ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ชาติตะวันตกจับตามองความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ประเทศ การซ้อมรบร่วมทางทะเลระหว่างรัสเซีย จีนและแอฟริกาใต้ ที่ถูกจัดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณนอกชายฝั่งเมืองท่าเดอร์บัน (Durban) และเมืองท่าริชาร์ดส เบย์ (Richards Bay) ของแอฟริกาใต้ ซึ่งถือเป็นสองเมืองท่าทางทะเลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และในทางยุทธศาสตร์ เพราะเมืองท่าทั้งสองตั้งอยู่ตรงจุดกึ่งกลางของเส้นทางเดินเรือจากทวีปยุโรป อ้อมใต้ทวีปแอฟริกา เพื่อมุ่งหน้าสู่เอเชีย
สหรัฐฯจับตาความสัมพันธ์จีนรัสเซีย เตือนถึงผลกระทบหากส่งอาวุธให้รัสเซีย
สหรัฐฯ เตือนจีน อย่าคิดส่งอาวุธช่วยรัสเซีย ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อความสัมพันธ์
การซ้อมรบครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสิ้นสุดลงเมื่อวานนี้ หนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่ถูกจับตามองมากที่สุดจากปฏิบัติการซ้อมรบร่วมครั้งนี้คือ เรือรบของรัสเซียที่มีชื่อว่า ดิ แอดไมรอล กอร์ชคอฟ (The Admiral Gorshkov)
เรือ The Admiral Gorshkov นี้ถือเป็นหนึ่งในเรือฟริเกตที่ทันสมัยที่สุดของรัสเซีย เพราะสามารถหลบหลีกการตรวจจับของสัญญาณเรดาร์และสัญญาณโซนาร์ได้เกือบทุกชนิด รวมถึงสามารถรองรับการติดตั้งขีปนาวุธแบบไฮเปอร์โซนิกที่มีความเร็วเหนือเสียงรุ่นเซอร์คอน (Zircon) ที่ก่อนหน้านี้รัสเซียเคยนำไปใช้ในการโจมตีคลังอาวุธและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในยูเครนจนได้รับความเสียหายอย่างหนักมาแล้ว
นี่ทำให้การซ้อมรบร่วมระหว่างจีน รัสเซียและแอฟริกาใต้ในคราวนี้ ถูกชาติตะวันตกจับตามอง
บางชาติวิพากษ์วิจารณ์ว่าการซ้อมรบลักษณะนี้ไม่เหมาะสมเพราะเหมือนเป็นการข่มขู่เนื่องจากเกิดขึ้นในขณะที่สงครามในยูเครนยังดำเนินอยู่
อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือของแอฟริกาใต้ในฐานะชาติเจ้าภาพได้ประกาศว่า การซ้อมรบมีขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทัพแอฟริกาใต้ ไม่ได้ทำเพื่อข่มขู่หรือคุกคามอธิปไตยของใคร
รัสเซีย จีน และแอฟริกาใต้ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และมีโอกาสหรือไม่ที่ทั้ง 3 ชาตินี้จะกลายเป็นพันธมิตรกันในสงครามยูเครน
รัสเซีย จีน และแอฟริกาใต้ มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้วทางด้านเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือและข้อตกลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น BRIC หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือ G20 ซึ่งเป็นที่รวมของเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก 19 แห่งบวกกับสหภาพยุโรป (อียู)
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียเพิ่งเดินทางเยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ และได้พบหารือกับนาเลดี ปันดอร์ (Naledi Pandor) รัฐมนตรีต่างประเทศของแอฟริกาใต้
เช่นเดียวกับจีน แอฟริกาใต้คือหนึ่งในชาติที่ไม่เคยลงมติประณามการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน
ในระหว่างการเยือนในครั้งนี้ มีรายงานว่าลาฟรอฟได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลแอฟริกาใต้ที่เป็นหนึ่งใน 35 ประเทศที่งดออกเสียงประณามรัสเซียในที่ประชุมสหประชาชาติ กรณีที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน
นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่า ลาฟรอฟเดินทางมาเพื่อเจรจาขอซื้อกระสุนปืนจำนวนมากจากแอฟริกาใต้สำหรับนำไปใช้ในสงครามยูเครน เนื่องจากแอฟริกาใต้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตกระสุนปืนรายใหญ่ที่สุดของโลก และรัสเซียเองก็เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนกระสุนปืนจากผลพวงของสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อเกินคาด