“ไดโนเสาร์” สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่เคยปกครองโลกเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว มีอยู่หลากหลายชนิด ทั้งพวกที่กินพืช พวกที่กินเนื้อ พวกที่อยู่บนบก พวกที่อยู่ในน้ำ แต่หนึ่งในไดโนเสาร์ที่เป็นที่จดจำเชื่อว่าต้องมี “ไดโนเสาร์คอยาว” รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน
ไดโนเสาร์คอยาวมีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มกินพืช โดยมีคอที่ยาวเพื่อกินอาหารบนต้นไม้สูงได้โดยไม่ต้องแย่งชิงหรือเบียดเสียดกับใคร ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีความยาวของคอที่ไม่เท่ากัน
เรื่องที่น่าสนใจคือ “แล้วไดโนเสาร์สายพันธุ์ใดมีคอยาวที่สุดในโลก?”
เจ้าของสถิตินี้ก็คือ “มาเมนชีซอรัส ซิโนคอนาโดรัม” (Mamenchisaurus sinocanadorum) ไดโนเสาร์กินพืชในกลุ่มซอโรพอด (ตัวใหญ่ คอยาว หางยาว เดิน 4 ขา) อยู่ในสกุลมาเมนชีซอรัส อาศัยอยู่รอบ ๆ แผ่นดินจีนเมื่อ 162 ล้านปีก่อน มีคอยาวถึง 15.1 เมตร เทียบได้กับตึกประมาณ 5 ชั้น
ด้วยคอที่ยาวเท่ากับครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งตัว วิธีการหาอาหารของมันจะไม่ใช่การยืดคอขึ้นสูงเพื่อเล็มยอดไม้ แต่มันจะยืนอยู่ในจุดเดียว และกวาดคอไปตามต้นไม้ที่อยู่รอบ ๆ ได้ ซึ่งทำให้หาอาหารได้มากโดยประหยัดพลังงานที่สุด
ซากฟอสซิลของมาเมนชีซอรัส ซิโนคอนาโดรัม ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1987 ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยพบเพียงส่วนคอบางส่วนเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมา พวกเขาไม่สามารถระบุความยาวคอของมันได้อย่างแน่ชัด
แต่ในการศึกษาวิเคราะห์ฟอสซิลครั้งใหม่ นักบรรพชีวินวิทยาได้ทำการซีทีสแกนซากฟอสซิลของมาเมนชีซอรัส ซิโนคอนาโดรัม เพื่อศึกษาอย่างละเอียดให้มากขึ้นจากที่เคยศึกษาไว้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ซึ่งเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเท่าปัจจุบัน
แอนดรูว์ มัวร์ นักบรรพชิวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรูก หัวหน้าทีมศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า “ไดโนเสาร์สกุลมาเมนชีซอรัสมีความสำคัญ เพราะพวกมันได้ทะลวงขีดจำกัดความยาวของคอ และเป็นสายพันธุ์แรกของซอโรพอดที่ทำเช่นนั้นได้ ด้วยคอที่ยาวถึง 15 เมตร ดูเหมือนว่ามาเมนชีซอรัส ซิโนคอนาโดรัม อาจเป็นเจ้าของสถิติไปอย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการค้นพบไดโนเสาร์ที่คอยาวกว่านี้”
นักบรรพชีวินวิทยาสามารถอนุมานความยาวคอของมันได้โดยศึกษากระดูกสันหลังส่วนคอ 3 ชิ้นที่เคยพบ และเปรียบเทียบกับกระดูกคอของไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นที่มีความใกล้เคียงกัน
“เราบังเอิญรู้ว่าใครเกี่ยวข้องกับใคร ซึ่งเป็นตัวเปรียบเทียบที่ดี ในกรณีนี้ มันมีความใกล้เคียงกับบางสายพันธุ์ที่เรารู้ว่ามีกระดูกสันหลังส่วนคอ 18 ชิ้น เราจึงสามารถนำมาเปรียบเทียบเพื่อหาความยาวคอที่แท้จริงได้” มัวร์อธิบาย
เขาเสริมว่า ปัจจุบัน ไดโนเสาร์คอยาวที่มีซากฟอสซิลสมบูรณ์ที่สุดคือ “ซินเจียงไททัน” (Xinjiangtitan) มีความยาวคออยู่ที่ 13.4 เมตร
การศึกษายังเปิดเผยรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับไดโนเสาร์ขนาดใหญ่เหล่านี้ว่า กระดูกของมาเมนชีซอรัส ซิโนคอนาโดรัม มีความคล้ายคลึงกับ “กระดูกน้ำหนักเบาของนก” โดยมันเต็มไปด้วยอากาศแทนที่จะเป็นไขกระดูก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่
ผลการซีทีสแกนแสดงให้เห็นว่า กระดูกของมาเมนชีซอรัส ซิโนคอนาโดรัม ประกอบด้วยอากาศถึง 69-77% ของปริมาตรกระดูก มัวร์บอกว่า “นี่น่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้พวกมันสามารถมีคอที่ยาวขนาดนี้ได้ เพราะมันจะค่อนข้างหนัก”
เขาเสริมว่า ซอโรพอดบางสายพันธุ์อาจมีลักษณะคอตั้งตรงเหมือนหงส์ แต่คอของไดโนเสาร์ในสกุลมาเมนชีซอรัสนั้นตั้งขึ้นในมุมประมาณ 20-30 องศาจากพื้นระนาบ แม้จะเงยหัวแค่ในมุมที่ค่อนข้างตื้นนี้ ความยาวของคอก็ยังคงทำให้หัวของพวกมันอยู่สูงจากพื้นที่ได้ประมาณ 7.5-10 เมตร
มัวร์กล่าวว่า “คอของพวกมันได้รับการออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้สามารถรวบรวมอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกมันกินพืชที่อยู่รอบตัวพวกมัน แล้วเคลื่อนไหวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก CNN