มองจุดจบ “ผู้นำฝังราก กุมอำนาจยาวนาน” ผ่านการปกครองในแอฟริกา


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แอฟริกา ภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวมากที่สุดในโลก คนอายุระหว่าง 15-24 ปีที่นี่มีอยู่กว่า 250 ล้านคน มากกว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอชียใต้เท่าตัว แต่หนุ่มสาวเหล่านี้มีผู้นำที่อายุมากกว่า 3 ขึ้นไปเท่า

ผู้นำวัยชราพบเห็นได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราที่ครอบคลุมตั้งแต่มอริเตเนียลงไปจนถึงแอฟริกาใต้ ผู้นำเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งลงเล่นการเมืองในบั้นปลายชีวิต หากแต่อยู่ในอำนาจมานานจนล่วงเข้าสู่วัยชรา และในหลายประเทศในทวีปแอฟริกากำลังมีการการแก้ไขข้อกฎหมายที่กำหนดสมัยของประธานาธิบดีให้ไม่มีเพดานจำกัด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง อีก 10 ปีข้างหน้า ทวีปนี้จะยังคงครองแชมป์ผู้นำครองอำนาจยาวนานมากที่สุดเช่นเคย หลังได้รับเอกราช หลายประเทศของทวีปแอฟริกาเผชิญกับปัญหาเดียวกัน นั่นคือผู้นำประเทศที่ครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ผลประโยชน์ พวกพ้อง ปราศจากการตรวจสอบและการคานอำนาจ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่หนุ่มยันแก่

 “มูกาเบ” อดีตผู้นำ“ซิมบับเว” เสียชีวิต

ซิมบับเวจัดรัฐพิธีศพอดีตประธานาธิบดี “มูกาเบ” อย่างสมเกียรติ

14 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลซิมบับเวจัดพิธีศพให้แก่ “โรเบิร์ต มูกาเบ” อดีตประธานาธิบดีที่เสียชีวิตจากอาการป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลของประเทศสิงคโปร์ พิธีศพถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เป็นงานจากลาผู้นำประเทศครั้งสุดท้ายแต่บรรยากาศค่อยข้างเงียบเหงา ผู้คนบางตา สนามกีฬาแห่งชาติในกรุงฮาราเรเมืองหลวงที่จุคนได้ 60,000 คน มีคนนั่งอยู่ในนั้นเพียง 20,000 คนเท่านั้น สำหรับคนที่นี่ มูกาเบในความทรงจำแตกต่างกันไป ร่างไร้วิญญาณผู้นี้เป็นทั้งรัฐบรุษ, นักต่อสู้ ไปจนถึงจอมเผด็จการ มูกาเบกลายเป็นเผด็จการในสายตาของคนจำนวนมาก ทั้งๆที่การเดินทางของเขา เริ่มจากเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศ

“โรเบิร์ต มูกาเบ” คือหนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่อใช้ซิมบับเวได้เป็นเอกราชจากอังกฤษ หลังได้เอกราช เขาคือผู้ชนะการเลือกตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศในปี 1980 ตามมาด้วยตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1987 ผู้คนชื่นชม ยกย่องจากการปฏิรูปสังคม เช่น ริเริ่มนโยบายการศึกษาฟรี การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน แต่นานวันภาพลักษณ์ของเขาก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยน จากผู้ปลดปล่อยซิมบับเวมาเป็นเผด็จการบ้าอำนาจ

นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกสังหาร เสรีภาพสื่อมวลชนถูกจำกัด เศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่สมาชิกครอบครัวของผู้นำประเทศยังคงกินดีอยู่ดีใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ความอดทนของประชาชนหมดลงเมื่อเขาส่งภรรยา “เกรซ มูกาเบ” ลงเลือกตั้งเธอเอาชนะได้ไม่ยากนักจากอิทธิพลของครอบครัวที่หนุนหลัง เกรซเตรียมสืบทอดเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อจากสามี รัฐประหารเกิดขึ้นทันที กองทัพและรถถังบุกเข้าเมืองหลวง มูกาเบยอมลงจากตำแหน่งแลกกับการที่เขาและครอบครัวจะไม่ถูกดำเนินคดี ปิดฉากบทบาทผู้นำประเทศที่ครองอำนาจยาวนานถึง 37 ปี ชาวซิมบับเวจำนวนมากเห็นมูกาเบอยู่ในตำแหน่งผู้นำมาตั้งแต่เกิด รัฐประหารปี 2017 เปลี่ยนการเมืองในประเทศนี้จากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ในอีกหลายประเทศของแอฟริกา ตลอดชีวิตของใครหลายคน พวกเขายังคงรู้จักประธานาธิบดีเพียงแค่คนเดียว แอฟริกาคือทวีปที่มีผู้นำประเทศมีอายุมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆของโลก ปี 1980 ปีที่ “โรเบิร์ต มูกาเบ” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นปีแรก ประชากรร้อยละ 83 ของชาวซิมบับเวในปัจจุบันเพิ่งเกิด การหมดอำนาจของมูกาเบเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้นำแคเมอรูนกลายมาเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดในแอฟริกาแทน

ที่แคเมอรูน “พอล บิยา” ปัจจุบันอายุ 86 ปี และคาดว่าจะยังคงอยู่ในตำแหน่งไปจนถึงอายุ 90 ปี ตุลาคม ปี 2018 ทันทีที่ผลการเลือกตั้งถูกประกาศ ชาวแคเมอรูนมากมายมารวมตัวกันที่แผงหนังสือพิมพ์ เป็นไปตามที่ใครหลายคนคาด “พอล บิยา” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ไปด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 71 กลุ่มผู้สนับสนุนร้องรำทำเพลงเฉลิมฉลอง แต่สำหรับใครหลายคนพวกเขาไม่รู้สึกยินดี เพราะนี่เป็นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 7 แล้ว

ชัยชนะถูกประกาศท่ามกลางรายงานการโกงเลือกตั้งในหลายจุด สมาชิกพรรคฝ่ายค้านยื่นข้อร้องเรียนคัดค้านผลการเลือกตั้ง ระบุถึงความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำลังเผชิญความขัดแย้ง อย่างภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือพื้นที่ที่ประชากรพูดภาษาอังกฤษ ต่างกับชาวแคเมอรูนส่วนใหญ่ที่พูดภาษาฝรั่งเศส การดำรงตำแหน่งสมัยที่ 7 ของพอล บิยา เริ่มต้นขึ้น และจะสิ้นสุดลงในปี 2025 นี้ นั่นเท่ากับว่าประเทศแคเมอรูนจะมีผู้นำประเทศเพียงคนเดียวเป็นเวลานาน 43 ปี

ทวีปแอฟริกาไม่เพียงแค่มีผู้นำที่มีอายุมากที่สุด ที่นี่ยังเป็นศูนย์รวมของบรรดาผู้นำครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลก 6 ใน 10 ของอันดับผู้นำประเทศที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลกปัจจุบันอยู่ที่นี่ไม่ว่าจะเป็นเทโอโดโร โอเบียง อึนเกมา อึมบาโซโก ประธานาธิบดีอิเควทอเรียลกินี ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 40 ปี พอล บียา ผู้นำแคเมอรูน ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 37 ปี และ เดนิส ซัสโซ-อึนเกโซ ประธานาธิบดีสาธาณรัฐคองโกดำรงตำแหน่งมาแล้ว 35 ปี พวกเขามาจากการเลือกตั้งเกือบทุกคน ในหลายประเทศที่ผู้นำครองอำนาจยาวนานมีการเลือกตั้งสม่ำเสมอ  พวกเขาจัดการเลือกตั้งทุกๆ 4-5 ปี และผู้นำเหล่านี้มาใช้สิทธิ์ทุกครั้งแม้แต่อึมบาโซโกผู้นำที่ครองอำนาจยาวนานที่สุด

“อึมบาโซโก” ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายทุกครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อ 3 ปีที่แล้วกวาดคะแนนไปร้อยละ 94 นิยามของความประชาธิปไตยในนิยามของผู้นำเหล่านี้หยุดอยู่ที่แค่การทำพิธีกรรมหย่อนบัตรเลือกตั้ง พวกเขาใช้ทุกรูปแบบเพื่อคงอำนาจ ทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่จำกัดสมัยในการดำรงตำแหน่ง โกงผลคะแนน และ การกำจัดฝ่ายค้าน

ที่แคมารูน หลังการประกาศผลเลือกตั้งที่ “พอล บิยา” ชนะไปอย่างถล่มทลาย มัวรีส คัมโต ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ลงชิงชัยและประนามผลเลือกตั้งว่ามีการคดโกงถูกจับกุมในข้อหาปลุกปั่นและเป็นกบฏต่อรัฐ ชาวแคเมอรูนรวมตัวกันด้วยความโกรธเกรี้ยว นอกจากคัมโตแล้ว สมาชิกพรรคฝ่ายค้านคนอื่นๆ ก็ถูกจับกุมด้วย โดยทั้งหมดจะถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหารในเดือนตุลาคมนี้ การเป็นกบฎมีบทลงโทษคือตั้งแต่จำคุกไปจนถึงประหารชีวิต เป็นวิถีประชาธิปไตยในแบบแอฟริกา เมื่อพรรคการเมืองเดียวมีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จ จนไม่เหลือฝั่งตรงข้ามให้ต่อกร เป็นระบบที่ถูกออกแบบเพื่อให้อยู่ในอำนาจได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะนอกจากผลประโยชน์แล้ว เหตุผลที่ผู้นำเหล่านี้ไม่อยากลงจากอำนาจคือ การถูกล้างแค้นจากศัตรูทางการเมือง

และที่ยูกันดา ประเทศที่ “โยเวรี มูเซเวนี” ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 33 ปี การชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นบรรดาคนรุ่นใหม่จึงใช้วิธีมารวมตัวชุมนุมในคอนเสิร์ตแทน ไม่ใช่เป็นคอนเสิร์ตเพื่อแสดงเพลงอัลบั้มใหม่หรือยอดฮิต แต่เป็นคอนเสิร์ตที่หยิบยกการเมืองและปัญหาสังคมขึ้นมาเล่าผ่านบทเพลง ท่ามกลางการคุมเข้มจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้อยู่เบื้องหลังการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ในยูกันดาคือศิลปินคนหนึ่ง และแทบทุกคนในวันนี้มาที่นี่เพื่อเจอเขา

“โรเบิร์ต ควากูลยี” หรือ “โบบิ ไวน์” เมื่อเขาปรากฏตัว เสียงโห่ร้องดังกระหึ่มต้อนรับผู้ที่เป็นความหวังใหม่ของประเทศนี้  “โรเบิร์ต” เริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักร้องฮิปฮอปมาตั้งแต่ปี 2000 ผลงานเพลงของเขาหลากหลาย โดดเด่นที่สุดคือการพูดถึงประเด็นทางการเมือง และกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิที่มี ปัจจุบันโบบิ ไวน์อายุ 37 ปี นั่นหมายความว่าเขาเห็นผู้นำอย่าง “โยเวรี มูเซเวนี” อยู่ในฐานะผู้นำมาตั้งแต่ 4 ขวบ เช่นเดียวกันกับชาวยูกันดาที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีจำนวนมากมาย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

ใน ปี 2017 ชื่อของโบบิ ไวน์ เป็นที่พูดถึงมากกว่าเดิม เมื่อเขาชนะการเลือกตั้งได้เป็นส.ส.ในสภา บุคลิกจริงจัง และการวิจารณ์ระบอบการเมืองที่กำลังมีปัญหาของยูกันดาเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนจำนวนมาก เขากลายมาเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่การจะล้มมูเซเวนีไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อกระแสความนิยมในตัวโบบิ ไวน์เบ่งบาน อันตรายก็ตามมา โบบิ ไวน์ถูกตั้งข้อหามากมาย ตั้งแต่มีอาวุธผิดกฎหมายในครอบครอง ยุยงปลุกปั่น ไปจนถึงทำร้ายประธานาธิบดี เขาถูกตำรวจจับกุม รุมซ้อมและฉีดยาหลายครั้ง ร้ายแรงที่สุดคือการตั้งข้อหากบฏ สิ่งที่ “โบบิ ไวน์” เผชิญ คือชะตากรรมเดียวกับใครหลายคนที่ตั้งตัวเป็นศัตรูของผู้นำประเทศ ทั้งพอล บิยา, อึมบาโซโก หรือมูเซเวนี พวกเขามีอำนาจล้นฟ้า แต่สัจจธรรมคือ เผด็จการก็มีวันหมดอายุปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในปี 2011 เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองในโลกอาหรับ ผู้นำที่อยู่ในอำนาจยาวนานหลายคนถูกโค่น แรงกระเพื่อมส่งมาถึงแอฟริกา ผู้นำที่นี่หลายคนยอมลงจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นอดีตประธานาธิบดี “โฮเซ เอดูอาร์โด ดอส ซานโตส” แห่ง สาธารณรัฐแองโกลา , “ยะห์ยา จัมเมห์” จาก สาธารณรัฐแกมเบีย, “โฌแซ็ฟ กาบีลา ” จาก ดีอาร์คองโก, รวมไปถึง “โรเบิร์ต มูกาเบอดีตประธานาธิบดีของประเทศซิมบับเว การล้มลงเป็นโดมิโนของรัฐบาลเผด็จการเหล่านี้สร้างความรู้สึกไม่มั่นคงแก่ผู้ที่ยังเหลือ ปลายปี 2017 รัฐสภายูกันดาเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดเพดานสูงสุดของประธานาธิบดีไว้ที่อายุ 75 ปี เพื่อเปิดทางให้มูเซเวนีที่ขณะนั้นอายุ 73 ปี สามารถดำรงตำแหน่งต่อในสมัยที่ 6 ได้ บรรดาสมาชิกพรรคฝ่ายค้านพากันยื่นคำร้องคัดค้านการแก้ไขดังกล่าว กระบวนการพิจารณายืดเยื้อนานหลายเดือนแต่ไม่สามารถหยุดการสืบทอดอำนาจได้ ผลการตัดสินสร้างความชอบธรรมให้ประธานาธิบดี ”มูเซเวนี” สามารถลงเลือกตั้งต่อเพื่อชิงชัยในสมัยที่ 6 ได้ การเลือกตั้งครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในปี 2021 และคู่แข่งคนสำคัญของเขาคือ ฮิปฮอปขวัญใจคนรุ่นใหม่ “โบบิ ไวน์” ถ้าหากผู้ท้าชิงตำแหน่งรุ่นลูกอย่าง “โบบิ ไวน์” เป็นฝ่ายชนะก็อาจนำไปสู่จุดจบของผู้นำครองอำนาจเบ็ดเสร็จ

ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย แรงกดดันจากต่างชาติ ตลอดจนพลังของมวลชนคนรุ่นใหม่กำลังกัดเซาะเก้าอี้ของผู้นำหลายต่อหลายคน แม้ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นแอฟริกาสปริง แต่การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นทีละน้อย แอลจีเรีย ซูดาน เหล่านี้คือรายนามของประเทศที่ผู้นำครองอำนาจยาวนานเพิ่งจะลงจากตำแหน่งไปในปีนี้ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าพวกเขาจะขึ้นมาสู่ตำแหน่งในรูปแบบใด ทั้งอดีตผู้ปลดปล่อยประเทศจากอาณานิคม อดีตผู้ก่อรัฐประหารโค่นล้มผู้นำเดิม หรืออดีตผู้ชนะการเลือกตั้ง หากหลงระเริงอยู่ในวังวนแห่งอำนาจแล้ว ในที่สุดรัฐบาลเผด็จการเหล่านี้จะมีจุดจบแบบเดียวกัน

ติดตามเรื่องราวจากทั่วโลกในรายการ "รอบโลก By กรุณา บัวคำศรี" ทุกวันพุธ และ พฤหัสบดี เวลา 22.30 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36  รับชมย้อนหลัง http://pptv36.tv/9Oh

ประธานาธิบดีซิมบับเวคนใหม่สาบานตนรับตำแหน่ง

ชาวซิมบับเวฉลอง "มูกาเบ" ยอมลาออก สิ้นสุดยุคมืด 37 ปี

รอดหวุดหวิด! ผู้นำซิมบับเวถูกลอบวางระเบิดกลางเวทีหาเสียง

ซิมบับเวทุ่มงบกว่า 8 แสนดอลลาร์สหรัฐจัดงานวันเกิดผู้นำ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ