รมว.ตปท.รัสเซีย แวะพบผู้นำเมียนมาก่อนประชุมอาเซียน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ขณะที่รัสเซียกำลังถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกจนกระทบทางเศรษฐกิจ พวกเขาก็แสวงหาพันธมิตรใหม่ หนึ่งในนั้นคือ เมียนมา เมื่อวานนี้ปรากฏภาพของ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเข้าพบกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา

ทั้งรัสเซียและเมียนมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานานในฐานะผู้ขายอาวุธและลูกค้ารายใหญ่ แต่ในวันนี้ท่ามกลางการคว่ำบาตรที่กระทบเศรษฐกิจของทั้งสองชาติ ดูเหมือนว่าทั้งคู่ต้องกระชับความสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

สำนักข่าว MRTV ของเมียนมาเผยภาพการพบปะกันระหว่างเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่อาคารรัฐสภาในกรุงเนปิดอ เมืองหลวง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

เมียนมา-รัสเซีย กระชับความร่วมมือด้านนิวเคลียร์และการทหาร

R2P ที่ชาวเมียนมาหวังหยุดรัฐประหาร แต่ได้มาไม่ง่าย

ระหว่างการประชุมมีรายงานว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือกันในด้านความร่วมมือทวิภาคี เช่น การค้าและการท่องเที่ยว

นอกจากพบกับผู้นำประเทศแล้ว ลาฟรอฟยังได้เข้าประชุมกับ 'วันนะ หม่อง ลวิน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร

ในฐานะตัวแทนของรัสเซีย ลาฟรอฟระบุว่า รัสเซียสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลทหารในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพให้แก่เมียนมา และอวยพรให้แผนการที่วางโรดแมปไว้เป็นไปได้ด้วยดี

พร้อมย้ำเตือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 จะเป็นปีครบรอบปีที่ 75 ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียและเมียนมา

รัสเซียและเมียนมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และแม้แต่หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2021 ขณะที่นานาชาติคว่ำบาตรเมียนมา รัสเซียก็ยังคงเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่รักษาความสัมพันธ์กับเมียนมาไว้

เมียนมาซื้ออาวุธจากรัสเซีย และเป็นอาวุธนี้เองที่ทำให้กองทัพเมียนมาพัฒนาศักยภาพขึ้นมาเป็นหนึ่งในกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดของอาเซียน

ข้อมูลจากปี 2019 ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาซื้ออาวุธจากรัสเซีย รวมแล้วเป็นมูลค่า 807 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่รายงานจาก Global Fire Power ในปี 2022 ศักยภาพทางการทหารของเมียนมาอยู่ในอันดับ 39 จาก 142 อันดับ

ปัจจุบันคาดกันว่าเมียนมามีเครื่องบินรบ 280 ลำ ในจำนวนนี้รวมถึงเฮลิคอปเตอร์จู่โจมด้วย มีรถถัง 664 คัน และเรือรบอีก 155 ลำ ในจำนวนนี้รวมเรือดำน้ำด้วย

คาดกันว่าร้อยละ 50 ของอาวุธยุทโธปกรณ์ของเมียนมามาจากรัสเซีย เช่น รถถังและรถหุ้มเกราะที่ใช้ในวันรัฐประหาร หรือ รถถังบีทีอาร์-3 ที่เมียนมาซื้อมาจากยูเครนเมื่อปี 2001 ก็เป็นรุ่นที่เป็นเทคโนโลยีของรัสเซีย

อีกรุ่นคือ บีดีอาร์เอ็ม-2  ซึ่งเป็นรถลำเลียงพลหุ้มเกราะสัญชาติรัสเซียที่กองทัพเมียนมาเพิ่งซื้อมาในปี 2020

ในภาพรวมทางการทหารเมียนมาจึงมีความใกล้ชิดกับรัสเซียมากกว่าจีนเสียอีก

ด้านตัวผู้นำเองก็มีสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซีย มิน อ่อง หล่าย เคยเดินทางไปเยือนรัสเซียแล้ว 6 ครั้ง ครั้งที่สำคัญคือ การเดินทางไปร่วมงานเฉลิมฉลองวันครบรอบ 75 ปี ที่กองทัพโซเวียตเอาชนะกองทัพนาซีได้ หรือที่เรียกว่า วัน V Day เมื่อปีที่แล้ว

และย้อนไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก็เพิ่งจะเดินทางไปเยือนกรุงมอสโกในทริปที่ระบุว่า เป็นทริปส่วนตัว

รายงานข่าวระบุว่า ผู้นำเมียนมาเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรม กองทัพ และเข้าพบกับหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์

คาดกันว่านอกเหนือจากอาวุธแล้ว อีกประเด็นที่ทำให้ผู้นำเมียนมาต้องบินไปรัสเซียคือเรื่องเศรษฐกิจ

หลังเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เมียนมาก็เผชิญกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนพากันถอนตัว

วิกฤตดังกล่าวก่อปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา บรรดาบริษัทข้ามชาติที่ถอนตัวมีตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงบริษัทน้ำมันอย่าง Total

ดังนั้นแล้ว ในเวลานี้เมียนมาจึงต้องการรัสเซียมากยิ่งกว่าช่วงเวลาใดๆ ด้วยความหวังว่า รัสเซียจะสามารถช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ รวมถึงปัญหาที่เร่งด่วนมากกว่านั้นคือการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังกระทบต่อชีวิตของประชาชน

ในขณะที่รัสเซียเองก็เผชิญกับการคว่ำบาตรตั้งแต่พวกเขาบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเช่นกัน

หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าโดยเฉพาะชาติตะวันตกปิดรับสินค้าจากรัสเซีย ฉะนั้นแล้วการส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างกันและกันของสองประเทศที่เผชิญกับการคว่ำบาตรจึงไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดเดา

รวมถึงรัสเซียเองก็มองว่า เมียนมาอาจเป็นประตูทางการค้าที่จะขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ของอาเซียนในอนาคต

ทั้งนี้ความพยายามแสวงหาพันธมิตรของรัสเซียไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเอเชีย แต่ยังรวมถึงทวีปแอฟริกาด้วย เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เซอร์เก ลาฟรอฟ ก็เพิ่งเดินสายเยือนอียิปต์ คองโก ยูกันดา และเอธิโอเปีย เพื่อทำข้อตกลงทางการค้ากับคู่ค้าใหม่ๆ หลังถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร

การประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเริ่มขึ้นเมื่อวานนี้เป็นวันแรก และเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่สมาชิกมาประชุมแบบพบปะกันตัวเป็นๆ

มีประเด็นร้อนที่อาเซียนพูดถึงนั่นคือ เมียนมา เนื่องจากไม่กี่วันก่อนหน้าเมียนมาเพิ่งตัดสินโทษประหารชีวิตนักโทษทางการเมืองไป 4 ราย สร้างเสียงประณามจากนานาชาติ ในการประชุมครั้งนี้ ไม่มีรัฐมนตรีการต่างประเทศจากเมียนมาเข้าร่วม

สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน ระบุว่าเวลานี้อาเซียนจะถูกบังคับให้ทบทวนแผนสันติภาพที่ตกลงไว้กับเมียนมาอีกครั้ง หากผู้นำทหารเมียนมาดำเนินการประหารชีวิตนักโทษเพิ่มเติมอีก

นอกจากนี้สมเด็จฮุน เซน ยังระบุด้วยว่าสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและอาจถูกมองว่าเลวร้ายลงกว่าเดิม เพราะการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหาร

ด้านไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียระบุว่า กลุ่มองค์กรที่เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลเมียนมา เช่น รัฐบาลเงา ควรมีส่วนร่วมในเวทีการประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลทหารยังคงไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ตกลงกันไว้

ด้านแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางถึงกรุงพนมเปญแล้ว เป็นที่จับตาเพราะในงานประชุม บลิงเคนจะได้พบกับหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีนที่เข้าร่วมการประชุมมาตั้งแต่เมื่อวาน

อย่างไรก็ตามแดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกระบุว่า บลิงเคนไม่มีแผนที่จะหารือนอกรอบกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียที่กำลังเดินทางมาเช่นกัน

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ