more sheet: ธุรกิจ “ขายชีทสรุป” มองไกลกว่าแค่ให้เด็กสอบผ่าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับทีมงาน more sheet เด็กมหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างคุณค่าให้ “ชีทสรุป” และเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย

“การสอบ” เปรียบได้กับศัตรูผู้น่าครั่นคร้ามในสายตาของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ บ่อยครั้งที่นิสิตนักศึกษาเหล่านั้น ต้องทักไปหาเพื่อน วิ่งไปร้านถ่ายเอกสาร เพื่อตามหาเลคเชอร์หรือ “ชีทสรุป” ที่จะทำให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นการสอบวันพรุ่งนี้ไปได้ และบ่อยครั้งเช่นกันที่เราต้องอ่านหนังสือสอบกันแบบ “One Night Miracle” หรือการอ่านสอบคืนเดียวก่อนไปสอบ

เสนอ “เปลี่ยนตัวชี้วัดคุณภาพนักเรียน ไม่ใช้แค่คะแนนสอบ” ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา

“สมรภูมิสอบเด็กเล็ก” ที่มาข้อเสนอ ยกเลิกสอบเข้า ป.1

และแน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงชีทสรุปได้ หรือชีทสรุปที่ดี ๆ บางชิ้นก็อยู่แต่ในมือของผู้เขียนและบุคคลใกล้ชิด

นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจชีทสรุปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น และสร้างรายได้ให้นักศึกษามากกว่า 6 แสนบาทในระยะเวลากว่าครึ่งปี ภายใต้ชื่อ “more sheet” พร้อมสโลแกน “เพื่อนยามยากในทุกการสอบ”

more sheet เป็นแหล่งรวมชีทสรุปสำหรับรายวิชาต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สำหรับการติวสอบและการทบทวนในรายวิชานั้น ๆ ซึ่งชีทแต่ละวิชานั้นเป็นผลงานของนิสิตนักศึกษาผู้เรียนในวิชานั้น ๆ แล้วนำมาวางขายผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาคนอื่น ๆ สามารถเข้าถึงชีทสรุปได้อย่างง่ายดายและทั่วถึง โดยต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อชีทนั้น ๆ มาอ่าน โดยรายได้จะเป็นของผู้เขียนชีท และบางส่วนเป็นของทีมงาน more sheet

จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจขายชีท

เมริสา สิงหเดโช (มินนี่) ผู้ก่อตั้งและทีมผู้บริหาร more sheet เปิดเผยว่า more sheet มีจุดตั้งต้นมาจากเพจ TU more sheet ซึ่งเป็นเพจแหล่งรวมชีทสรุปของนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักศึกษาทั้งที่ทำชีทและหาซื้อชีทไปอ่าน ผู้ขายจะได้รับรายได้อย่างเป็นธรรมและต่อเนื่องทุกเดือน ตามจำนวนยอดที่ขายได้ ไม่ถูกเอาเปรียบ หรือถูกเอาผลงานไปจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมริสาเล่าว่า ก่อนจะมาเป็นเพจ TU more sheet รวมถึง เว็บไซต์ more sheet เธอเคยขายชีทสรุปเองในนามว่า minniemore มาก่อนเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา ชั้นปีที่ 1 คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

"ตอนปี 1 เราเรียนวิชาหนึ่งของจิตวิทยา เราก็ทำเลกเชอร์ ปรากฏว่าขายดี คนบอกกันปากต่อปากว่าได้ A สรุปดี ทำให้ minniemore ดัง วิชาอื่นก็ตามมา 5-6 วิชา"

แต่ต่อมาเธอพบว่าการทำชีทสรุปมาฝากขายที่ร้านถ่ายเอกสารนั้นไม่คุ้มเหนื่อย จึงตัดสินใจออกมาขายเอง

"ตอนนั้นขายดีแต่เหนื่อย ต้องถ่ายเอกสารเอง แบกไปส่งลูกค้าเอง แล้วเราก็คิดว่า มันมีเทคโนโลยีแล้วนี่ยุคนี้ ทำไมไม่ทำแพลตฟอร์มให้คนซื้อกับคนขายชีทสรุปมาเจอกัน เพราะไม่ใช่เราคนเดียวที่ขายได้ คนอื่นก็ทำได้ ประกอบกับตอนนั้นได้มีโอกาสเรียนวิชาธุรกิจเบื้องต้น ทำแผนธุรกิจ เราก็ตั้งใจว่าสตาร์ทอัปมันน่าสนใจ มีเพื่อนในกลุ่ม 4 คน พอเรียนจบกลุ่มอื่นอาจจะทิ้งแผน แต่เราสนใจ มันเป็นไปได้ เรามีความตั้งใจ แล้วในห้องก็มีอีกกลุ่ม 2 คนที่ทำโมเดลเดียวกัน ดังนั้นคนก่อตั้ง TU more sheet ขึ้นมาตอนแรกจึงมี 6 คน"

โดยทีม TU more sheet เริ่มต้นจากการทำเป็นเพจเฟซบุ๊ก เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย เนื่องจากมองว่าต้นทุนขณะนั้นยังมีน้อย จึงยังไม่คิดทำเป็นเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ต่อมาเมื่อได้เจอกับทีม sheet+ อีกหนึ่งทีมงานที่มีโมเดลซื้อขายชีทสรุปของ จิรวีร์ ตานีพันธ์ (ฟาอีส) นักศึกษาชั้นปีที่ 4  คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนา more sheet

จิรวีร์เล่าว่า เมื่อก่อนตนเคยแข่งเคส (Case Competition) หรือการแข่งขันเชิงธุรกิจ/ประกวดแผนธุรกิจ ที่จะจำลองสถานการณ์ทางธุรกิจให้ผู้เข้าแข่งขันต้องมาแก้ไขปัญหา วางกลยุทธ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย เพื่อพัฒนาทักษะการเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ (Consultant) แต่ต่อมารู้สึกล้มเหลวกับการแข่งเคส จึงเริ่มหันหน้าเข้าสู่วงการสตาร์ทอัป (Start up)

“ช่วงนั้นมีโอกาสได้คุยกับน้องคนหนึ่ง น้องคนนี้อยู่ในวงการสตาร์ทอัป (Start up) มาสักพักแล้ว ก็ได้ถามเขา ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกัน แล้วผมก็ค้นพบว่า จริง ๆ แล้ว สตาร์ทอัป (Start up) ในเมืองไทยเขาให้โอกาสเด็กเยอะมาก มันมีโอกาสรออยู่เยอะมากในเมืองไทย เราก็เลยเริ่มคิดแล้วว่า ยังไงดี ถ้ามันมีทางนี้เราจะไปมันยังไง”

จิรวีร์จึงวางแนวคิดไว้เล่น ๆ ว่า หากจะทำสตาร์ทอัป (Start up) จริง โจทย์คือต้องอยู่ในเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่ง ต้องมีความเสี่ยงต่ำมาก สอง ต้องใช้ต้นทุนต่ำมาก และสาม ต้องทำไปและเรียนไปด้วยได้

“ตอนแรกก็ยังคิดไม่ได้ว่าจะเป็นอะไร เพียงแต่ว่า 3 ข้อนี้ มันผลักเราว่า คุณไม่มีต้นทุน ไม่มีทรัพยากร ยังไม่มีความรู้อะไรขนาดนั้น ฉะนั้น สิ่งที่คุณทำได้คืออาจจะเป็นสื่อกลางให้เขา ทีนี้คิดไปคิดมาเป็นสื่อกลางอะไรดี”

หลังจากนั้น จิรวีร์ชวนเพื่อนอีก 4 คนมาร่วมงาน แล้วระดมความคิดว่าจะทำสตาร์ทอัปสื่อกลางอะไรดี จนมาเห็นพ้องต้องกันที่ “ชีทสรุป”

จิรวีร์ให้เหตุผลที่เลือกเป็นชีทสรุปว่า เวลาคน ๆ หนึ่งทำชีทสรุป มันมีคุณค่ากับเขามาก ก่อนสอบ เขาตั้งใจทำ ตั้งใจอ่านมัน ตั้งใจจด เพื่อจะสอบได้คะแนนดี ๆ ฉะนั้นมันมีมูลค่ามาก เพียงแต่ว่าพอเขาสอบเสร็จ วินาทีที่เขาสอบเสร็จ สำหรับเขาแล้วมูลค่ามันกลายเป็น 0 บาท

“ดังนั้น สิ่งนี้มันมีค่านะ แต่ว่าแค่หลาย ๆ คนเห็นว่ามันไม่มีค่าเท่านั้นเอง แล้วเราจะเพิ่มคุณค่าให้มันได้มั้ย เราจะทำให้สิ่งที่คุณค่ามันถึงคนที่เขาต้องการมันจริง ๆ ได้มั้ย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมต้องเป็นชีทสรุป จนเกิดเป้น sheet+”

เมื่อ TU more sheet เจอกับ Sheet+

ไอเดียของ Sheet+ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในการพิตช์ขายงานที่ จ .สงขลา พวกเขาพบกับทีม “TU more sheet” เป็นเฟซบุ๊กเพจสื่อกลางระหว่างการซื้อขายชีทสรุปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ของเมริสาและทีม

“บังเอิญเขาอยู่ห้องเดียวกับเรา เขาเป็นคนกรุงเทพ แต่วันนั้นอยู่เวลาเดียวกับเรา ห้องเดียวกับเรา ณ ตอนนั้นพอดี ตอนนั้นก็ไปพิตช์กับกรรมการเรื่องชีทสรุปนี่แหละ แล้วคำถามส่วนใหญ่เราก็เตรียมกันไปดี แต่ว่ามันก็มีคำถามหนึ่งที่มันเกิดขึ้นโดยที่เราก็ไม่ได้เตรียมขึ้นมาเลย คือ คู่แข่งคุณอยู่ในห้องนี้ เขาเห็นแผนคุณหมดแล้ว คุณจะชนะเขายังไง คือผมก็ตอบไปตามที่ผมเข้าใจว่าเราจะชนะเขายังไง แต่ว่าคือตอนนั้นผมก็พูดออกไปว่า ถ้าสมมติว่าเรามีวิสัยทัศน์ตรงกัน แล้วเราจะทำสิ่งนี้ด้วยกัน เราก็ไม่เห็นต้องเป็นคู่แข่งกันเลย เราก็ทำไปด้วยกันสิ กลายเป็นว่า วันนั้นก็เกิดดีลขึ้นมา

หลังจากนั้น ทั้งสองทีมตกลงกันว่าจะทดลองร่วมงานกันสัก 2 เดือนว่าจะไปรอดหรือไม่ โดยหลังการรวมกลุ่มมีเหตุการณ์ที่ทำให้สมาชิกผู้พัฒนาเหลือ 5 คน และมีผู้ที่ต้องการเข้าร่วมทำงานด้วย กลายเป็นมีทีมงานหลัก 6 คนในขณะนั้น แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำงานแต่อย่างใด

กระทั่งในเดือนพฤษภาคม 2562 ทีมงานเปิดเว็บไซต์ more sheet เวอร์ชันแรกเป็นผลสำเร็จ และเปิดดำเนินการจริงในอีก 5 เดือนต่อมา

ทั้งหมดนี้เกิดจากความคิด TU more sheet และ Sheet+ ที่ว่า อยากเปลี่ยนสิ่งที่ไม่มีค่ากับคน ๆ หนึ่ง เป็นสิ่งที่ล้ำค่าสำหรับคนอีกหลาย ๆ คน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ซื้อชีทและผู้ขายชีทเป็นสำคัญ

สำหรับผู้ที่เขียนชีทสรุปขาย เราได้พูดคุยกับ สุจิตรภัค ศรีสุพรรณราช (กานพลู) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ เอกจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักทำชีทสรุปซึ่งติดอันดับ 1 ใน 5 สร้างรายได้จากการขายชีทได้มากถึงหลักหมื่นบาท เล่าว่า จุดเริ่มต้นการมาทำชีทสรุปขายนั้น ปกติตนเป็นคนทำชีทสรุปไว้อ่านเองอยู่แล้ว วันหนึ่งทำสรุปก่อนสอบกลางภาค แล้วมีเพื่อนบอกว่า ทำสวย ทำไมไม่ทำขาย เธอก็ถามกลับว่า มันสามารถขายได้ด้วยหรอ เพื่อนคนนั้นจึงแนะนำเว็บไซต์ more sheet ให้

เธอบอกว่าน่าจะทำไปจนถึงปี 4 เพราะว่าถ้าจบจากปี 4 ก็ไม่น่ามีวิชาที่จะต้องให้สรุปแล้ว ทั้งยังมองว่า “นักทำชีทสรุป” เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่อาจจะไม่ถึงขั้นเรียกว่าอาชีพ เพราะว่าไม่ได้มีรายได้มากขนาดนั้น มองเป็นช่องทางหารายได้เสริมมากกว่า

ผลลัพธ์ เติบโต และขยับขยาย

หลังเปิดดำเนินงานจริง จิรวีร์บอกว่า ผลลัพธ์เป็นไปตามคาด โดยไม่ใด้เติบโตแบบตูมเดียวระเบิด เพราะต้องใช้เวลาให้คนรู้จัก โดยรายได้ก้อนแรกเกิดขึ้นในช่วงสอบกลางภาค ประมาณ 5-6 หมื่นบาท

“เป็นรายได้ที่เกิดจากการลองตลาดดูว่า เขายอมที่จะเสียเงินกับอะไรพวกนี้มั้ย แม้กระทั่งตอนนี้เราก็ยังลองอยู่ ลองไปเรื่อย ๆ แบบไหนที่คนจะมาใช้เยอะสุด เหมือนเป็นการปรับแต่งของเราไปเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้รายได้ที่เกิดขึ้น เมื่อหักส่วนที่เป็นของผู้เขียนชีทสรุปแล้ว ทางทีมงานตกลงกันว่า สตาร์ทอัปยังมีความต้องการใช้เงินอยู่ในช่วง ฉะนั้น จึงยังไม่นำเงินออกจากบริษัท แต่นำไปลงทุนต่อ (Reinvest) ทำการตลาด ปรับปรุงองค์ประกอบต่าง ๆ

สำหรับการพัฒนา ทีมงาน more sheet ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

“เราเป็นทีมที่เน้นคุยกับลูกค้า เราโทรหาเพื่อนเรา 50 คน เล่าให้ฟังว่า เราจะทำอย่างนี้นะ ๆ จะใช้มั้ย จะให้คะแนนเท่าไหร่ ทำยังไงดี เนื่องจากว่าเราโชคดี ลูกค้าเราเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย จะคุยกับใครให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุด ก็ต้องเป็นลูกค้า เราก็ยึดถือสิ่งที่มาตลอดเลยว่า ถ้าเราจะหาทางแก้ไขปัญหาอะไรก็แล้วแต่ เราไปหาลูกค้านะ ... ผมคิดว่ามันเป็นวิธีการโกงที่โกงที่สุดแล้วครับ การคุยกับลูกค้า แล้วเราก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ”

มหาวิทยาลัยที่ more sheet ขยายไป จะขยายตามความต้องการ โดยในเว็บไซต์ของ more sheet จะมีช่องส่งคำร้อง ซึ่งมีการส่งมาหลายร้อยครั้งจากหลากหลายมหาวิทยาลัย ทำให้ตอนนี้ more sheet มีสาขาอยู่ใน 10 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีทีมงานคอยดูแลทั้งหมด 34 คน

ด้าน อดิเทพ ปัสรีจา (เทพ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 บัญชีนานาชาติ (BBA) มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้พัฒนา more sheet เสริมว่า เวลาที่ขยายไปในแต่ละมหาวิทยาลัย เราต้องมีทีมในพื้นที่ตรงนั้นด้วย เพราะมองว่า หัวใจของธุรกิจขายชีทคือการ Localization (การบริหารเป็นรูปแบบท้องถิ่น)

“ถ้าเราไม่เป็น Localization เราก็จะเป็นเหมือนแค่เว็บบอร์ดที่เขาเอาชีทมาทิ้งไว้ มันก็กระจัดกระจายเต็มไปหมด ผมเชื่อว่าเราเหนื่อยในการทำ Localization วันนี้ มันจะมีผลดีต่อเราในอนาคต เราจะมีช่องทางของเราในแต่ละมหาวิทยาลัย”

สำหรับการ Localization นั้น คือการเปลี่ยนเนื้อหา การสื่อสาร การทำตลาด ให้เข้าถึงภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย

“Localization คือ ถ้าพูดในระดับผิว ๆ คนอาจจะมองว่า เด็กมหาวิทยาลัยคาแรคเตอร์น่าจะคล้ายกันหมดในระดับหนึ่ง แต่ว่าถ้าสมมติคุณเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัยหนึ่ง เช่น เกษตรศาสตร์ เขาก็จะมีคาแรคเตอร์ของเขาอยู่ เขาจะดังในเรื่องของเขา เขาจะไปร้านอาหารที่เขาชอบกันไป ไปเดินเล่นแถวที่เขาไป เพจที่ชื่อ KU more sheet คอนเทนต์ที่สร้างไปมันจะรวมองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ คนอ่าน คนที่ใช้เพจ เด็กเกษตร ก็จะรู้สึกมีความเชื่อมโยงได้มาก”

ขายชีทสรุป สร้างผลบวกหรือลบ?

การทำธุรกิจขายชีทสรุปนั้นมีประโยชน์กับเด็กนิสิตนักศึกษาในช่วงใกล้สอบก็จริง แต่ก็มีบางความเห็นที่มองว่าธุรกิจนี้อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่

จิรวีร์บอกว่า “ถ้าสมมติคุณเป็นคนที่อยู่ในวงการศึกษา ณ ตอนนี้ คุณเป็นเด็กนักศึกษา คุณจะรู้ว่ามันไม่มีทางเลยที่ไม่มีใครไม่อ่านหนังสือสรุป มันเป็นไปไม่ได้ คือถ้าคุณอยู่ตรงนี้คุณจะได้อีกมุมมองว่า การอ่านชีทสรุปมันไม่ใช่การอ่านไปแล้วไปสอบ เรายอมรับว่า มันมีคนอย่างนั้น ... แต่ว่า มันมีแง่มุมเดียวหรอ”

จิรวีร์แชร์ให้ฟังว่า หนึ่งในลูกค้าคนที่ซื้อชีทสรุปเยอะที่สุด เทอมหนึ่งซื้อหลายสิบวิชา แต่เหตุผลที่เขาซื้อก็เพื่อเพิ่มความมั่นใจของตัวเองในการสอบ

“เขาก็จดของตัวเองนะ แต่เขาก็อยากเช็กเนื้อหาว่ามันตรงมั้ย แล้วการที่เขามีแหล่งข้อมูลเยอะ ๆ ในการเช็กมันก็ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้นว่า เรียนในห้องเขาผิดตรงไหน พลาดตรงไหน นี่เป็นแค่หนึ่งประโยชน์นะครับ”

ขณะที่อดิเทพมองว่า ธุรกิจการขายชีทสรุปไม่ได้เป็นธุรกิจที่ใหม่ ในอดีตมีการถ่ายเอกสารเลคเชอร์หรือเอกสารต่าง ๆ ของอาจารย์มาอ่านก่อนสอบกันอยู่แล้ว

“เด็กบางคนจะเขียนชีทสรุปแล้วมาทิ้งไว้ที่ร้านถ่ายเอกสาร เขาก็จะทำก๊อบปี้ขายกัน แล้วก็มีการแบ่งรายได้กัน แล้วคนก็จะเอาสไลด์อาจารย์มาวาง คนก็จะเอาไปแชร์ แล้วก็จะมีแบบชีทของรุ่นพี่เก่า ๆ ไว้เยอะ ๆ ... นี่คือโมเดลธุรกิจแบบเดิม เรามา Digitalize (เปลี่ยนธุรกิจให้เป็นรูปแบบดิจิทัล) ตรงนี้ และสร้างค่าให้มากขึ้นกับชีทสรุปพวกนี้”

นอกจากนี้การเข้ามาของธุรกิจขายชีทสรุปออนไลน์แบบสะดวกสบายนั้นก็ไม่ถึงกับทำให้เกิด Disruption กับธุรกิจขายชีทแบบเดิมเลยทีเดียว

“จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน 100% เพราะเขาไม่ได้มีธุรกิจนี้ธุรกิจเดียว เขาก็มีธุรกิจถ่ายเอกสารของเขา คนที่ซื้อชีทสรุปบนเว็บไซต์เราก็เอาไปปรินต์ที่ร้านอยู่ ก็เป็นวิน-วินไปด้วยกันอยู่” อดิเทพให้ความเห็น

ส่วนสุจิตรภัคในฐานะผู้เขียนชีทมองว่า ข้อดีของชีทสรุปคือทำให้ผู้เขียนได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น ทำให้ขยันมากขึ้น เพราะจะรู้สึกเหมือนว่ามีคนรอชีทของเธออยู่

ส่วนจะมีผลเสียต่อคนที่ซื้อชีทมาอ่านหรือไม่นั้น เธอบอกว่าแล้วแต่คนด้วย ส่วนใหญ่คนที่มาซื้ออาจมีส่วนที่ไม่ตั้งใจเรียน แต่ในขณะเดียวกัน บางเนื้อหาถ้าไม่ได้ตั้งใจเรียนในห้องแล้วมาอ่านก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี

“มันก็อาจจะกระทบถึงความตั้งใจในห้อง แต่หนูรู้สึกว่าคนที่ตั้งใจจะซื้อชีทมาอ่าน มันก็หมายความว่าเขาตั้งใจที่จะทำสอบให้มันออกมาดี ถ้าได้ตั้งใจอ่านชีทนั้นก็น่าจะช่วยให้เขาขยันมากขึ้นได้อยู่แล้ว ไม่น่ากระทบอะไรขนาดนั้น อย่างน้อยเขาก็พยายามอ่านสิ่งที่เรียนมา ทบทวนอีกรอบหนึ่งก่อนสอบอยู่ดี”

โอกาสในช่วงวิกฤตโควิด-19

อดิเทพบอกว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นช่วงที่นิสิตนักศึกษาต้องพึ่งการเรียนออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า การแสวงหาความรู้ ชีท หรือเนื้อหาที่ย่อยแล้ว คิดว่าคนน่าจะเข้าเว็บไซต์ more sheet มากขึ้นด้วย

“ตามปกติเขาอยู่มหาวิทยาลัย เขาไปขอเพื่อนได้ ไปนั่งอ่านกับเพื่อนได้ แต่ ณ ตอนนี้ที่มหาวิทยาลัยปิด ช่องทางที่เขาสามารถหาความรู้ได้มันก็จำกัด แต่ว่ายังมีเว็บไซต์ more sheet ซึ่งมีชีทสรุปของทุกวิชาในมหาวิทยาลัยของเขา เขาก็สามารถเข้าไปเพิ่มความรู้ หรือเอาชีทสรุปตัวเองไปลงก็ได้เหมือนกัน”

ด้านสุจิตรภัคมองว่า การมีชีทสรุปชายออนไลน์จะสามารถช่วยเด็กในช่วงโควิด-19 ได้ เพราะว่าการเรียนออนไลน์อาจทำให้เด็กอยากเรียนน้อยลง ขาดแรงกระตุ้นจากรอบข้าง เด็กอาจไม่ค่อยตั้งใจฟังคลิป หรือตั้งใจฟังอาจารย์ไลฟ์สด ถ้ามีชีทขายออกมา อย่างน้อยเด็กก็จะได้กลับมาอ่านในสิ่งที่เขาไม่ได้ตั้งใจฟัง ให้เขาได้เกรดดีขึ้น คะแนนดีขึ้น

อนาคตและความตั้งใจของ more sheet

แม้คนภายนอกอาจมองว่าสตาร์ทอัปจากฝีมือเด็กมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ “ว้าว” และ “ปัง” แต่ตัวจิรวีร์เองกลับมองว่าพวกเขายังไปไม่ถึงจุดที่ตั้งใจไว้

“เรายังห่างไกลคำว่าประสบความสำเร็จ เรายังห่างไกลกับสิ่งที่เราคิดไว้วันแรก ยังไม่ถึง ยังอีกไกล”

เป้าหมายระยะสั้นของ more sheet คือใน 1 ปีนี้ ทุกคนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และสามารถทำให้ “นักทำชีทสรุป” เป็นอาชีพได้ หาเงินได้ ส่วนในระยะยาวต้องการให้ more sheet ไปอยู่ในทุกมหาวิทยาลัย ไปให้บริการทางด้านชีทสรุปของทุกมหาวิทยาลัย

“และก็จริง ๆ เราอยากจะทำให้มันกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่เขาช่วยกันเรียน นอกจากชีทสรุปแล้ว มันอาจจะมีอย่างอื่นได้มั้ยที่เราจะเพิ่มเข้าไปได้ ที่เราจะเข้าไปช่วยเขาในเรื่องการสอบการเรียน เราอยากเป็นบริการแก้ปัญหาครบวงจร (One Stop Solution) ในแง่ของการเรียนการศึกษาในเมืองไทย”

โดยนอกจากชีทสรุปสำหรับเด็กมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมี moresheet+ ซึ่งเป็นเนื้อหาความรู้ทั่วไป เช่น Strategy Management คณิตศาสตร์พื้นฐานสำหรับ เด็ก ม.6 ทำโจทย์ ซึ่งผลตอบรับก็เป็นที่น่าพอใจ

สำหรับจิรวีร์แล้ว ความคาดหวังต่อ more sheet อยู่ในระดับที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบแวดวงการศึกษาไทย ลดความเหลื่อมล้ำทางพื้นที่สังคม และแนวคิด

“ลองคิดดู ถ้าสมมติว่า เด็กบนเขาบนดอยสุดเมืองไทย อ่านชีทเด็กจุฬาฯ ได้ จะเป็นยังไง ผมว่ามันสรุปได้ด้วยคำพูดนี้”

ขณะที่อดิเทพมองว่า ไม่อยากจะให้นิยามของ more sheet เป็นแค่การขายชีทสรุป ในอนาคตอยากเป็นอะไรมากกว่านี้อยู่แล้ว “โปรเจกต์ที่เราคิดอยู่ที่พูดได้ตอนนี้ ก็จะเป็น Audio Sheet เป็นการเริ่มลองใส่คลิปเสียงในชีทดู เพราะบางคนเขาไม่ได้เรียนจากการอ่านอย่างเดียว แต่เรียนจากการฟังด้วย แน่นอนเราก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในสโคปตรงนี้ไปเรื่อย ๆ”

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ