
ผู้นำยูเครน ยังคงร้องขอ “เขตห้ามบิน” แม้นาโต-สหรัฐฯปฏิเสธ
เผยแพร่
ตอนนี้กองทัพรัสเซียได้เปลี่ยนเทคนิคและยุทธศาสตร์การทำสงครามโดยหันไปใช้การโจมตีจากระยะไกลอย่างการโจมตีทางอากาศแบบไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายูเครนต้องร้องขอชาติตะวันตกให้ประกาศเขตห้ามบินหรือ No Fly Zone หรือถ้าประกาศเขตห้ามบินไม่ได้ สิ่งที่ยูเครนร้องให้ส่งเครื่องบินรบมาให้เพื่อใช้รับมือการโจมตีทางอากาศแทน จนถึงขณะนี้ทั้ง 2 เรื่องยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด
เจรจารัสเซีย-ยูเครนไม่คืบหน้าเป็นครั้งที่ 4 ไม่มีวี่แววสงครามยุติ
"ทองคำ-น้ำมันดิบ" พุ่งยกกระดาน หลังยูเครน-รัสเซีย เจรจาเหลวรอบ 4 หวั่นสงครามลากยาว
กรณีเรื่องเขตห้ามบิน หรือ No Fly Zone หลังเเลขาธิการนาโต ระบุว่า จะไม่ประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน ล่าสุดสหรัฐฯ และอังกฤษก็ออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันกับนาโต
No Fly Zone คืออะไร? และทำไมนาโตและชาติตะวันตกถึงไม่อยากประกาศใช้
เขตห้ามบิน (no-fly zone) หมายถึงบริเวณน่านฟ้าที่มีข้อกำหนดว่าห้ามอากาศยานบางประเภทบินผ่านเพื่อปกป้องพื้นที่ที่มีความเปราะบาง
ในทางการทหาร เมื่อประกาศเขตห้ามบินแล้ว บริเวณนั้นจะกลายเป็นพื้นที่หวงห้าม โดยห้ามเครื่องบินใช้น่านฟ้าเพื่อการโจมตี หรือการสอดแนม หากมีเครื่องบินรบบินผ่านน่านฟ้าดังกล่าว รัฐผู้ประกาศเขตห้ามบินอาจมีสิทธิในการสั่งยิงเครื่องบินด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงได้ และเมื่อประกาศเขตห้ามบินแล้ว ต้องมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการด้วย
ในกรณีของยูเครน หากนาโตประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน หมายความว่า กองกำลังทางทหารของนาโตจะเข้ามาดูแลและจัดการโดยตรงกับเครื่องบินรัสเซียที่ล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้ายูเครนและยิงเครื่องบินเหล่านี้ได้ตามความจำเป็น
ซึ่งหากนาโตทำแบบนั้น จะนับว่าเป็นการเปิดฉากสงครามทางอากาศอย่างเป็นทางการระหว่างนาโตกับรัสเซีย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นาโตหลีกเลี่ยงมาตลอด เนื่องจากไม่ต้องการให้สงครามขยายออกไปทั่วยุโรปและสหรัฐฯ
แต่ผู้นำของยูเครน ประธานาธิบดีเซเลนสกี ก็เรียกร้องให้นาโตประกาศเขตห้ามบินบนน่านฟ้ายูเครนหลายครั้ง รวมถึงเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังจากโรงพยาบาลเด็กในมาริอูโปลถูกโจมตีจากรัสเซีย
ไม่เฉพาะแต่ผู้นำประเทศที่ออกมาเรียกร้อง ประชาชนคนยูเครนหลายคนออกมาขอให้ชาติตะวันตกประกาศเขตห้ามบินเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ เวโรนิกา ดิดูเซนโก (VERONIKA DIDUSENKO) อดีตมิสยูเครน เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า นาโตและสหรัฐฯ ควรประกาศเขตห้ามบินเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม หรือถ้าประกาศปิดทั้งน่านฟ้าไม่ได้ อย่างน้อยก็ประกาศในจุดที่พลเรือนใช้เป็นเส้นทางอพยพเพื่อให้ผู้คนได้อพยพออกจากพื้นที่สงครามอย่างปลอดภัย
แม้ประธานาธิบดีหรือประชาชนจะขอร้องอย่างไร บรรดาพันธมิตรชาติตะวันตกก็ยังไม่ยินยอมทำตามการร้องขอให้ประกาศเขตห้ามบิน เนื่องจากกลัวสงครามขยายขอบเขต
เพราะประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เคยประกาศไว้ว่าหากชาติใดประกาศเขตห้ามบินจะถือว่าเป็นการประกาศศึกโดยตรงกับรัสเซีย
สหรัฐฯ-สหราชอาณาจักรเห็นชอบนาโต ไม่ประกาศเขตห้ามบิน
ล่าสุด หลังการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และอังกฤษ สองประเทศนี้มีจุดยืนเดียวกับเลขาธิการนาโต ทั้งคู่ยืนยันว่าจะไม่มีการประกาศเขตห้ามบิน โดยให้เหตุผลว่าจะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น
เพนตากอนชี้ส่งเครื่องบินรบให้ยูเครน สงครามอาจบานปลาย
ส่วนอีกเรื่องคือ การส่งเครื่องบินรบ MiG-29 ให้ยูเครนตามคำร้องขอของผู้นำยูเครน เมื่อวานนี้รัฐบาลโปแลนด์ประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์ของรัฐบาลว่าสามารถส่งเครื่องบินรบ MIG-29 ที่โปแลนด์มีถึง 23 ลำให้กับยูเครน โดยเครื่องบินรบรุ่นนี้นักบินยูเครนมีความเชี่ยวชาญในการบินมาก
โดยโปแลนด์จะโอนกรรมสิทธิ์เครื่องบินรบเหล่านี้ และส่งไปให้สหรัฐฯ ที่ฐานทัพ Ramstien ในรัฐไรน์แลนด์ของเยอรมนีซึ่งเป็นฐานทัพอากาศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐในทวีปยุโรป
ล่าสุดมีท่าทีจากโปแลนด์ออกมาบ้างแล้วว่าทำไมโปแลนด์ถึงคิดเช่นนี้ บาร์โตรสซ์ ซิโชกี ทูตโปแลนด์ประจำกรุงเคียฟได้ให้สัมภาษณ์ช่อง TVN 24 ว่าการประกาศเขตห้ามบินนั้นอาจทำให้สงครามยูเครนยุติเร็วขึ้น
สิ่งที่ชาติตะวันตกกำลังทำตอนนี้เป็นการยื้อสงครามซึ่งส่งผลให้ความเสียหายมากกว่าเดิม ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯ หลังการออกมาประกาศของรัฐบาลโปแลนด์ จอห์น เคอร์บี้ โฆษกเพนตากอนก็ได้ทวิตข้อความว่าแผนของโปแลนด์เป็นแผนที่ไม่เหมาะสมและอาจลากนาโตและสหรัฐฯเข้าสู่การเผชิญหน้ากับรัสเซีย
ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา โฆษกเพนตากอนได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าการส่งเครื่องบินรบของโปแลนด์ไปให้ยูเครนนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้สถานการณ์สงครามบานปลาย
อย่างไรก็ตาม เคอร์บียืนยันว่าสหรัฐฯ จะส่งอุปกรณ์การรบ อุปกรณ์ป้องกันตัว และอุปกรณ์ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธไปให้ยูเครน เขาให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าการส่งเครื่องบินไปเพิ่มนั้น จะไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการรบอย่างมีนัยสำคัญในสงครามนี้
โดยโฆษกเพนตากอนกล่าวปิดท้ายว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังหารือกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อเสริมประสิทธิภาพระบบป้องกันภัยให้ยูเครนแทน
แนวคิดการส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนไม่ได้มาจากโปแลนด์เพียงฝ่ายเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯเคยคุยกับทางโปแลนด์ไว้และออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาขณะเยือนมอลโดวา ว่ากำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่เมื่อโปแลนด์จะส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนจริงๆ สหรัฐฯ ก็มีการเปลี่ยนท่าที
โดยท่าทีดังกล่าวของสหรัฐ ทำให้รัฐบาล ต้องส่ง กมลา แฮริส รองประธานาธิบดี ไปที่โปแลนด์ทันที เพื่อเป็นหลักประกันว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ลอยแพโปแลนด์ โดยเมื่อวานที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น กมลา แฮร์ริสเดินทางถึงโปแลนด์และเข้าพบกับตัวแทนของโปแลนด์ เมื่อการเจรจาที่โปแลนด์เสร็จสิ้นลง เธอจะเดินทางไปยังกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนียซึ่งเป็นสมาชิกนาโตและพันธมิตรของสหรัฐฯ ต่อทันที
นอกจากนี้ ผู้นำเยอรมนีและแคนาดาก็มีจุดยืนเดียวกันในเรื่องการประกาศเขตห้ามบินและการส่งเครื่องบินรบไปยังยูเครน
ชาติพันธมิตรตะวันตกปัดประกาศเขตห้ามบิน
เมื่อคืนที่ผ่านมา โอลาฟ ชอลซ์ นายกฯเยอรมนี และจัสติน ทรูโด นายกฯแคนาดาได้หารือร่วมกันเรื่องสถานการณ์สงครามในยูเครน โดยได้ข้อสรุปว่าทั้งสองประเทศมีแผนที่จะส่งความช่วยอื่น ๆ อีกหลายอย่างเข้าไปยังยูเครน แต่ทั้งสองประเทศยืนยันว่าจะไม่ประกาศเขตห้ามบิน
สถานการณ์ในเวลานี้คือ ยูเครนยังไม่ได้เครื่องบินรบ และชาติตะวันตกยังไม่ประกาศ No Fly Zone ตามที่ร้องขอไป แล้วยูเครนทำอะไรได้บ้าง หรือมีอะไรบ้างเพื่อรับมือกับการโจมตีทางอากาศ
สิ่งที่ยูเครนมีขณะนี้คือ Surface to air missile หรือขีปนาวุธแบบจากพื้นสู่อากาศ ที่ชาติพันธมิตรตะวันตกส่งไปให้ก่อนหน้า
อังกฤษเตรียมส่งอาวุธทันสมัยมากขึ้นให้ยูเครน
แต่ขณะนี้ชาติตะวันตกกำลังพิจารณาขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ หรือ Surface to Air Missile ที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ยูเครนรับมือการโจมตีระยะไกลทางอากาศของรัสเซียได้
จากการวิเคราะห์ทางการทหาร หลายฝ่ายบอกว่า ขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศที่ทันสมัย มีความสำคัญมากในวันที่ยูเครนยังไม่มีเครื่องบินรบที่ดีที่จะต่อสู้
คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้คือ เบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอังกฤษที่แถลงต่อสภาเมื่อคืนที่ผ่านมา เขาระบุว่า กำลังพิจารณาจัดส่ง state-of-the-art anti-aircraft missile systems ไปให้ยูเครนเพื่อให้ต่อต้านกับรถถังและการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย
รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษ ระบุว่า การส่งอาวุธที่ทันสมัยตัวนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก รัสเซียต้องเปลี่ยนวิธีตั้งรับตามยุทธศาสตร์ของยูเครนที่เปลี่ยนไป
State-of-the-art anti-aircraft missile systems ที่รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษพูดถึง คืออะไร? สิ่งนี้เรียกง่าย ๆ ว่า Starstreak ซึ่งเป็นขีปนาวุธน้ำหนักเบาขนาด 14 กิโลกรัมแบบประทับบ่า หรือ MANPADs เพื่อป้องกันภัยทางอากาศ หลักการทำงานของอุปกรณ์นี้ คือ ใช้เลเซอร์เป็นตัวกำหนดหนดเป้าหมายในการยิงเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษเชื่อว่า Starstreak จะช่วยเปลี่ยนสถานการณ์รบในยูเครนได้มาก
รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษบอกด้วยว่า อังกฤษได้ส่งขีปนาวุธแบบจากพื้นสู่อากาศไป ให้ยูเครนไปแล้ว 3,615 ตัว โดยตัวที่ส่งไปดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า NLAW (เอ็นลอว์)
ภาพส่วนหนึ่งของขีปนาวุธแบบจากพื้นสู่อากาศ ที่ชาติตะวันตกส่งเข้ามาให้ยูเครน ภาพที่เห็นคือ NLAW anti-tank launcher ที่ผลิตโดยเยอรมนี และ AT4 anti-tank launcher ที่ผลิตโดยสวีเดน
กองกำลังรักษาดินแดนของยูเครนที่ตรึงกำลังอยู่ในกรุงเคียฟกำลังฝึกฝนเตรียมพร้อมการใช้งาน ทหารบางคนบอกว่า นี่จะเป็นสิ่งที่พวกเขาใช้ในการสู้กับรัสเซียได้ดีขึ้น แต่บางคนก็บอกว่า อาวุธเหล่านี้ถูกส่งมาถึงช้าเกินไป เพราะขณะนี้เกิดการสูญเสียชีวิตของพลเรือนเป็นจำนวนมากแล้ว
เชลซี ออกแถลงเจรจา รัฐบาลอังกฤษ เพื่อทีมเดินหน้าตามปกติต่อไป
โควิดวันนี้ !! ไทยติดเชื้อพุ่ง 46,418 ราย เสียชีวิตอีก 63 ราย
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline