เจมส์ เว็บบ์ เผยภาพ “ดาววูลฟ์-ราเยต์” ปรากฏการณ์หายากก่อนเกิดซูเปอร์โนวา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กล้องเจมส์ เว็บบ์ เปิดเผยภาพถ่ายใหม่ เป็นภาพสุดหายากของ “ดาววูลฟ์-ราเยต์” หรือดาวฤกษ์ที่ปล่อยมวลมหาศาลก่อนจะเกิดซูเปอร์โนวา

เป็นที่ทราบกันดีว่า ดาวฤกษ์จำนวนนับอนันต์ที่อยู่ในอวกาศ ล้วนแล้วแต่มีวัฏจักรชีวิตของมัน วันหนึ่งพวกมันล้วนต้องดับสูญไปตามสัจธรรมของเอกภพ โดยกระบวนการหนึ่งในวัฏจักรนั้น คือ “ซูเปอร์โนวา” (Supernova) หรือการระเบิดของดาวฤกษ์มวลสูงที่สิ้นอายุขัย

แต่ดาวฤกษ์บางดวง ก่อนจะเกิดการระเบิดซูเปอร์โนวา จะมีลักษณะเป็น “ดาววูลฟ์-ราเยต์” (Wolf-Rayet Star) ก่อน มันคือชื่อเรียกดาวฤกษ์ที่ส่องสว่างและมีมวลมากซึ่งเกิดการปล่อยมวลออกมามหาศาล เกิดเป็นรัศมีก๊าซและฝุ่นสวยงาม

โครงข่ายฝุ่นก๊าซ “เจมส์ เว็บบ์” เปิดภาพดาวฤกษ์ก่อตัวในกาแล็กซีก้นหอย

“เมฆน้ำแข็ง” เจมส์ เว็บบ์ ศึกษาการกำเนิดดาวเคราะห์เอื้อต่อการดำรงชีวิต

ภาพ “ริบบิ้นฝุ่น” จาก เจมส์ เว็บบ์ ไขความลับจักรวาลยุค “คอสมิกนูน”

ด้วยความที่มีดาวฤกษ์เพียงบางดวงเท่านั้นที่เข้าสู่ระยะการเป็นดาววูล์ฟ-ราเยต์ก่อนเกิดซูเปอร์โนวา มันจึงเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก

ล่าสุด กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) ของนาซา ได้เปิดเผยภาพดาว WR 124 ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ห่างจากโลกราว 15,000 ปีแสง มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 30 เท่า และสูญเสียมวลเร็วกว่าดวงอาทิตย์ 10 เท่า มันเป็นหนึ่งในดาววูล์ฟ-ราเยต์ที่อยู่ใกล้โลกและสามารถสังเกตการณ์ได้ง่ายที่สุด

ก่อนหน้านี้กล้องอวกาศฮับเบิลก็เคยบันทึกภาพของดาว WR 124 ไว้แล้ว แต่ภาพล่าสุดจากเจมส์ เว็บบ์ ซึ่งเริ่มสังเกตการณ์ดาว WR 124 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 ได้ทำให้เราเห็นรายละเอียดชัดเจนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนด้วยกล้องอินฟราเรดอันทรงพลัง

ต้นกำเนิดของฝุ่นอวกาศที่สามารถอยู่รอดจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา เป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์ด้วยเหตุผลหลายประการ

ฝุ่นอวกาศเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของเอกภพ มันเป็นแหล่งอนุบางดาวฤกษ์แรกกำเนิด สามารถรวมตัวเป็นดาวเคราะห์ได้ และทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับโมเลกุลในการก่อตัวและเกาะกลุ่มกัน

แม้ว่าฝุ่นจะมีบทบาทสำคัญหลายอย่าง แต่นักดาราศาสตร์พบว่า ฝุ่นในเอกภพมีมากกว่าที่ทฤษฎีการก่อตัวของฝุ่นอวกาศในปัจจุบันของนักดาราศาสตร์จะอธิบายได้

ด้วยกล้องอินฟราเรดระยะใกล้ (NIRCam) ของเจมส์ เว็บบ์ ช่วยปรับสมดุลความสว่างของแกนกลางดาว WR 124 และรายละเอียดที่เป็นปุ่มปมในก๊าซที่จางกว่ารอบ ๆ เมื่อรวมกับกล้องอินฟราเรดกลาง (MIRI) ของกล้องโทรทรรศน์ ทำให้นักดาราศาสตร์ได้เห็นโครงสร้างที่จับตัวเป็นก้อนของเนบิวลาก๊าซและฝุ่นของสสารที่พุ่งออกมารอบ ๆ ดาวฤกษ์อย่างชัดเจน

ก่อนจะมีกล้องเจมส์ เว็บบ์ นักดาราศาสตร์ที่มุ่งศึกษาฝุ่นอวกาศมักไม่มีข้อมูลโดยละเอียดเพียงพอที่จะไขปริศนาการเกิดฝุ่นอวกาศ ว่าพวกมันจะมีขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะอยู่รอดจากซูเปอร์โนวาหรือไม่ แต่ตอนนี้นักดาราศาสตร์สามารถตรวจสอยและศึกษาเพื่อตอบคำถามเหล่านั้นได้แล้ว

 

เรียบเรียงจาก NASA

ภาพจาก NASA

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ต่างประเทศ

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ