ชีวิตทุกนาทีมีค่า "ปฐมพยาบาลเบื้องต้น" ลดอัตราการตาย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลาไม่สำคัญว่าเกิดเมื่อไหร่ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงจะมีวิธีรับมือกับมันอย่างไร หลายคนอาจเลือกที่จะรอการช่วยเหลือจากรถโรงพยาบาลหรือกู้ภัย แต่ในหลายๆครั้งการรอคอยก็ใช้เวลานานเกินกว่าที่ผู้ประสบอุบัติเหตุจะรอดชีวิต ดังนั้นทีมข่าวนิวมีเดีย PPTV จึงอยากเผยวิธีการปฐมพยาบาลฉุกเฉินเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ประสบอุบัติเหตุ ลดอัตราการตายก่อนวัยอันควร ในระหว่างรอการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัยและรถฉุกเฉิน

โดนไฟช็อตให้เอาไปฝังทรายเป็นเรื่องตลก

นายแพทย์สัญชัย ชาสัมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง อย่างเช่น กรณีของไฟช็อต คนส่วนหนึ่งมีความเชื่อผิดๆว่าต้องเอาผู้เคราะห์ร้ายไปฝังในทราย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่ต้องทำอย่างแรก คือ ต้องตัดไฟและนำตัวผู้บาดเจ็บออกจากบริเวณที่มีกระแสไฟก่อน แต่หากไม่สามารถตัดไฟได้ให้นำสิ่งของที่จะไม่เป็นวัตถุนำไฟฟ้าเอามาเขี่ยสายไฟออก หลังจากนั้นให้ดูคนเจ็บว่าหายใจอยู่หรือไม่ หัวใจยังเต้นอยู่หรือไม่ หมดสติหรือไม่ โดยการดูว่าหัวใจเต้นอยู่หรือไม่ให้เอานิ้ว 2 นิ้ว กดไว้ที่ต้นคอเพื่อเช็คดูว่ายังมีชีพจรอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีชีพจรให้ทำการปั๊มหัวใจได้ทันที

เจอคนประสบอุบัติเหตุอยากให้รอดต้องทำยังไง?

เมื่อเจอผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน อย่างแรกคือห้ามเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพราะอาจทำให้บาดเจ็บกว่าเดิม แต่ให้ขอความช่วยเหลือโดยโทรไปที่ 1669 เป็นหมายเลขทางการแพทย์บริการ 24 ชั่วโมง สามารถโทรได้ทั่วประเทศ  ระหว่างที่โทรต้องบอกว่าสภาพคนไข้เป็นอย่างไร หายใจหรือไม่ มีสติหรือไม่ มีชีพจรเต้นหรือไม่  สถานที่ข้างเคียงเป็นอย่างไร เพื่อให้การช่วยเหลือมาถึงอย่างทันท่วงที

ชีวิตคนมีคุณค่าควรเรียนรู้อย่างจริงจัง

ความรู้การปฐมพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉินเป็นเรื่องจำเป็น ที่ต้องอยู่ในหลักสูตรการศึกษา ถึงแม้ตอนนี้จะมีการสอนวิธีปฐมพยาบาล แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่เจาะลึกมากพอและยังไม่ตรงประเด็นในการใช้ชีวิตประจำวันมากเท่าที่ควร  เรื่องอุปกรณ์การสอนก็อาจจะเยอะไม่พอ ไม่มีรูปหรือวีดีโอที่ทำให้เด็กสามารถเข้าใจ  ถ้าผู้เห็นเหตุการณ์มีความรู้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องจะช่วยให้การปฐมพยาบาลประสบความสำเร็จสูงและช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้

 เจอคนเป็นลมชักห้ามเอาอะไรไปยัดปาก

ว่าที่ร้อยตรีการันต์ ศรีวัฒนบูรพา หัวหน้างานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์  สพฉ.พูดถึงความเชื่อผิด ๆ ที่คนส่วนใหญ่กังวลว่าคนที่เป็นลมชักจะกัดลิ้นตัวเอง จึงจะหาอะไรไปยัดใส่ปากผู้เป็นลมชัก แต่ความจริงแล้วการที่เอาช้อนไปงัดปากจะทำให้ผู้ป่วยมีรับอาการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น โดยวิธีการที่ถูกต้องคือ ห้ามเอาอะไรไปงัดปากหรือฟันของผู้ป่วยเด็ดขาด ให้ดูแลในเรื่องของความปลอดภัยระมัดระวังสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างที่ชักเกร็งหรือหมดสติดีกว่า และโทร 1669 เพื่อเรียกรถกู้ชีพ

เจองูกัดห้ามใช้ปากดูดพิษแบบในละคร

ส่วนเรื่องของการโดนงูกัด ถ้าเป็นในละครจะเอาปากไปดูดพิษงู ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดและค่อนข้างอันตราย เพราะหากปากคนที่ดูดพิษเป็นแผลจะทำให้เกิดอันตรายต่อคนช่วยเหลือได้ สิ่งที่ถูกต้องคือการปฐมพยาบาลด้วยการปิดแผลและดามรัดให้แน่นเพื่อไม่ให้พิษไหลไปที่หัวใจ โดยการหาอะไรมาพันอวัยวะส่วนนั้นให้อยู่นิ่งๆหลังจากนั้นนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

จับคนจมน้ำห้อยหัวหรือแบกขึ้นบ่าเพิ่มอัตราการตาย

หากพบคนจมน้ำให้นำคนเจ็บขึ้นมาบนฝั่ง  สิ่งแรกที่ต้องทำคือขอความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ชีพและทำการปั๊มหัวใจ(CPR )สลับกับการช่วยหายใจ ในทันที คือ ทำ CPR 30 ครั้ง และสลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้ง ช่วยจนกว่าผู้ป่วยจะมีสติหรือหน่วยกู้ชีพจะมาถึง   และที่สำคัญห้ามจับผู้ป่วยขึ้นบ่าหรือห้อยหัวเพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย 

ปั๊มหัวใจแบบผิดๆไม่ได้ช่วยอะไร-เสียแรงฟรี

หากพบผู้ป่วยหมดสติต้องปลุกผู้ป่วยทันที พร้อมกับขอความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว    หากผู้ป่วยหมดสติและหายใจช้าให้เตรียมปั๊มหัวใจทันที โดยวางผ่ามือซ้าย(ส้นมือ)บนหน้าอกบริเวณระหว่างหัวนมหรือกลางกระดูกหน้าอกของผู้ป่วย แล้ววางส้นมือขวาทับมือข้างซ้าย ตรึงข้อศอกให้นิ่ง แขนเหยียดตรง ห้ามงอแขน ทิ้งน้ำหนักตัวไปข้างหน้า  โดยทิศทางของแรงกดดิ่งตั้งฉากลงสู่กระดูกหน้าอก   หลังจากนั้นกดบนหน้าอกผู้ประสบภัยตรงๆลึก 2 นิ้ว หรือ 5 ซม.  จากนั้นปั๊มหัวใจ 30 ครั้งแล้วเป่าปาก 2 ครั้ง ทำสลับไปมาจนกว่าผู้ป่วยจะกลับมามีสติ ในระหว่างที่ปั๊มหัวใจอยู่นั้นให้โทรเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉินหรือรถโรงพยาบาล  เพื่อให้หน่วยแพทย์รีบมาช่วยเหลือให้เร็วที่สุด

ไทยมี AED เครื่องช่วยชีวิตแล้วนะรู้ยัง?

สำหรับเครื่อง AED เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน  โดยเป็นระบบปฏิบัติการแบบอิเล็กทรอนิกส์พกพา ซึ่งประชาชนทั่วไปที่ได้รับการฝึกฝนการใช้ก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้ ภายใต้คำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน1669 โดยเมื่อมีการเปิดการใช้งานของเครื่อง AED เครื่อง ก็จะสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้องได้

โดยการใช้งานนั้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องจะออกคำสั่งให้เราเป็นผู้ปฏิบัติตาม วิธีการคือเริ่มแรกผู้ที่ทำการช่วยเหลือจะต้องเปิดฝาเครื่อง AED และฉีกซองบรรจุอิเล็คโทรด โดยแผ่นอิเล็คโทรดจะมีอยู่ 2ชิ้น คือ ชิ้นแรกจะต้องนำไปติดบนทรวงอกตอนบนของผู้ป่วย และแผ่นที่สองจะต้องติดบนผิวทรวงอกตอนล่างของผู้ป่วย จากนั้นเครื่อง AED จะ ทำการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งขณะนี้ห้ามผู้ที่ช่วยเหลือสัมผัสตัวผู้ป่วยเด็ดขาด จากนั้นเมื่อเครื่องวินิจฉัยเสร็จแล้วจะขึ้นสัญญาณให้ทำการช็อคไฟฟ้า ให้ผู้ช่วยเหลือกดที่ปุ่มช็อคตามสัญญาณที่ปรากฏอยู่บนตัวเครื่อง และสลับกับการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพผู้ป่วยหรือCPR อย่างต่อเนื่อง จนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมาถึง โดยการช่วยเหลือควรทำภายใน 3-5 นาที จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น

อยากช่วยคนถูกวิธีเชิญทางนี้

หากประชาชนสนใจในการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพิ่มเติม สามารถหาดูข้อมูลได้ตามสื่ออินเทอร์เน็ต ถ้าต้องการฝึกปฎิบัติติดต่อศูนย์ฝึกได้ตามโรงพยาบาลประจำอำเภอและโรงพยาบาลประจำจังหวัด จะมีการฝึกอบรมให้ประชาชนอยู่เป็นประจำ  หรือสามารถสอบถามที่สภากาชาดไทยจะมีเรื่องของการปฐมพยาบาล สมาคมแพทย์โรคหัวใจก็จะมีการสอนการปั๊มหัวใจ หรือศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะมีการแนะนำวิธีการปฐมแพทย์เบื้องต้น

จากข้อมูลที่นำเสนอมาจะเห็นได้ว่าหากเราเป็นผู้พบเห็นอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บ เราก็สามารถช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้ทันที โดยไม่ต้องรอกู้ภัย เพียงแต่ต้องทำอย่างถูกวิธี เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นจากปฐมพยาบาลฉุกเฉินเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรเรียนรู้เอาไว้

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ