ประเทศไทย เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมทุกปี ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภัยทางธรรมชาติ และระบบการจัดการน้ำ และด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์
ปัญหาน้ำท่วม ไม่เพียงแต่สร้างความเดือดร้อนในการใช้ชีวิตและการเดินทาง แต่สร้างความเสียหายให้ทรัพย์สินของเราอย่างมาก หากจะต้องเสียเงินซื้อใหม่ทั้งหมดก็คงจะไม่ไหว
เพราะฉะนั้น มาเรียนรู้การป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ในบ้าน เพื่อป้องกันความเสียหาย และเรียนรู้การใช้งานที่ปลอดภัยในช่วงน้ำท่วมกันเถอะ
น้ำมาเร็ว ต้องรีบยกของขึ้นที่สูง!
เปิดวิธียกเครื่องใช้ไฟฟ้าหนีน้ำท่วม เตรียมตัวดี ไม่มีเสียหาย
ถึงแม้เครื่องใช้ไฟฟ้าจะไม่ได้มีแค่ขนาดเล็กอย่างเดียว ยังมีของใช้ขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นตู้เย็น หรือเครื่องซักผ้า แต่หากรู้วิธีป้องกันในเบื้องต้น ก็อาจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
1. ตู้เย็น
- เก็บของด้านในออกมาให้หมด จากนั้นถอดปลั๊กไฟออก
- เมื่อน้ำแข็งในช่องฟรีซละลายหมดแล้ว ให้ทำความสะอาดตู้เย็น และเปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้ให้แห้งสนิท
- นำเทปกาวมาปิดรอบประตูตู้เย็น แล้วนำพลาสติกพันรอบตู้เย็นอีกหนึ่งชั้น โดยเน้นที่ตัวคอมเพรสเซอร์
- หากไม่สามารถยกตู้เย็นขึ้นที่สูงหรือย้ายไปชั้นสองของบ้านได้ ให้จับตู้เย็นคว่ำหน้าลงพร้อมหาผ้ามารองด้านล่างไว้ด้วย หากน้ำท่วมสูงตู้เย็นจะลอยขึ้นโดยที่คอมเพรสเซอร์ด้านหลังไม่โดนน้ำ
2. เครื่องซักผ้า
- ทำความสะอาดเครื่องซักผ้า ด้วยการใส่น้ำยาซักผ้าลงไปในเครื่อง แล้วเปิดโปรแกรมการซักล้างตามปกติ (โดยไม่ต้องใส่เสื้อผ้าลงไป)
- ระบายน้ำในเครื่องออกให้หมด ให้ปิดวาล์วจ่ายน้ำ พร้อมถอดสายยางและสายไฟออก แล้วม้วนเก็บในช่องเก็บให้เรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการขนย้าย แต่หากถอดสายยางและสายไฟไม่ได้ ให้นำเชือกมาผูกหรือใช้เทปกาวยึดเข้ากับเครื่องซักผ้าให้แน่น
- ถอดปลั๊กไฟออกให้เรียบร้อย เป็นการตัดกระแสไฟฟ้าในตัวเครื่อง เพื่อเสริมความมั่นใจว่าไม่เกิดอันตรายขณะขนย้าย
- ก่อนขนย้ายเครื่องซักผ้าต้องมั่นใจว่าภายในตัวเครื่องแห้งสนิท รวมถึงเวลาย้ายเครื่องซักผ้าขึ้นที่สูงควรใช้คนมากกว่า 1 คน เพราะเครื่องซักผ้ามีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
ปภ. เตือน 31 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก
“ชะอม” ผักกลิ่นฉุนแต่อร่อย เปิดประโยชน์และโทษที่บางคนควรหลีกเลี่ยง!
แนท เกศริน คว้า 2 เหรียญทองการแข่งขันเพาะกาย ที่ฟิลิปปินส์
3. เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถขนย้ายได้เลย เช่น ไมโครเวฟ โทรทัศน์ เครื่องดูดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เตารีด ต้องขนขึ้นที่สูงเท่านั้น ก่อนเคลื่อนย้าย ควรถอดปลั๊กไฟให้เรียบร้อย พร้อมจัดเก็บอุปกรณ์ทั้งหมดลงกล่องแล้วนำเทปกาวมาปิดผนึกไว้
แนวทางการใช้ไฟฟ้าให้ปลอดภัย ในขณะที่น้ำท่วมบ้าน
“น้ำเป็นสื่อไฟฟ้า” จึงเป็นอันตรายอย่างมากในขณะที่เกิดน้ำท่วมในบ้าน แต่ไฟฟ้าก็เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรท่ามกลางอันตรายเหล่านี้
- ห้ามใช้ปลั๊กไฟ หรือสวิตซ์ไฟที่น้ำท่วมถึงโดยเด็ดขาด
- พบเห็นสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแช่น้ำอยู่ ห้ามเข้าใกล้หรือจับต้อง
- เมื่อยืนอยู่ในน้ำหรือตัวเปียกน้ำอยู่ ห้ามเปิด-ปิดสวิตซ์ไฟ หรือเสียบปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ
- กรณีที่เป็นบ้านสองชั้น และมีสวิตซ์ไฟแยกแต่ละชั้น หากน้ำท่วมชั้นล่าง ให้ตัดกระแสไฟชั้นล่างไปเลย
- อุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ย้ายหนีน้ำมาแล้ว ก่อนใช้งาน ต้องจัดวางในตำแหน่งที่มั่นคง ไม่ให้โดนน้ำ
- การยืนบนแผ่นยางปูพื้น หรือใส่รองเท้าที่เป็นฉนวนไฟฟ้า (และไม่เปียกชื้น) สามารถป้องกันไฟดูดได้
- หากพบเห็นคนโดนไฟดูด อย่าสัมผัสตัวผู้ถูกไฟดูดโดยตรง ให้ใช้ไม้แห้งเขี่ยสายไฟออก หรือใช้ผ้าแห้งคล้องตัวผู้ถูกไฟดูดออกมา หรือปลดสวิตซ์ไฟฟ้า หลังจากนั้นก็ปฐมพยาบาลทันที
หลังน้ำลดแล้ว ควรทำอย่างไรกับเครื่องใช้ไฟฟ้า
อย่ารีบนำเครื่องใช้ไฟฟ้ามาใช้งานโดยเด็ดขาด เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจมีน้ำเข้าเครื่องแล้ว ทำให้ความชื้นสะสมที่มอเตอร์ แผงวงจรต่าง ๆ รวมไปถึงระบบเครื่องกล ซึ่งจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรเมื่อเปิดใช้งาน
ดังนั้น ควรให้ช่างไฟตรวจสอบก่อนใช้งานทุกครั้ง อย่าซ่อมแซมด้วยตัวเอง
ขอบคุณข้อมูล: LG, คู่มือความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้าในสภาวะน้ำท่วม โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค