ล้างทฤษฎีต้นกำเนิดมนุษย์เดิม! ฟอสซิลมนุษย์โบราณแอฟริกาใต้เก่าแก่กว่าที่คาด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การค้นพบใหม่ทำลายทฤษฎีต้นกำเนิดมนุษย์เดิมที่ว่า มนุษย์โบราณแอฟริกาใต้อยู่คนละยุคสมัยกับมนุษย์โบราณแอฟริกาตะวันออก

สิ่งที่มนุษย์ตามหาคำตอบ นอกจากความเป็นไปได้ในอนาคต หรือความลับของจักรวาล ก็คือการไขปริศนาเรื่องในอดีต และหนึ่งในโจทย์นั้นคือ “ต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของมนุษย์”

ที่ผ่านมามีการค้นพบฟอสซิลมนุษย์โบราณรวมถึงซากอารยธรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ในบรรดาฟอสซิลที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุด หลายคนคงนึกถึง “ลูซี (Lucy)” มนุษย์โบราณสปีชีส์ ออสตราโลพิเธคัส อะฟาเรนซิส (Australopithecus afarensis) ซึ่งถูกค้นพบในปี 1979 ที่เอธิโอเปีย จากการศึกษาประเมินว่า ลูซีน่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อ 3.2 ล้านปีก่อน

“ฉลามขาว” อาจเป็นสาเหตุให้ฉลามยักษ์ “เมกาโลดอน” ต้องสูญพันธุ์

จักรวาลมี “จุดสิ้นสุด” หรือไม่ สุดขอบจักรวาลมีจริงหรือแค่คำเปรียบเทียบ

จีนพบฟอสซิลตัวอ่อนไดโนเสาร์สภาพสมบูรณ์ คล้ายกับไก่

อีกพื้นที่ที่มีการค้นพบฟอสซิลมนุษย์โบราณ คือ “ถ้ำสเติร์กฟอนทีน (Sterkfontein Cave)” เป็นถ้ำหินปูนในจังหวัดเกาเต็งของประเทศแอฟริกาใต้ และเป็นพื้นที่มรดกโลกรวมถึงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์มนุษย์ที่สำคัญ จนได้ฉายาว่า “ถิ่นกำเนิดของมนุษยชาติ (Cradle of Humankind)”

สเติร์กฟอนทีนเป็นหนึ่งในถ้ำที่ทรงคุณค่าที่สุดในโลก เพราะช่วยให้มนุษย์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับบรรพบุรุษของเรา และเป็นสถานที่แรกที่มีการค้นพบฟอสซิลมนุษย์โบราณสกุลออสตราโลพิเธคัส เหมือนกับลูซี แต่คาดว่าเป็นคนละสปีชีส์กัน

เดิมทีนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ฟอสซิลของมนุษย์โบราณออสตราโลพิเธคัสในถ้ำสเติร์กฟอนทีนที่มีการขุดค้นพบส่วนใหญ่มีอายุเพียงประมาณ 2.6 ล้านปี ยกเว้นบางฟอสซิล เช่น “ลิตเติลฟุต (Little Foot)” ซึ่งประเมินว่าเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 3.67 ล้านปีก่อน และเป็นโครงกระดูกออสตราโลพิเธคัสที่เกือบสมบูรณ์ที่สุด

แต่การศึกษาวิจัยล่าสุดเผยว่า พวกเขาเข้าใจผิด และฟอสซิลทั้งหมดของมนุษย์โบราณที่นี่อาจเก่าแก่ถึง 3.4-3.6 ล้านปี ซึ่งมากกว่าตัวเลขประเมินเดิมถึง 1 ล้านปี

โดยทั่วไป การจะชี้ชัดอายุของฟอสซิลโบราณเหล่านี้เป็นเรื่องยาก บางครั้งนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีเทียบอายุฟอสซิลกับฟอสซิลของสัตว์ที่พบรอบ ๆ หรือพิจารณาจากอายุของหินและตะกอนแร่ธาตุซึ่งสะสมอยู่ภายในถ้ำ ซึ่งมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง

แต่การค้นพบล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากนักวิทยาศาสตร์ใช้เทคนิคใหม่ในการระบุอายุของ “หินที่ห่อหุ้มฟอสซิล” หรือ “เบรเซีย (Breccia)” ซึ่งจะทำให้ได้อายุที่ใกล้เคียงที่สุดของฟอสซิลที่พบ

ดาร์ริล เกรนเจอร์ ศาสตราจารย์ด้านโลก ชั้นบรรยากาศ และดาวเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเพอร์ดู หนึ่งในทีมวิจัยที่ค้นพบอายุใหม่ของฟอสซิลในถ้ำสเติร์กฟอนทีน กล่าวว่า “ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอายุฟอสซิลส่วนหนึ่งมาจากการผสมปนเปของซากดึกดำบรรพ์จากชั้นดินชั้นหินต่าง ๆ ... แต่ด้วยวิธีนี้ เราสามารถเรียงลำดับมนุษย์โบราณในช่วงเวลาที่ถูกต้องได้ ทั้งในแอฟริกาและที่อื่น ๆ ทั่วโลก ได้แม่นยำยิ่งขึ้น"

เขาเสริมว่า “ข้อมูลที่เราพบแก้ไขความคลาดเคลื่อนเหล่านี้ มันแสดงให้เห็นว่า ฟอสซิลเหล่านี้เก่า และเก่าแก่กว่าที่เราคิดไว้มาก”

การค้นพบอายุที่แท้จริงของฟอสซิลในถ้ำสเติร์กฟอนทีนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ฟอสซิลมนุษย์โบราณสกุลออสตราโลพิเธคัสในถ้ำสเติร์กฟอนทีนเกือบทั้งหมดมีอายุน้อยกว่า 2.6 ล้านปี

พึงทราบก่อนว่า สปีชีส์ของมนุษย์เราในปัจจุบันคือ โฮโม โฮโมเซเปียนส์ (Homo Homo sapiens) อยู่ในสกุล โฮโม ต่างจากสกุลออสตราโลพิเธคัสของฟอสซิลที่พบ และนักวิทยาศาสตร์พบว่า สกุลโฮโมนี้ มีตัวตนอยู่บนโลกประมาณ 2.2 ล้านปี

ซึ่งอายุเดิมของฟอสซิลออสตราโลพิเธคัสที่มีการประเมินว่าอยู่ที่ราว 2.6 ล้านปีทำให้มีการประเมินว่า ออสตราโลพิเธคัสไม่น่าจะใช่บรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ เพราะขาดเวลาที่มากพอในการวิวัฒนาการ

แต่เมื่อมีการค้นพบอายุที่แท้จริงของออสตราโลพิเธคัสว่ามากกว่าที่คาดไว้ถึง 1 ล้านปี ทำให้มีความเป็นไปได้ใหม่ขึ้นมาว่า ออสตราโลพิเธคัสมีเวลามากขึ้น 1 ล้านปีในการวิวัฒนาการ และอาจเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ว่าจะบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์

“ข้อมูลใหม่ที่เราพบแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อเดิมไม่เป็นความจริง เพราะพวกเขา (ลูซีและออสตราโลพิเธคัส) มีอายุในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ... สองสปีชีส์นี้อาจมีบรรพบุรุษร่วมกัน การค้นพบนี้ยังชี้ว่า ออสตราโลพิเธคัสสปีชีส์แอฟริกาใต้มีเวลามากพอที่จะวิวัฒนาการ และนี่จะเป็นการเปิดหัวข้อการศึกษาครั้งใหม่เกี่ยวกับบทบาทของออสตราโลพิเธคัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ต่อมนุษย์สายพันธุ์ถัด ๆ มา” เกรนเจอร์กล่าว

อีกข้อสังเกตคือ ด้วยอายุใหม่นี้ เท่ากับว่า ฟอสซิลถ้ำสเติร์กฟอนทีนมีตัวตนอยู่บนโลกในยุคเดียวกับลูซี นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ไทม์ไลน์ที่ได้รับการอัปเดตนี้ หมายความว่า มนุษย์โบราณทั้งสองสายพันธุ์สามารถมีปฏิสัมพันธ์และผสมพันธุ์ได้ ทำให้กลายเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นว่า มนุษย์มาจากไหนกันแน่ และเส้นทางการวิวัฒนาการของมนุษย์อาจไม่ได้เรียบง่ายอย่างที่คิด

 

เรียบเรียงจาก CNN / Purdue University

ภาพจาก AFP

"ผู้อพยพ" ความหวังมีชีวิตใหม่ อาจต้องแลกด้วยลมหายใจ

“9.9 ล้านครัวเรือนไทย” ไม่พร้อมรับมือรายได้ไม่พอรายจ่าย

โควิดวันนี้ (30 มิ.ย.65) ติดเชื้อ 2.6 พัน ปอดอักเสบยังพุ่งสูง 684 ราย

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ