกอบจ.หรือไม่นั้น
ล่าสุดวันนี้ มีการงัดเอกสารเมื่อปี 2563 ออกมาโชว์ เพื่อยืนยันในเรื่องดังกล่าวว่า นายพิธา และนายธนาธร เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้
โดยย้อนไปช่วงการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อปี 2563 พรรคก้าวไกลได้เคยสอบถามทาง กกต. อย่างเป็นทางการในประเด็นดังกล่าวแล้วว่า "ผู้ช่วยหาเสียง" ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หมายถึง ผู้ช่วยหาเสียงต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉพาะในเขตเลือกตั้งอันเป็นท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นนั้น ๆ ใช่หรือไม่ โดย กกต. ตอบว่า “ไม่”
นอกจากนี้ กกต. เห็นว่า “ผู้ช่วยหาเสียง” เมื่อคำนิยามตามระเบียบฯ ไม่ได้มีการกำหนดว่าผู้ช่วยหาเสียง ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ผู้สมัครลงสมัครหรือต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ดังนั้น การแต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งอื่นเป็นผู้ช่วยหาเสียงย่อมกระทำได้
ดังนั้น เห็นได้ว่า เมื่อผู้ช่วยหาเสียงมีสถานะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งอื่นๆ (เช่น บุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. หรือมีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ) ก็ย่อมสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นในจังหวัดอื่น ๆ ได้เช่นกัน ตามแนวคำตอบข้อหารือของ กกต.
และนอกจากหนังสือตอบข้อหารือของกกต. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “เคลียร์ชัด! ผู้ช่วยหาเสียงไม่จำเป็นต้องมีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นก็ได้ เรื่องนี้ กกต. ตอบชัดแล้วตั้งแต่สมัยก้าวไกลเรื่องที่มีนักร้องไปร้องว่าผู้สมัครพรรคประชาชนและเพื่อไทยกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จากกรณีการตั้งผู้ช่วยหาเสียงที่ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ไปช่วยหาเสียงเรื่องนี้พวกเราได้ปิดช่องการตีความไปตั้งแต่สมัยพรรคก้าวไกลเรียบร้อยแล้ว
ตอนนั้นพรรคทำหนังสือสอบถามไปยัง กกต. ว่าผู้ช่วยหาเสียง ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายถึงผู้มีสิทธิในเขตนั้นๆ ที่มีการเลือกตั้ง หรือเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ใดก็ได้ ซึ่ง กกต.ตอบกลับมาแบบข้อหลังนะครับ ไม่อย่างนั้นก็คงต้องเช็คทะเบียนผู้ช่วยหาเสียงของแคนดิเดตทุกคนทั้ง 47 จังหวัดแล้วครับ ว่ามีใครไม่ได้เป็นคนในจังหวัดนั้นบ้าง ดังนั้น เรื่องนี้ไม่เป็นน่าหนักใจอะไร มั่นใจได้! ผู้สมัคร ผู้ช่วยหาเสียง โหวตเตอร์ เดินหน้าสู่วันเลือกตั้งเต็มที่ ขอให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์กันอย่างมั่นใจ เดินเข้าคูหาด้วยความแน่วแน่ และขอเป็นกำลังใจให้ผู้สมัครจากพรรคประชาชนทุกคน! อย่าหยุด เดินหน้าต่อในช่วงโค้งสุดท้าย!"
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ยังแสดงจุดยืนว่า เรื่องนี้อยู่ที่กกต.ตีความ โดยนายสมชัยโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า "ศรีธนญชัย กลับชาติมาเกิด เจอกับผู้รักษากฎ ที่อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง" ประเด็นการตีความระเบียบว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า คุณทักษิณ สามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงได้หรือไม่
เปิดระเบียบ กกต. ปี 2563 ข้อ 4 เขียนคำนิยาม “ผู้ช่วยหาเสียง”หมายถึง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ นิยาม “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง“ หมายถึง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแม้จะไม่มีการเขียนย้ำว่า ท้องถิ่นนั้น ๆ แต่ไม่สามารถตีความแบบกว้างสุดขอบฟ้า ว่า จะเป็นผู้มีสิทธิที่ท้องถิ่นไหนก็ได้ เพราะหากพิจารณาคำนิยามของตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ผู้สมัคร หัวหน้าหน่วยงาน หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น ก็ล้วนแต่ไม่มีเขียนว่า “ท้องถิ่นนั้น” แต่อย่างใด แต่การบังคับใช้ กม. ต้องเป็นท้องถิ่นใครท้องถิ่นมัน ไม่งั้น ”ยุ่งตายห่ะ“ ผู้สมัคร หัวหน้าหน่วยงาน หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น ต้องบังคับใช้ กม.เฉพาะท้องถิ่นใคร ท้องถิ่นมัน มิเช่นนั้น วุ่นวายแน่
มีหรือ ผู้สมัครหาเสียงข้ามพื้นที่ มีหรือ ผู้ว่าไปจุ้นจังหวัดอื่น มีหรือตำรวจจังหวัดหนึ่งไปจับซื้อเสียงอีกจังหวัดพิจารณาแค่นี้ ก็รู้แล้วว่า ระเบียบใช้บังคับท้องถิ่นใครท้องถิ่นมัน ผู้ช่วยหาเสียง จึงต้องเป็นคนในท้องถิ่น ที่จะช่วยแจกใบปลิว ถือป้าย พานำเข้าชุมชนที่เขาคุ้นเคย ไม่ใช่ใครจากส่วนกลาง ที่มาปราศรัยขายฝัน บ้า ๆ บอ ๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับท้องถิ่น ระเบียบ กกต. กกต.เป็นคนเขียนเอง เรื่องนี้ไม่ต้องถามกฤษฎีกาให้ตีความ ถ้าเขียนเองแล้วตอบไม่ได้ว่าหมายถึงอะไร ก็น่าสงสารแล้ว
ส่วนพรรคที่มีมือ กฎหมายใหญ่ หากตีความตะแบงแบบนี้ ก็สงสารประเทศไทย ยังโชคดีที่ไม่บอกว่า กฎหมายเขาไม่ได้เขียนให้ชัดว่า มีสิทธิเลือกตั้งชาติไหน ชาติไทยหรือชาติอื่น ชาตินี้หรือชาติหน้า ดังนั้น แม้ชาตินี้ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น ชาติหน้าเป็น ก็เป็นผู้ช่วยหาเสียงได้”
ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง อบจ.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า จริงๆแล้ว ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ดูเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้ว ครบถ้วน ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งผู้ช่วยหาเสียง เพรรคเพื่อไทยเดินสายหาเสียงทั้งภาคเหนือภาคอีสานหลายจังหวัด จนถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันเกือบสุดท้าย ยืนยันว่า การทำหน้าที่ผู้ช่วยหาเสียง ของนายทักษิณหรือตนหรือใครก็ตาม เป็นการดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีปัญหา อย่างที่นายสมชัย พยายามตีเขาหรือสร้างความสับสน
เรื่องนี้ ยังไม่ต้องพลิกดูกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ย้อนไปดูแนวปฏิบัติเดิม ในการเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ กรรมการบริหารมาตั้งคณะก้าวหน้า แล้วก็มาเป็นผู้ช่วยหาเสียง ในหลายจังหวัด จนสุดท้ายก็เลือกตั้งสำเร็จ และดำรงตำแหน่งครบวาระ ไม่เคยมีปัญหา ไม่เคยมีการสอบสวนใดๆจาก กกต.
"ดังนั้น ถ้านายสมชัยต้องการพื้นที่ทางการเมือง สังคมก็ต้องการพื้นที่ความรับผิดชอบ จากนายสมชัยด้วย ไม่ใช่นึกจะพูดอะไรก็พูด สร้างความสับสนและทำให้เกิดความเสียหาย"
นอกจากนี้นายณัฐวุฒิ ยังบอกว่าอีกว่า เลิกซะเถอะครับ ไอ้พวกที่หาเศษหาเลย กับผู้ช่วยหาเสียงจนกระทั่งจะตั้งข้อกล่าวหา โดยอาศัยคำว่าครอบงำทางการเมือง
ส่วนจะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ ออกมาบิดเบือนข้อมูลในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เบื้องต้น ฝ่ายกฎหมายของพรรคก็มีการตามเก็บข้อมูล แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ แต่สิ่งที่ตนอยากเรียกร้องคือความรับผิดชอบ และวุฒิภาวะ จากคนที่เป็นถึงอดีต กกต.
เมื่อถามว่านอกจากนายสมชัยแล้วยังมีนายไทกร พลสุวรรณ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ออกมาระบุว่าทักษิณ พาซวยจะทำให้ผู้สมัคร นายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทยได้ใบแดง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยืนยันเรื่องนี้ไม่ได้มีความผิด อยากให้สังคมตั้งสติ อย่าสนับสนุนวิธีการแบบนี้ เพราะคนบางกลุ่มพยายามอยากมีบทบาท พยายามสร้างประเด็นให้เป็นกระแส แต่ความจริงก็คือความจริง ความถูกต้องก็คือความถูกต้อง
เมื่อถามว่าสรุปแล้วใครจะพาซวย นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อย่าให้สังคมพลอยซวยไปด้วยแล้วกัน กับคนที่พยายาม จะยัดเยียดความซวยให้กับคนอื่น ทั้งที่เขาไม่ได้กระทำความผิด สังคมรู้เท่าทันและมองไปข้างหน้าดีกว่า สำหรับตนความพยายามหาเรื่องหาราวแบบนี้ วิญญูชนเขาไม่ทำกัน