"วันตรุษจีน" เปรียบเสมือนเป็นเทศกาลปีใหม่ของชาวจีน ในช่วงนี้ผู้คนมักนิยมซื้อของขวัญ และข้าวของเครื่องใช้สำหรับเทศกาล ทำความสะอาดบ้านเรือน สวมเครื่องแต่งกายสีแดง เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้คนจีนยังนิยมมอบซองแดงหรืออั่งเปาเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย ซึ่งเรามักจะได้ยินคำว่า "อั่งเปา" หรือ "แต๊ะเอีย" อยู่บ่อยครั้ง แต่รู้หรือไม่ว่า 2 คำนี้ต่างกันอย่างไร และมีหลักการให้แบบไหน วันนี้พีพีทีวีรวบรวมทุกข้อสงสัยไขคำตอบไว้แล้วที่นี่!
1.) อั่งเปา ต่างกับ แต๊ะเอีย อย่างไร?
"อั่งเปา" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว มาจากคำว่า อั่ง แปลว่า แดง และคำว่า เปา แปลว่า ซอง/กระเป๋า เมื่อมารวมกันก็จะหมายความถึง ซองแดง ที่มักจะใส่ของมงคลเอาไว้ อย่าง ส้ม หยก หรือว่าเงิน และเงินที่ใส่ในซองแดงนั้นก็คือแต๊ะเอียนั่นเอง
"แต๊ะเอีย" เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วเช่นเดียวกัน ซึ่ง คำว่า แต๊ะ แปลว่า กด/ทับ ส่วน เอีย แปลว่า เอว เมื่อแปลรวมกันก็จะหมายถึง ของที่มากดทบที่เอว สาเหตุที่เรียกแบบนี้ เนื่องจากในอดีตเงินของชาวจีนจะมีลักษณะเป็นเหรียญวงกลมซึ่งมีรูตรงกลาง และมักจะผูกด้วยด้ายแดง เอาไว้เป็นพวงเพื่อให้เด็ก ๆ ในวันปีใหม่ ส่วนในปัจจุบันไม่มีการใช้เงินเหรียญที่มีรูตรงกลางแล้ว "แต๊ะเอีย" จึงมีความหมายถึง "สิ่งของ" หรือ "เงิน" ที่ใส่ไว้ในซองสีแดง (ซึ่งก็คืออั่งเปา)
2.) ทำไมต้องซองแดง
ตามความเชื่อของคนจีน “สีแดง” เป็นสีของความมงคล ความรุ่งโรจน์ และความโชคดี ดังนั้นชาวจีนมักนำเงินใส่ซองแดง มอบให้กับลูกหลานหรือคนรู้จักเนื่องในวันมงคลต่างๆ เช่น วันตรุษจีน วันแต่งงาน วันคนเปิดร้านใหม่ ฯลฯ เพื่อเป็นการอวยพรให้ผู้รับพบแต่โชคลาภ และเพื่อเป็นการแสดงความยินดี
แม้จะเข้าสู่ช่วงตรุษจีน แต่คนไทยเชื้อสายจีนหรือลูกหลานคนจีน ไม่ใช่ว่าจะได้รับอั่งเปาหรือแต๊ะเอียเลยทันที เนื่องจากปฏิทินตรุษจีนนั้นจะแบ่งวันออกเป็น 3 วัน ซึ่งในปีนี้ (2566) ตรงกับ
วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566 คือ วันจ่าย
วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 คือ วันไหว้
วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 คือ วันเที่ยว หรือวันปีใหม่
โดยธรรมเนียมในวันเที่ยวหรือวันชิวอิก จะเป็นวันที่เราไปไหว้ขอพรผู้ใหญ่ พร้อมกับส้มมงคลเพื่อนำความโชคดีและคำอวยพรไปให้บุคคลที่เราเคารพนับถือ โดยในวันนี้จะเป็นวันที่เราได้รับอั่งเปาหรือแต๊ะเอีย กลับมาจากญาติผู้ใหญ่นั่นเอง
4.) ใครต้องให้ เงินแต๊ะเอีย เมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้น มีงานทำ มีเงินเดือนเป็นของตัวเองแล้ว จะไม่ได้รับ "แต๊ะเอีย" แต่จะต้องเป็นคนให้เงิน "แต๊ะเอีย" กับเด็ก ๆ ในบ้านที่มีอายุน้อยกว่าต่อไป วนเป็นวัฏจักรโดยมีเกณฑ์เป็นความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือการเติบโตทางการเงินที่มากขึ้น เป็นตัววัด เช่น ผู้ที่เริ่มทำงาน หรือแต่งงานแล้ว
- ผู้น้อยสามารถมอบอั่งเปาให้ผู้อาวุโสกว่าได้ โดยการมอบอั่งเปาให้ผู้อาวุโสกว่า หมายถึง การอวยพรให้ผู้ใหญ่มีสุขภาพดี แข็งแรง อายุยืนยาว
- การมอบอั่งเปาให้เด็ก ๆ หมายถึง การอวยพรให้เด็ก ๆ โชคดี มีโชคลาภ เจริญเติบโตแข็งแรง
- หากผู้ใหญ่มอบอั่งเปาให้ลูกหลานที่ทำงานแล้ว ก็เป็นการอวยพรให้หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า มีสุขภาพแข็งแรง
- หากลูก ๆ ที่ทำงานแล้ว หรือแต่งงานไปแล้วมอบอั่งเปาให้พ่อแม่ จะเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที อวยพรให้พ่อแม่มีอายุยืนยาว
*การที่ลูกให้อั่งเปาพ่อแม่ และพ่อแม่ให้อั่งเปาลูกด้วย จะต้องเป็นเงินของใครของมันเท่านั้น หากลูกให้พ่อแม่แล้ว พ่อแม่นำกลับมาให้ลูกต่ออีกที แบบนี้ไม่ได้
การให้อั่งเปา ผู้ใส่มักจะนิยมใส่จำนวนเงินเป็นเลขคู่ เนื่องจากตามความเชื่อของชาวจีนถือว่าเลขคู่เป็นเลขมงคล อีกทั้งหมายถึงการทวีคูณ โชคสองต่อ โชคสองชั้น แต่จะให้จำนวนเงินเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับรายได้ด้วยเช่นกัน ถ้ารายได้ไม่มาก หรือให้เด็กเล็ก อาจใส่ซองละ 200, 400, 800 ถ้ารายได้มากหรือมอบให้ผู้ใหญ่ที่โตขึ้น ก็อาจใส่จำนวนมากขึ้นตามแต่กำลัง
แต่ตัวเลขที่นิยมมากที่สุด คือ เลข 8 เพราะในภาษาจีนเลข 8 อ่านออกเสียงคล้ายกับคำที่มีความหมายว่า ความร่ำรวย ความรุ่งโรจน์ ความรุ่งเรือง
*สำหรับบางคนจะอาจจะเก็บเงินแต๊ะเอียทั้งหมด หรือเหลือเงินแต๊ะเอียที่ได้รับมาบางส่วนเก็บไว้ในซอง เพราะถือว่าเงินแต๊ะเอียคือความเป็นสิริมงคล และเป็นเงินขวัญถุง เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในวันปีใหม่
แม้จะไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีนหรือลูกหลานคนจีน แต่คนไทยก็ยังสามารถได้รับแต๊ะเอียจากเจ้านายหรือเจ้าของกิจการได้เช่นเดียวกัน และในช่วงตรุษจีนทั้งคนจีนและคนไทยต่างก็สามารถเข้ากิจกรรม กินของไหว้หรือร่วมอวยพรปีใหม่จีนได้ไม่แตกต่างกัน เพราะวัฒนธรรมจีน หรือวัฒนธรรมสากลอื่น ๆ ถูกแทรกซึมอยู่ในสังคมไทย จนเกิดปรากฏการณ์ฟิวชั่นในหลากหลายรูปแบบ พีพีทีวีจึงขอใช้โอกาสดีนี้ สวัสดีปีใหม่จีนทุกท่าน ให้ร่ำรวย เฮง ๆ กันตลอดปีนะคะ