สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงในวันเช็งเม้ง คือ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน หรือเชิญโกศ รูปเคารพ ออกมาไหว้ แต่นอกจากการไหว้แล้วรู้หรือไม่ว่า ในสมัยก่อนเช็งเม้งมีอะไรให้ทำมากกว่าปัจจุบัน วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกัน
ตำนานวันเช็งเม้ง
ตำนานการไหว้บรรพบุรุษในวันเช็งเม้ง ถือปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิขงจื๊อ ถือเป็นความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเป็นหลัก มีเรื่องเล่าไว้หลากหลายตำนาน หนึ่งในนั้นคือจุดเริ่มต้นสมัยราชวงศ์ถัง คาดว่าผู้คิดค้นคือขุนนางราชวงศ์โจว ที่เป็นผู้กำหนดพิธีการไหว้หลุมศพขึ้นมา
เช็งเม้ง 2566 เช็กเลยตรงกับวันที่เท่าไร เริ่มไหว้วันไหน
เปิดตำนาน “วันเช็งเม้ง” มีที่มาอย่างไร ทำไมต้องไหว้ในเดือนที่ร้อนสุด
โดยเช็งเม้งในสมัยก่อนจะมีประเพณีปฏิบัติ ดังนี้
การทำความสะอาดสุสานในเทศกาลเช็งเม้ง ก่อนเริ่มการไหว้นั้น มาจากพระเจ้าฮั่นเกาจู ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น เนื่องจากพระองค์ระลึกถึงบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงเดินทางไปยังบ้านเกิด แต่จำสุสานของบิดามารดาของตนไม่ได้ จึงอธิษฐานต่อเทพบนสวรรค์ด้วยการโปรยกระดาษสีขึ้นฟ้า เพื่อให้กระดาษปลิวไปตกยังป้ายสุสานใด จะถือว่าสุสานนั้นเป็นสุสานของบิดามารดา เมื่อทรงทอดพระเนตรป้ายหลุมศพที่กระดาษตกลงไปชัดๆ ก็พบว่าเป็นหลุมศพของบิดามารดาของพระองค์ หลังจากนั้นประเพณีทำความสะอาดฮวงซุ้ย และทาป้ายชื่อหลุมศพใหม่จึงเป็นที่นิยมปฏิบัติกันต่อมาในวันไหว้บรรพบุรุษ
การเที่ยวชมวสันตฤดูตามเทศกาลซ่างสื้อ โดยซ่างสื้อ ถือเป็นเทศกาลเกี่ยวกับการออกไปท่องเที่ยว เพราะเช็งเม้งในจีนจะอยู่ในช่วงเดือนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิพอดี ทำให้อากาศเย็นสบาย เหมาะแก่การเดินเล่น พักผ่อน จึงมีการนำเทศกาลซ่างสื้อมารวมกับเทศกาลเช็งเม้ง เพราะการไปไหว้หลุมศพในบรรยายกาศดีๆ ก็เหมือนได้เที่ยวชมธรรมชาติไปในตัว
กิจกรรมการละเล่นต่างๆ มากมาย อย่างการเล่นว่าว เพราะเช็งเม้งเป็นช่วงเวลาที่อากาศดี ลมดี จึงเหมาะแก่การเล่นว่าว หรือว่าจะเป็นการเตะลูกหนัง เพราะถือว่าเป็นวันที่จะมีญาติมารวมตัวกันเยอะ การละเล่นที่ใช้คนเยอะและได้สนุกไปด้วยกันก็ถือว่าเหมาะสมไม่น้อย
ส่วนประเพณีปฏิบัติในปัจจุบัน มีการตัดกิจกรรมบางอย่างออกไปดังนี้ ดังนี้
แต่ในปัจจุบันด้วยสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีการตัดปรับอะไรหลายอย่างออกไป เพื่อให้สะดวกแก่การจัดพิธีในปัจจุบันมากขึ้น อย่างเทศกาลกินเย็น ก็ถูกตัดออกไปตั้งแต่ต้น เพราะการงดใช้ไฟทำให้เกิดความลำบากในการทำอาหาร และไม่สามารถจะจุดเผากระดาษเงิน กระดาษทองได้
หรือจะเป็นการเที่ยวชมวสันตฤดูตามเทศกาลซ่างสื้อ และการละเล่นต่างๆ ก็ถูกตัดออกไปเช่นกัน เนื่องจาก ปัจจุบันหลายๆ คนทำงานอาจจะลางานมาได้ไม่นาน และด้วยสภาพอากาศในเมืองไทยช่วงเช็งเม้งที่ค่อนข้างร้อน จึงไม่เหมาะกับการเที่ยวชมหรือพักผ่อน จึงมีการตัดออกเหลือไว้เพียงส่วนสำคัญอย่างการทำความสะอาดสุสาน การไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ
ประเพณีปฏิบัติยุคปัจจุบัน
1.) การทำความสะอาดสุสาน
ลงสีที่ป้ายชื่อให้ดูใหม่ โดยคนตายแล้วลงสีเขียว หรือสีทองขลิบเขียว ขณะที่ป้ายชื่อคนเป็นให้ลงสีแดง แต่ทั้งนี้ ห้ามถอนหญ้า เพราะอาจกระทบตำแหน่งห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ เป็นต้น
สำหรับการตกแต่งสุสานนั้น อาจใช้กระดาษม้วนสายรุ้ง โดยสุสานคนเป็น ให้ใช้สายรุ้งสีแดง ส่วนสุสานคนตาย สามารถใช้สายรุ้งสีอะไรก็ได้ แต่ห้ามห้ามปักธงลงบนหลังเต่า เพราะถือว่า เป็นการทิ่มแทงหลุม และบางความเชื่อ ถือว่าเป็นการทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษรั่ว
2.) กราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแล
การจัดวางของไหว้ ทำได้ดังนี้
- เทียน 1 คู่ + ธูป 5 ดอก ( อาจปักลงบนฟักได้ )
- ชา 5 ถ้วย
- เหล้า 5 ถ้วย
- ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ควรงดเนื้อหมูเพราะเคยมีปรากฎว่าเจ้าที่เป็นอิสลาม)
- กระดาษเงิน กระดาษทอง
3.) กราบไหว้ระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ และบรรพบุรุษ
การจัดวางของไหว้ ทำได้ดังนี้
- ชา 3 ถ้วย
- เหล้า 3 ถ้วย
- ของไหว้ต่างๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ (ของไหว้ตามความเชื่อประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นขนมถ้วยฟู)
- กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ
- เทียน 1 คู่ + ธูป ตามจำนวนบรรพบุรุษ ท่านละ 1 ดอก
การทำพิธีเช็งเม้ง
ให้ผู้อาวุโสเป็นผู้นำกราบไหว้และเมื่อเทียนใกล้หมดก้านก็ให้ลูกหลานตีวงล้อมด้วยหวาย เผา กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ เป็นการกำหนดขอบเขตว่าสิ่งเหล่านี้ลูกหลานส่งให้บรรพบุรุษของครอบครัวนั้นๆ เป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันการแย่งชิง (ผู้ตีวงล้อม ต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น)
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้ว บางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงทานอาหารกันต่อเพื่อแสดงความสมานสามัคคีแก่บรรพบุรุษ
ทั้งนี้ห้ามวางของตรงแท่นหน้าเจี๊ยะปี (ป้ายหิน ที่จารึกชื่อ บรรพบุรุษ) เพราะเป็นที่เข้าออกของวิญญาณบรรพบุรุษ ไม่ใช่เก้าอี้นั่งอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด
ขอบคุณภาพจาก : studycli.org