“โรคมะเร็ง” เป็นหนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดในโลก เฉลี่ยราว 10 ล้านรายต่อปี และเป็นโรคที่มนุษยชาติรู้จักกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอียิปต์โบราณเมื่อ 5,000 ปีก่อน มีหลักฐานยืนยันเป็นเอกสารกระดาษปาปิรุส ที่บันทึกอาการของผู้ป่วยซึ่งเหมือนกับการเป็นมะเร็งมาก
แต่ทราบหรือไม่ว่า ความจริงแล้ว โรคมะเร็งมีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่กว่านั้นมาก ไม่ใช่แค่หลักพันปี หมื่นปี หรือแสนปี แต่ย้อนไปเป็นหลักสิบล้านปี!
หนูน้อยวัย 9 ขวบพบฟอสซิล “ฟันฉลามเมกาโลดอน” อายุหลายล้านปี
พบหลักฐานหายาก! ไดโนเสาร์เคยกิน “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” เป็นอาหาร
พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ว่ายและดำน้ำได้เหมือนเป็ด!
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นักบรรพชีวินวิทยาและนักพยาธิวิทยา ได้พยายามศึกษาโรคและการบาดเจ็บในโลกยุคโบราณ โดยศึกษาซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ
สิ่งที่พวกเขาพบคือ โรคมะเร็งมีตัวตนอยู่บนโลกมาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ หรือกว่า 70 ล้านปีก่อน!
จากการศึกษาฟอสซิลของไดโนเสาร์กินพืช เซนโทรซอรัส (Centrosaurus apertus) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ลูกพี่ลูกน้องกับไทรเซราทอปส์ นักวิทยาศาสตร์พบ “มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)” หรือมะเร็งบริเวณกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งปัจจุบันพบในคนประมาณ 25,000 รายต่อปีทั่วโลก
การค้นพบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2020 นับเป็นครั้งแรกที่มีการวินิจฉัยพบมะเร็งชนิดร้ายในไดโนเสาร์ และต้องใช้ทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสาขาวิชาชีพเพื่อยืนยันการค้นพบดังกล่าว
บรูซ รอธส์ไชลด์ นักวิจัยด้านบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติคาร์เนกี รัฐเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า “การศึกษานี้เริ่มต้นจากแค่การคาดเดา … แต่มันกลับกลายเป็นว่าทีมวิจัยค้นพบโรคร้ายในไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นโรคที่มีลักษณะเหมือนกับโรคที่ยังเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ ในปัจจุบัน”
การค้นพบนี้เป็นผลงานของ เดวิด อีแวนส์ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโต และมาร์ก คราวเธอร์ นักโลหิตวิทยาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ ปัจจุบัน ทีมวิจัยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ 8 คน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งสมัยใหม่ และนักบรรพชีวินวิทยา 4 คน
อีแวนส์บอกว่า การค้นพบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้อมูลพยาธิสภาพของตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์มักถูกบันทึกไว้ก็จริง แต่พวกมันไม่ได้ถูกจัดระเบียบตามโรคหรือสภาวะทางสุขภาพของมัน ทำให้กระดูกหรือผอสซิลที่มีลักษณะเด่นของโรคมักจะกระจายไปตามคอลเลกชันต่าง ๆ ทั่วโลก
หลังจากเฟ้นหากระดูกหลายร้อยชิ้นที่พิพิธภัณฑ์รอยัลเทียร์เรล (Royal Tyrrell) ในเมืองดรัมเฮลเลอร์ ประเทศแคนาดา ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ อีกหลายคน รวมทั้ง เซซานา โปโปวิช นักพยาธิวิทยากระดูกมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ พวกเขาก็สังเกตเห็นสัญญาณของมะเร็งกระดูกที่ฟอสซิลกระดูกหน้าแข้งของเซนโทรซอรัส
“ผมจำได้เลยว่า เซซานาหยิบกระดูกชิ้นนี้ขึ้นมาแล้วพูดว่า ‘ฉันคิดว่านี่เป็นมะเร็งกระดูก’” อีแวนส์กล่าว
กระดูกที่พบมีก้อนเนื้อที่ปลายของมัน โดยเมื่อมองแวบแรกก็มีสัญญาณบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งกระดูก ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างที่ผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด และมี foramina (รูเปิด) ขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นธรรมชาติรอบ ๆ ก้อนเนื้อ
ทีมวิจัยใช้ทุกวิถีทางเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยผู้ป่วยอายุ 77 ล้านปีของพวกเขา พวกเขาเปรียบเทียบกระดูกที่มีก้อนเนื้อกับกระดูกของเซนโทรซอรัสตัวอื่นและกระดูกน่องของมนุษย์ที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นมะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา โดยใช้หลายเทคนิค ทั้งเอ็กซ์เรย์ ซีทีสแกนคุณภาพสูง พร้อมกับเครื่องมือ 3 มิติและเทคนิคทางเนื้อเยื่อวิทยา เพื่อสร้างตัวอย่างสำหรับการศึกษาในระดับเซลล์ได้
อีแวนส์บอกว่า “นั่นทำให้เราสามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งได้แบบเดียวกับในผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์ ... เราลงมือตัดกระดูก และสามารถแกะรอยก้อนมะเร็งที่คดเคี้ยวผ่านกระดูกตั้งแต่หัวเข่าไปจนถึงข้อเท้าได้”
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าโรคมะเร็ง หรืออย่างน้อยก็มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคมา อาจมีความเก่าแก่มากกว่านี้ โดยเคยมีผลการวินิจฉัยพบมะเร็งนี้ในเต่าอายุ 240 ล้านปีจากยุคไทรแอสซิกด้วยเช่นกัน
การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า มะเร็งไม่ใช่แค่โรคที่เกิดขึ้นในมนุษย์ และไม่ใช่โรคสมัยใหม่ แต่เป็นอะไรที่เก่าแก่ และอยู่คู่กับสิ่งมีชีวิตบนโลกมานาน ซึ่งไม่แน่ว่าการศึกษาต่อไปอาจนำไปสู่การค้นพบที่น่าเหลือเชื่อก็เป็นได้
อีแวนส์หวังว่า งานวิจัยของเขาจะทำให้แพทย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ สนใจที่จะทำงานร่วมกับนักบรรพชีวินวิทยามากขึ้น เพื่อให้เกิดการค้นพบใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคหายากที่อาจพบในซากดึกดำบรรพ์ “ใครจะรู้ว่าการค้นพบเหล่านั้นจะนำไปสู่สิ่งใด”
เขาบอกว่า ทีมวิจัยของเขาตอนนี้กำลังทำงานร่วมกับนักวิจัยอีกชุดหนึ่ง ซึ่งอาจพบหลักฐานของโรคมะเร็งกระดูกในไดโนเสาร์กินเนื้อ
เรียบเรียงจาก BBC
ภาพจาก AFP / Getty Image