อาหารไทย...8 รสแห่งความกลมกล่อม พร้อมสรรพคุณดูแลร่างกาย

โดย จริตปลายจวัก by นรี บุณยเกียรติ

เผยแพร่

จุดเด่นอาหารไทย ภูมิปัญญาในการนำเสนอความหลากหลายในรสชาติตามธรรมชาติออกมาได้ในทุก ๆ สำรับ

อาหารไทยขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารที่มีความละเมียดละไมและพิถีพิถันในการปรุง หาก ฟากญี่ปุ่นมีความอร่อยถึงแก่นที่เรียกว่า "อูมามิ" ฝรั่งเศสมี "ซา วู เรอ" ที่แปลว่าเลิศรส และชาวอังกฤษมี "เฟลเวอร์ฟูล" ที่เเปลว่า รสชาติดีกลมกล่อม อาหารไทยเองก็เช่นกัน ว่ากันว่า จะให้ครบรสที่เรียกได้ว่า "กลมกล่อม" แบบครัวไทย อาหารจานนั้นจะต้องมี 8 รสชาติ เปรี้ยว หวาน เผ็ด เค็ม ขม ฝาด มัน จืด ซึ่งแต่ละรสนั้นจะผสมผสานกันแบบลงตัวเพื่อให้ได้ความรู้สึก "กลมกล่อม" 

อาหารไทย เส้นแบ่งพรมแดนชนชั้น

7 เมนูไทยๆ รสอร่อยล้ำนำคุณประโยชน์ ช่วยต้านโรคเพิ่มภูมิคุ้มกัน

 

 

เปรี้ยว มาจากมะนาว มะขามเปียก น้ำมะกรูด ตะลิงปลิง ใบมะขามอ่อน กระท้อน มะยม ใบส้มป่อย ส้มจี๊ด สับปะรด ใบชะมวง ใบมะม่วง ใบมะดัน ส้มซ่า ซึ่งวัตถุดิบรสเปรี้ยวมักจะช่วยเติมความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า รวมถึงเพิ่มความอยากอาหารและเพิ่มวิตามินซีให้ร่างกาย แถมมีสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมาก ทำให้ผิวพรรณผ่องใส เปล่งปลั่ง

หวาน นอกจากความหวานตามธรรมชาติจากผลไม้สุก น้ำผึ้งแล้วก็มาจากพืชอีกหลายชนิด ทั้ง อ้อย มะพร้าว ปาล์มและตาล น้ำตาลทรายขาว ทำจากอ้อย น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลมะพร้าว ได้มาจากการนำจั่นมะพร้าวมาเคี่ยว ส่วนน้ำตาลทรายแดง ได้มาจากการเคี่ยวและตกผลึกของน้ำตาลจากอ้อย สีน้ำตาลเข้มหอมน้อยกว่าน้ำตาลอ้อย น้ำตาลกรวดได้มาจากนำน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์มาละลาย กรอง และตกผลึกแบบธรรมชาติอย่างช้า ๆ เพื่อให้ได้น้ำตาลที่ไม่หวานแหลมเหมือนน้ำตาลทราย ชอบหวานระดับไหน แบบไหนก็เลือกใช้กันได้ แต่รสหวานจัดก็อาจทำให้เบาหวานถามหาได้ คนโบราณจึงมักจัดสำรับหวานเบา ๆ ใช้ความเปรี้ยวมาตัด ไม่ให้รู้สึกเลี่ยนลิ้นเลี่ยนคอยามกิน และในความหวานก็ไม่ได้มีแต่โทษเสมอไป นอกจากช่วยทำให้เจริญอาหารแล้ว ยังช่วยในเรื่องของเลือดลม แก้วิงเวียน หน้ามืดได้อีกด้วย

เผ็ด มาจาก พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกแห้ง พริกป่น กระเทียม หอมแดง ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย ขมิ้นชัน ใบกระเพรา ซึ่งรสเผ็ดร้อนนี้จะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานดี ช่วยขับลม ขับเหงื่อ ช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ และสารแคปไซซิน Capsaicin ในพริกยังมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระด้วย

เค็ม มาจากเกลือ น้ำปลา กะปิ เคย ปลาร้า ถั่วเน่า ความเค็มในระดับที่พอดีและเหมาะสมก็จะทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุโซเดียมที่ช่วยควบคุมระดับของเหลวในร่างกาย ช่วยในเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อและการทำงานของระบบประสาท และช่วยดูดซึมสารอาหารบางอย่างในลำไส้เล็ก แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไปก็อาจจะทำให้ร่างกายไม่สมดุล เกิดอันตรายได้เช่นกันเพราะทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม การขับถ่ายของเหลวผิดปกติ

ขม มาจากมะระ บอระเพ็ด สะเดา ใบยอ ขี้เหล็ก ชะอม มะเขือ ใบบัวบก และทุกคนน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา ซึ่งรสขมเหล่านี้ช่วยขับลม ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด บำรุงหัวใจ แก้ไอ ลมเสมหะ ฯลฯ 

ฝาด (บางคนเรียก ปร่า) ก็มาจากมะขามป้อม ละมุด ลูกหว้า กล้วยดิบ ดอกเเค ใบกระถิน ใบชา ความฝาดนี้เกิดจากสารแทนนิน tannin ในบรรดาพืชผัก ช่วยลดอาการท้องเดิน แก้ปวดท้อง ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด รวมทั้งลดการติดเชื้อของแผลต่าง ๆ รวมทั้งทำให้แผลหายง่าย

มัน มาจากกะทิ ถั่วลิสง น้ำมัน งา ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร และช่วยเติมไขมันดีให้กับร่างกายและเพิ่มอรรถรสความกลมกล่อมในการกินยิ่งขึ้น

จืด มาจากพืชหัวที่มีความเย็น เช่น หัวไชเท้า รางจืด สรรพคุณช่วยให้ร่างกายรู้สึกเย็น ระบายความร้อนสะสมได้ดี

ดังนั้นความยากในการปรุงรสชาติของอาหารไทยให้ได้กลมกล่อมนั้น นอกจากจะต้องรู้จักวัตถุดิบเพื่อให้เลือกหยิบใช้ได้อย่างเหมาะสมแล้ว
การสร้างสมดุล (Balance) ในรสชาติของอาหารก็เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ต้องพอดี ไม่มากเกิน ไม่น้อยไป

ซึ่งหากจะมองหาว่าอาหารไทยเมนูไหนมีครบรสอย่างเด่นชัด ก็น่าจะเป็นเมนูเมี่ยงคำ ที่มีทั้งหวาน เค็ม มัน เปรี้ยว ฝาด ขม มัน เผ็ด จืด อย่างที่ ดร.นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการสื่อสารธุรกิจบริการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้กล่าวถึงเมี่ยงคำไว้ว่าเป็นเมนูอาหารที่บอกเล่าถึงวัฒนธรรมและความแตกต่างของอาหารไทยได้เป็นอย่างดี หากใครอยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับรสชาติของอาหารไทยแล้ว แนะนำให้ลองทานเมี่ยงคำ จะทำให้เข้าใจ ไม่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีบริบทที่เกี่ยวข้องกับสังคมวัฒนธรรมไทย กระบวนการปลูก การปรุง การกิน ที่มีที่มาที่ไป มีลำดับขั้นที่พิถีพิถันอีกด้วย

มะนาวขาดแคลนในหน้าแล้ง...อย่ามองว่ามะนาวแพงคือปัญหาใหม่ 

10 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการ "ลดความอ้วน" ที่ควรรู้

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ