ความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาล ฉุดความเชื่อมั่นการลงทุน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิจัยกรุงศรี มองความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลอาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน ขณะที่ตลาดแรงงานไทยปรับดีขึ้นแต่ยังมีครัวเรือนที่เปราะบางจากภาระหนี้สิน

ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(BOI) ในไตรมาสแรกเติบโตสูง แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของการลงทุน

ตัวเลขยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ขยายตัวสูงในไตรมาสแรกของปีนี้ ได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลาย ประเทศผู้ลงทุนหลักกลับมาเปิดประเทศ ประกอบกับมีแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

มีแต่ดีลรัก! "หมอชลน่าน" ยืนยัน "เพื่อไทย - ก้าวไกล" อยู่ด้วยกันตลอดไป

เลือกตั้ง 2566 : ผลประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล ตั้งคณะกรรมการประสานงาน "พิธา" คุมหัวโต๊ะ

 

 

BOI รายงานในช่วงไตรมาส 1/2566 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% YoY และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 205 โครงการ มูลค่า 154,414 ล้านบาท (คิดเป็น 83% ของมูลค่ารวมทั้งหมด) โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูง นำโดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะข้างหน้าอาจได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้จะมีความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ 8 พรรคการเมือง (312 ส.ส.) นำโดยพรรคก้าวไกล และได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เพื่อวางแนวนโยบายในการบริหารประเทศ 23 หัวข้อ และ 5 แนวทางปฎิบัติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม อาทิ (i) การหาข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นด้านนโยบายและตำแหน่งสำคัญทางการเมือง (ii) การระดมเสียงจากส.ว./ส.ส. อีกอย่างน้อย 64 ท่าน เพื่อสนับสนุนการเลือกคุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และ (iii) คดีการถือหุ้นสื่อ ITV ของคุณพิธา

ขณะที่ล่าสุดฟิทซ์เรตติ้งระบุว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าซึ่งอาจทำให้มีการหยุดชะงักของการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณ อีกทั้งภาวะการคลังของไทยที่ถดถอยลงอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 และหากรัฐบาลชุดต่อไปไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของสัดส่วนหนี้ภาครัฐได้ อาจกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศได้

แม้สถานการณ์การจ้างงานในประเทศปรับดีขึ้น แต่กว่า 85% ของครัวเรือนที่มีหนี้ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง สภาพัฒน์ฯ รายงานในไตรมาสแรกของปี 2566 มีจำนวนผู้มีงานทำรวม 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.6% จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.7% ตามการจ้างงานในสาขาการค้าส่งและค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ที่ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ส่วนการจ้างงานสาขาการผลิตเติบโตเพียงเล็กน้อย ขณะที่การจ้างงานในสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า และสาขาก่อสร้างหดตัวที่ -7.2% และ-1.6% ตามลำดับ

แม้รายได้ของครัวเรือนมีทิศทางดีขึ้นตามสถานการณ์ด้านแรงงานที่ขยายตัว อัตราการว่างงานของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้นับว่าปรับตัวเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิดแล้วที่ 1.05% แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นอาจยังไม่สอดคล้องกับการใช้จ่ายในครัวเรือนบางกลุ่ม โดยข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 4/2565 ครัวเรือนไทยมีมูลค่าหนี้รวม 15.09 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.9% ของ GDP

จากผลสำรวจภาคครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าครัวเรือนที่มีหนี้มีสัดส่วนสูงกว่า 50% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้วิเคราะห์ความเปราะบางของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้และมีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 50,000 บาท จัดเป็นกลุ่มที่ขาดความสามารถในการใช้จ่ายและกู้ยืมเพิ่มเติม เนื่องจากค่าใช้จ่ายรวม (รวมการชำระหนี้) สูงเกินกว่ารายได้แล้ว (จากรูป เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้เกิน 100%) ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนครัวเรือนมากถึง 85% ของครัวเรือนที่มีหนี้

อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนสูง (มากกว่า 50,000 บาทสำหรับครัวเรือนที่มีหนี้) และครัวเรือนที่ไม่มีหนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีโอกาสเติบโตในการใช้จ่ายและกู้ยืม ทั้งนี้ยังต้องระมัดระวังปัจจัยลบจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นซึ่งอาจสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ