“เปิปข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน”
ที่สูซดกำซาบฟัน
*****************************************************************************************************************************************************************
เนื้อเพลง “เปิปข้าว” ของ คาราวาน ที่ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ล่วงลับ คือ สิ่งแรกที่ผมนึกถึงเมื่อจะเขียนเกี่ยวกับ “ราคาข้าว” และ “ชาวนา” อาจเป็นเพราะช่วงที่ผมเป็นนักศึกษา พอจับกีตาร์ได้ปุ๊ปก็เริ่มตีคอร์ดจังหวะรำวง ขึ้นเพลงแรกด้วยเพลงประชดประชันขั้นสุด
“คน กับ คนนนนนนน ทำนา ประสา คนนนนนนนน.... คนนนน กับ ควาย ทำนา ประสาควายยยยยยยยย....”
แล้วเพลิง “เปิปข้าว” ก็ตามมาด้วยท่วงทำนองรำวง จังหวะเดียวกัน
แต่เป็น “รำวง” ที่คงไม่มีใครลุกขึ้นมารำอย่างสนุกสนาน ... นี่อาจเป็นเพลงรำวงที่เจ็บปวดที่สุด
ที่ผมยกเนื้อเพลง “เปิปข้าว” ขึ้นมา เพราะเห็นว่า บทกวี ที่กลายมาเป็นบทเพลงนี้ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 2507 หรือ 52 ปีที่แล้ว แต่เนื้อหากลับยังคงทันสมัย สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นั่นคือ ชาวนายากจน ไม่มีอำนาจต่อรอง ถูกจัดเป็นชนชั้นรากหญ้า และไม่เคยเป็นผู้กำหนดราคาสินค้าที่ตัวเองผลิตขึ้นมา
อย่างน้อย 52 ปี ที่ผ่านมา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย
ตั้งแต่เด็กเราต่างรับรู้กันมาตลอดว่า “ไทย” เป็น ผู้ส่งออกข้าว อันดับ 1 ของโลก มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีบางช่วงเสียแชมป์ไปบ้าง แต่ก็ไม่นานนัก
แต่ทำไม ผู้ผลิตสินค้าที่ทุกคนต้องกิน ในประเทศที่สินค้านี้เป็นเบอร์ 1 ของโลก “จึงยากจน” ...นี่เป็น คำถาม ที่ผมคาใจมาตลอด
“เงิน” จากการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก เหตุใด ไม่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ผลิต .... เขียนมาถึงท่อนนี้ ท่านคงจะคิด ว่าผมต้องโทษ “พ่อค้าคนกลาง” แน่ๆ ....
อาจไม่ใช่ทั้งหมด
ต้องยอมรับว่า “มิติ” ที่จะพูดถึงเรื่องข้าว มีหลากหลายมาก แล้วแต่จะวิเคราะห์จากทางเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา หรือแม้แต่ทางรัฐศาสตร์ ด้วยความที่แต่ไหนแต่ไรมา ประเทศไทยก็ถูกเรียกว่า “อู่ข้าว อู่น้ำ” ....
ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกร พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศทำการเพาะปลูก และที่ใหญ่โต กว้างขวางที่สุด คือ ทำนา
ไม่น่าแปลกใจ ที่ในการ “เลือกตั้ง” ทุกครั้ง พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องชูนโยบายเกี่ยวกับ “ราคาข้าว” เป็นนโยบายอันดับต้นๆ เพราะผู้มีสิทธิลงคะแนนส่วนใหญ่ เป็นชาวนา หรือไม่ก็เป็นลูกหลานชาวนา
นั่นทำให้ผมเคยสนใจเรื่องนี้อย่างมาก ... เอาแค่ไม่กี่ครั้งหลังสุด
จำนำข้าว
ประกันราคาข้าว
แทรกแซงราคาข้าว
เงินส่วนต่าง
จำนำยุ้งฉาง
ทั้งหมด ล้วนนำเสนอตัวเลขที่จูงใจ 13000 – 20000 บาทต่อตัน บางพรรคที่มีโอกาสเป็นแกนนำรัฐบาล ก็เสนอราคาที่พอดูแล้ว “ทำได้จริง” แต่บางพรรค ที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าไม่มีทางได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่ๆ ก็เสนอราคาโอเวอร์ มาใส่ไว้ในป้ายหาเสียง เพียงเพื่อหวังจะได้แบ่งคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อมาบ้าง
“ข้าว” จึงมีสถานะทางรัฐศาสตร์ เป็น “พืชการเมือง” ไปแบบไม่มีข้อโต้แย้ง
นอกจากจะเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างมาก ต่อการกำหนดนโยบายพรรคการเมือง ผลพวงที่ตามมา ยังเลยเถิดทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใน “วงจรข้าว” ต้องแหย่ขาอย่างน้อยหนึ่งข้างไปในภาคการเมืองด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในบทบาทของหัวคะแนน หรือผู้แสดงตัวสนับสนุนนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง
แต่ถ้ามองกลับกัน ... การที่พรรคการเมือง “เสนอราคาข้าว” เป็นนโยบาย ... ย่อมแปลว่า ราคาข้าว ไม่ได้ถูกกำหนดจากผู้ผลิตเอง ...
และย่อมแปลว่า “นโยบาย” เป็นหนึ่งในกลไกที่สามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับกลไกตลาดในภาคส่วนอื่นๆได้อย่างผูกพัน ทั้ง โรงสี ผู้ส่งออก แม้ว่าราคาที่ว่านั้น จะไม่สอดคล้องกับราคาที่ซื้อขายกันจริงในตลาดโลกเลยก็ตาม ...
ก็ยิ่งน่าสนใจว่า ราคาข้าว ในเชิงการเมือง กับ ราคาข้าว ตามกลไกตลาด .... เรื่องไหน ถูกจัดลำดับความสำคัญก่อน
แต่ผมมีข้อสังเกตเล็กๆ ของคนที่ไม่เคยเข้าไปคลุกคลีในวงการข้าว (เคยเกี่ยวข้าวครึ่งวัน ปวดหลังไป 7 วัน / เคยจับไม้ตีข้าวครึ่งวัน มือพองไปเดือนนึง) ข้อสังเกตของผมคือ ข้าวที่ปลูกในประเทศไทย เกินกว่าความต้องการบริโภคในประเทศไปมากมาย
ข้าวไทย โดยเฉพาะที่ปลูกในที่ราบลุ่มภาคกลาง จึงมีเป้าหมายการปลูกเพื่อส่งออกเป็นหลัก ชาวนา ที่ปลูกข้าว ก็ต้องการขายข้าวทีเดียวทั้งหมด ได้เงินก้อนใหญ่ สำหรับการลงทุนเพาะปลูกรอบต่อไป ดังนั้น “ราคาข้าว” ก็ควรอ้างอิงมาจากตลาดโลกเป็นหลัก หรืออย่างน้อย นั่นเป็นหลักการที่ควรจะเป็น
โรงสี หรือ พ่อค้าคนกลาง ก็สามารถอ้างได้ว่า ราคารับซื้อ เป็นราคาที่ถูกกำหนดมาจากผู้ส่งออกเป็นหลัก ซึ่งผู้ส่งออกก็ได้ราคามาจากตลาดโลก ดังนั้นพวกเขาก็บอกได้ว่า โรงสี ก็ไม่ใช่คนกำหนดราคา และไม่ใช่คน “กดราคา” แต่พวกเขาก็ยังคิดค่าสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ค่าเก็บรักษา ค่าตากแห้ง และค่าขนส่งไว้ด้วย .... นั่นก็เป็นหลักการ
รถขายข้าวคันหนึ่งเข้าไปในโรงสี รถที่บรรทุกความหวังผ่านเมล็ดข้าวเปลือกเต็มคัน ... ขึ้นแท่นบนเครื่องชั่งน้ำหนัก
เหล็กปลายแหลมทรงกระบอกแท่งหนึ่ง ถูกแทงเข้าไปผ่านตาข่ายสแลนบนกระบะที่บรรทุกข้าวมา .... ข้าวเปลือก ไหลผ่านท่อของแท่งเหล็ก ลงมาสู่ขันที่รองไว้
เถ้าแก่มองข้าวในขันแล้วส่ายหน้า เอามือไปสัมผัสเล็กน้อย ก่อนเดือนไปกดเครื่องคิดเลข เขียนตัวเลขยุกยิกลงบนกระดาษ เงยหน้าขึ้น ... แจ้งกับเจ้าของข้าวว่า
หักค่าความชื้น .. บลาๆๆๆ
หักค่าสิ่งเจือปน ... บลาๆๆๆ
ครั้งหนึ่งผมอยู่ในสถานการณ์นั้น หันมามองหน้าชาวนา ที่ตอบเพียง “ครับๆ” ด้วยความมึนงง
ทันทีที่ออกมาจากที่นั่น ผมถามเขาว่า
“รู้ได้ยังไง ว่าค่าความชื้นเท่าไหร่” (มีเครื่องวัด แต่ไม่ได้ใช้ – เคยทดลองใช้เครื่องวัด 2 เครื่อง กับข้าวเกวียนเดียวกัน ปรากฏว่าได้ผลไม่เท่ากัน)
ชาวนา ตอบว่า “ก็ต้องตามเขา”
“ทำไมไม่ขายที่อื่น”
“ที่อื่นก็ให้เท่ากัน เขาถึงกัน” .. “ข้ามเขตก็ไม่ได้” ... “ทุกคนรู้ดี ผี ถูกหามมาถึงเมรุแล้ว ก็ต้องเผา”
ผมไม่มีคำถามอีกแล้ว
ราคาข้าว ... อาจถูกกำหนดมาจากตลาดโลก
ราคาข้าว ... อาจถูกกำหนดมาจาก ผู้ส่งออก
ราคาข้าว ... อาจถูกกำหนดมาจากนโยบายรัฐ ... ผ่านกลไก จำนำ ประกัน แทรกแซงฯลฯ
ราคาข้าว ... อาจถูกกำหนดที่ตาชั่ง ผ่านความชื้น สิ่งเจือปน
ราคาข้าว ... ยังอาจถูกลบออกไปกับ ราคาเมล็ดพันธ์ ราคาปุ๋ย ราคายา ค่าเช่าที่ดิน ค่าจ้างเกี่ยว
ทุกกลไกในวงจรของ “ข้าว” ล้วนมี “รายได้” หรือ “ประโยชน์” ที่ถูกหักออกไป ระหว่างทางการกำหนดราคาข้าว
ในวงจรนี้ มีเพียง “หน่วยเดียว” ที่ไม่มีสิทธิกำหนดราคาข้าว ... นั่นก็คือ “ชาวนา”
ประเทศส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ที่ “ชาวนา” เป็นกลุ่มคนที่ “จน” และ “มีหนี้สิน” ถ้วนหน้า
“สายเลือด กูทั้งสิ้น ที่สูซด กำซาบฟัน”