สาเหตุ "รัสเซียบุกยูเครน” ไทม์ไลน์สรุปที่มาความขัดแย้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เรียบเรียงสาเหตุความขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน” ทะเลาะกันเรื่องอะไร ในวันที่หลายฝ่ายหวั่นจะเกิดสงครามโลก

ข่าวที่ได้ยินกันอย่างหนาหูในช่วงนี้ และนับเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับทั้งโลก คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน” เพราะหากเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธ นั่นหมายความว่าความขัดแย้งนี้ถูกยกระดับไปเป็น “สงคราม” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

นิวมีเดีย พีพีทีวี ไล่เรียงไทม์ไลน์เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีชนวนเหตุคุกรุ่นมาหลายปีแล้ว

รู้จัก! “ยูเครน” จุดยุทธศาสตร์ยุโรปตะวันออก

ความขัดแย้ง "รัสเซีย-ยูเครน" กระทบการค้าไทย 1.24 หมื่นล้านบาท

5 ผลกระทบใหญ่ทั่วโลกที่ "ต้องรู้" หากรัสเซียบุกยูเครน

โซเวียตล่มสลาย ยูเครนในยุคแรก

หากจะพูดถึงเรื่องนี้ ต้องย้อนความไปตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในปี 1949 อิทธิพลของรัสเซีย (สหภาพโซเวียตในขณะนั้น) เริ่มคุกคามมายังภูมิภาคยุโรป

ดังนั้น 12 ชาติตะวันตก คือ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ จึงร่วมกันก่อตั้ง “นาโต (NATO)” หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหาร ให้ประเทศสมาชิกให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกรณีที่สมาชิกถูกโจมตีด้วยอาวุธ

ทางฝั่งโซเวียต ก็ได้ก่อตั้ง องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact) ขึ้นมาในปี 1955 เพื่อตอบโต้นาโต เป็นพันธมิตรทางทหารในหมู่ชาติคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

ต่อมาในปี 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลายกระจายเป็นประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเอกเทศ หนึ่งในนั้นคือยูเครน และมีหลายประเทศที่หันเหจากวอร์ซอว์ไปเข้าร่วมกับนาโตแทน ส่วนยูเครนนั้นยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก

ในปี 1992 ยูเครนเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับนาโตอย่างเป็นทางการแม้ว่าจะยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก็ตาม โดยเลขาธิการของนาโตเดินทางมาเยือนเมืองหลวงเคียฟ ส่วนประธานาธิบดีคนแรกของยูเครน เลโอนิด คราฟชุก ก็เดินทางไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของนาโตในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เช่นกัน

ขณะนั้น รัสเซียยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จึงยังไม่ได้ให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของบรรดาอดีตประเทศในโซเวียต ประกอบกับยูเครนดำเนินนโยบายการทูต ด้วยสนธิสัญญาบูดาเปสต์ในปี 1994 โดยส่งมอบอาวุธสงคราม จรวดมิสไซล์ โครงสร้างพื้นฐานด้านอาวุธนิวเคลียร์ ให้กับสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เพื่อแลกกับการที่มหาอำนาจทั้งสาม “ต้องเคารพความเป็นอิสระและอธิปไตยและพรมแดนที่มีอยู่ของยูเครน”

ยูเครนในช่วงแรกจนถึงปี 2004 จึงอยู่ในระยะของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และเป็นช่วงที่ยังไม่มีความขัดแย้งเด่นชัดกับรัสเซีย

ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้จ่อ 100 เหรียญ จากความตรึงเครียด"รัสเซีย-ยูเครน"

ความหวาดระแวง ทำให้รัสเซียเริ่มแผ่ขยายอิทธิพล

ในช่วงหลังปี 1997 เป็นต้นมา มีประเทศยุโรปตะวันออกและอดีตส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตหลายประเทศ เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ทำให้รัสเซียเกรงว่า นี่เป็นแผนปิดล้อมตน จึงเริ่มแสดงท่าทีบางอย่างออกมา

ในปี 2004 รัสเซียส่งสัญญาณกลับว่า ต้องการแผ่อิทธิพลมายังยูเครน โดยในศึกเลือกตั้งปีดังกล่าว เป็นการสู้กันระหว่าง วิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน ซึ่งเชื่อกันว่ามีรัสเซียหนุนหลังอยู่ กับวิกเตอร์ ยุชเชนโก จากฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย

ศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนั้นยุชเชนโกถูกวางยาพิษจนล้มป่วย แต่ไม่เสียชีวิต ส่วนผลการเลือกตั้งยานูโควิชเป็นฝ่ายชนะ แต่มีข้อกล่าวหาว่าเขาโกงผลการเลือกตั้ง ประชาชนในยูเครนจึงออกมาประท้วงครั้งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ Orange Revolution” จนท้ายที่สุดมีการเลือกตั้งซ่อม และประกาศให้ยุชเชนโกเป็นฝ่ายมีชัย

เมื่อยุชเชนโกเป็นประธานาธิบดีก็ได้มีการผลักดันให้ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของนาโต จนได้รับสถานะ “ประเทศหุ้นส่วน” คือยังไม่ใช่สมาชิกนาโต แต่อาจได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในอนาคต และยังคงสถานะนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2009 เกิดวิกฤตพลังงานในยูเครนและประเทศยุโรปหลายชาติ เมื่อ แก๊ซพรอม บริษัทก๊าซของรัฐบาลรัสเซีย หยุดส่งก๊าซไปยังยูเครนอย่างกะทันหันในวันที่ 1 ม.ค. จนเกิดวิกฤตพลังงานในยูเครนและประเทศโซนยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางที่พึ่งพาท่อส่งก๊าซผ่านยูเครนเพื่อรับการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย

ภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติให้แก้ไขวิกฤต ยูเครนได้เจรจาข้อตกลงใหม่กับปูติน และยอมส่งก๊าซอีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค. เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของรัสเซียต่อประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง ที่ยังคงต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียจนถึงทุกวันนี้

เปิด 3 เส้นทาง รัสเซียอาจใช้บุกยูเครน หลังเจรจาการทูตไม่คืบ

รัสเซียสบช่อง ผนวกรวมไครเมีย

หลังจากพ่ายแพ่ให้กับยุชเชนโกไปก่อนหน้านี้ ยานูโควิชได้เป็นประธานาธิบดีในที่สุดในปี 2010

อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เชื่อกันว่า ยานูโควิชนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย หนึ่งในข้อบ่งชี้สำคัญคือ เขาปฏิเสธความร่วมมือกับสหภาพยุโรปเพื่อนำยูเครนเข้าสู่ข้อตกลงการค้าเสรีในปี 2013 โดยอ้างว่ามีแรงกดดันจากรัสเซียจึงไม่สามารถทำได้

การประกาศดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ทั่วประเทศยูเครนในเดือน พ.ย. 2013 จากความไม่พอใจที่ยานูโควิชแสดงท่าทีอยู่ฝ่ายรัสเซีย ถือเป็นการประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ Orange Revolution

การประท้วงครั้งนั้นประชาชนเรียกร้องให้ยานูโควิชลาออก ผู้ประท้วงเริ่มตั้งแคมป์ในจัตุรัสเมดันกลางเมืองหลวงเคียฟ ยึดอาคารของรัฐ รวมถึงศาลากลางเมืองเคียฟ และกระทรวงยุติธรรม

การประท้วงดำเนินข้ามปีไปจนถึงเดือน ก.พ. 2014 เกิดความรุนแรงระหว่างตำรวจและผู้ประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 รายในสัปดาห์เดียว กลายเป็นช่วงเวลาที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์หลังยุคโซเวียตของยูเครน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐสภายูเครนลงมติมีแผนถอดถอนยานูโควิชในวันที่ 22 ก.พ. แต่ก่อนจะถูกถอดถอนอย่างเป็นทางการ ยานูโควิชก็ได้ตัดสินใจหลบหนีไปยังรัสเซีย

รัฐสภายูเครนลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดยานูโควิชออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และตั้งรัฐบาลรักษาการชั่วคราว พร้อมตั้งข้อหายานูโควิชในข้อหาสังหารหมู่ผู้ประท้วงและออกหมายจับ

ทางด้านรัสเซีย เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน ก็ออกมาประณามว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลยูเครน ถอดถอนยานูโควิช เป็นการรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย และส่งทหารรัสเซียติดอาวุธมายังบริเวณคาบสมุทรไครเมียเกือบจะในทันที

ในเดือน มี.ค. 2014 ด้วยแรงกดดันจากกองทหารรัสเซียที่เข้าประชิดและควบคุมคาบสมุทร รัฐสภาไครเมียจึงมีมติให้แยกตัวจากยูเครนและเข้าร่วมกับรัสเซีย ทำให้รัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศได้สำเร็จ นับเป็นครั้งเดียวที่พรมแดนของประเทศในยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงโดยกองกำลังทหารตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

และแม้จะได้ไครเมียมาแล้ว รัสเซียก็ยังคงส่งกองกำลังรัสเซียประมาณ 40,000 นายมาอยู่ที่ชายแดนตะวันออกของยูเครน และเกิดการปะทะกันตามแนวชายแดนจนถึงปัจจุบัน บางครั้งกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่มีรัสเซียหนุนหลังก็ได้บุกโจมตีอาคารรัฐในเมืองต่าง ๆ ทางตะวันออกของยูเครน โดยรัสเซียปฏิเสธมาโดยตลอดว่า กองกำลังของตนไม่เคยข้ามฝั่งไปยังยูเครน

เดือน พ.ค. ปีเดียวกัน เปโตร โปโรเชนโก ซึ่งสนับสนุนแนวคิดตะวันตก หัวหน้าสภาธนาคารแห่งชาติของยูเครน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของยูเครน เขาส่งเสริมการปฏิรูป ซึ่งรวมถึงมาตรการในการจัดการกับการทุจริตและลดการพึ่งพารัสเซียในด้านพลังงานและการสนับสนุนทางการเงิน

ต่อมา ก.ย. 2014 ตัวแทนจากรัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ร่วมประชุมกันในเบลารุสเพื่อพยายามเจรจายุติความรุนแรงในภาคตะวันออกของยูเครน พวกเขาลงนามในข้อตกลงมินสก์ฉบับที่ 1 (Minsk I Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างยูเครนและรัสเซียในการยุติความรุนแรง โดยตกลงหยุดการยิงอาวุธ

รัสเซียชี้จะใช้การทูตแก้วิกฤตยูเครนต่อ

ความขัดแย้งไม่คลี่คลาย

แม้จะมีข้อตกลงแต่ปัญหาความขัดแย้งยังคงไม่คลี่คลาย และยังคงมีการปะทะตามแนวชายแดนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการลงนามข้อตกลงมินสก์ฉบับที่ 2 (Minsk II Agreement) แต่การยุติความรุนแรงก็ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน

ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน เหตุปะทะชายแดนยูเครน-รัสเซียทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 14,000 คน บาดเจ็บหลายหมื่นคน และผู้พลัดถิ่นมากกว่า 1 ล้านคน

ในขณะที่การต่อสู้ในภาคตะวันออกของยูเครนยังคงดำเนินต่อไป ระหว่างนั้นรัสเซียก็หาลูกเล่นใหม่ ๆ ในการโจมตียูเครน เช่น ใช้การโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้ง โดยโจมตีโครงข่ายไฟฟ้าของเมืองเคียฟในปี 2016 จนเกิดไฟดับครั้งใหญ่ หรือในปี 2017 ก็มีการโจมตีทางไซเบอร์ขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของยูเครน เช่น ธนาคารแห่งชาติและโครงข่ายไฟฟ้า

สื่อต่างประเทศรายงานว่า การโจมตียูเครนทางไซเบอร์จากรัสเซียยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน โดยการโจมตีครั้งล่าสุดมุ่งเป้าไปที่เว็บไซต์ของรัฐบาลในเดือน ม.ค. 2022

กระทั่งปี 2019 นักแสดง โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของยูเครน ในระหว่างการหาเสียง เซเลนสกีให้คำมั่นว่า จะทำให้เกิดสันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซียและยุติสงครามในภาคตะวันออกให้ได้

แต่ความพยายามในช่วงแรกของเขาชะงักไปพักหนึ่ง หลังอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สั่งลดความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ที่ส่งมายังยูเครน

ยูเครนขอเปิดประชุมกับรัสเซียภายใน 48 ชม.

ความขัดแย้งบานปลายครั้งใหญ่

สถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียบานปลายครั้งใหญ่ในเดือน เม.ย.  2021 หลังรัสเซียส่งทหารประมาณ 100,000 นายมายังชายแดนยูเครนโดยใช้ข้ออ้างว่า เพื่อซ้อมรบทางทหาร และช่วงปลายเดือนมีคำสั่งถอนทหารออกไปบางส่วน แต่ยังเหลืออยู่อีกหลายหมื่นนาย

ด้านเซเลนสกีเรียกร้องให้ผู้นำของนาโตกำหนดให้ยูเครนเข้าเป็นประเทศสมาชิก โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เน้นย้ำว่า "สหรัฐฯ มุ่งมั่นรักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนในการเผชิญกับการรุกรานของรัสเซีย” แต่ย้ำว่ายูเครนยังไม่บรรลุเงื่อนไขที่จำเป็นในการเข้าร่วมนาโต

ช่วงปลายปีในเดือน พ.ย. รัสเซียนำกำลังทหาร 100,000 นาย พร้อมรถถังและยุทโธปกรณ์ มาประชิดชายแดนยูเครนอีกครั้ง จนหลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดสงครามขึ้นมาจริง ๆ

ในเดือน ธ.ค. ประธานาธิบดีไบเดนต่อสายพูดคุยกับปูตินทางโทรศัพท์ เรียกร้องให้รัสเซียไม่รุกรานยูเครน โดยเตือนว่า “มีราคาที่ต้องจ่าย” หากจะทำเช่นนั้น

ด้านปูตินออกข้อเรียกร้องให้นาโตมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ยูเครนเป็นสมาชิกโดยถาวร และต้องถอนกำลังที่ประจำการอยู่ในประเทศที่เข้าร่วมนาโตหลังปี 1997 ทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ 14 ประเทศ โดยให้เหตุผลว่า กังวลว่านี่จะเป็นแผนของชาติตะวันตกในการโอบล้อมรัสเซีย ด้วยการนำประเทศยุโรปตะวันออกทั้งหมดเข้าเป็นสมาชิก

จนเมื่อเข้าปี 2022 สถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยผู้นำและนักการทูตจากสหรัฐฯ รัสเซีย และประเทศในยุโรป ได้มาพบกันหลายครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบ โดยกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียบอกเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ว่า รัสเซียไม่มีแผนที่จะบุกยูเครนอย่างแน่นอน

ในช่วงเวลานี้ หลายประเทศยังได้สั่งให้ประชาชนของตนที่อยู่ในยูเครนรีบเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น บ้างสั่งห้ามการเดินทางไปยูเครน และบ้างประกาศเปลี่ยนเส้นทางการบินของเครื่องบินพาณิชย์ ไม่ให้เข้าไปในน่านฟ้ายูเครน

ขณะที่ผู้แทนจากสหรัฐฯ และนาโตได้ตอบกลับข้อเรียกร้องของปูตินเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ระบุว่า “พวกเขาไม่สามารถห้ามยูเครนไม่ให้เข้าร่วมนาโตได้ แต่เต็มใจที่จะเจรจาในประเด็นเล็ก ๆ เช่น การควบคุมอาวุธ”

ส่วนในช่วงครึ่งเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปพยายามใช้นโยบายทางการทูต เพื่อลดความร้อนแรงของสถานการณ์ เช่น ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง และนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ ได้เดินทางไปเยือนทั้งมอสโกและเคียฟเพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจา

เผยภาพดาวเทียม รัสเซียเสริมทหารล้อมยูเครน “ไบเดน” ชี้ สถานการณ์ส่อเลวร้ายลง

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียจะดำเนินไปยังจุดที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือ “สงคราม” ก็ยังคงมีอยู่ โดยขณะนี้รัสเซียมีกองกำลังล้อมยูเครนอยู่ 3 ด้าน คือด้านตะวันออกที่มีการปะทะกับยูเครนมานานหลายปี ด้านใต้ที่ใช้พื้นที่ของไครเมียที่ผนวกรวมมาได้ และด้านเหนือซึ่งรวมกำลังกับเบลารุส

ขณะที่ทางฝั่งสหรัฐฯ เอง ประธานาธิบดีไบเดนสั่งเคลื่อนทหารสหรัฐ ไปยังโรมาเนีย และโปแลนด์ ซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครน เป็นกำลังสนับสนุน

ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซียเป็นเรื่องสำคัญระดับโลก ที่หากจบลงด้วยดี ก็นับว่าโลกหลีกเลี่ยงการสูญเสียและความพินาศครั้งใหญ่ไปได้ แต่หากสถานการณ์จบลงที่สงคราม ก็จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมกับโลกทั้งใบ โดยเฉพาะประชาชนในยูเครน เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ด่วน! ปูตินประกาศ “รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน” ชี้อาจต้องนองเลือด

ทองคำทะลุ 30,000 บาท ปรับดุเดือดครึ่งวัน 10 ครั้ง ตื่นรัสเซียบุกยูเครน

เรียบเรียงจาก Al Jazeera / NPR

ภาพจาก AFP / Shutterstock

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ