ระบบสุริยะ หรือที่เรียกว่าสุริยจักรวาล ถือว่าเป็นระบบดาวที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราโดยตรง เพราะดาวโลกถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะด้วยเช่นกัน แต่นอกจากดาวโลกแล้ว ระบบสุริยะยังประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ และองค์ประกอบอื่น ๆ โดยทางนักดาราศาสตร์ได้เริ่มต้นศึกษาเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่น จนค้นพบระบบดาวเคราะห์ที่โคจรเรียงกันอย่างเป็นระบบ
บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ สำหรับคนที่อ่านแล้วเริ่มสงสัยว่าดาวเคราะห์ในสุริยจักรวาลมีอะไรบ้าง ดาวแต่ละดวงมีลักษณะเป็นอย่างไร สามารถหาคำตอบได้ที่บทความนี้
ระบบสุริยะคืออะไร? เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์อย่างไร?
ระบบสุริยะ คือระบบของดวงดาวที่ประกอบด้วยดาวเคราะห์บริวารที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ดาวฤกษ์ที่ว่า คือดวงอาทิตย์ที่อาศัยแรงโน้มถ่วงทำให้ดาวเคราะห์บริวาร รวมถึงดาวโลกไม่หลุดออกจากวงโคจรของดวงอาทิตย์ ซึ่งระบบสุริยะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลอันกว้างใหญ่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก และมีดาวเคราะห์เป็นบริวารทั้งหมด 8 ดวง
อ่านเรื่องราวดาราศาสตร์และจักรวาลเพิ่มเติมได้ที่บทความ ท้องฟ้าจำลอง
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะประกอบด้วยดาวทั้งหมด 8 ดวง ซึ่งแต่ละดวงจะมีชื่อและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกดวงล้วนหมุนรอบตัวเองไปพร้อมกับการโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยดาวแต่ละดวงมีชื่อดังต่อไปนี้
ดาวพุธ
ดาวพุธ ถือว่าเป็นดาวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดและมีขนาดเล็กที่สุด โดยใช้เวลาหมุนรอบตัวเองนานถึง 180 วัน แต่กลับโคจรรอบดวงอาทิตย์เพียง 88 วัน ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในระบบสุริยจักรวาล ดาวพุธมีลักษณะเด่น คือ ด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์จะมีอุณหภูมิสูงถึง 430 องศาเซลเซียส แต่ด้านตรงข้ามที่ไม่โดนแสงอาทิตย์จะมีอุณหภูมิติดลบ 180 องศาเซลเซียส จนถูกขนานนามว่า “เตาไฟแช่แข็ง”
ดาวศุกร์
ดาวศุกร์ เป็นดาวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เป็นอันดับสองและมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับดาวโลกจนได้ชื่อว่าเป็นดวงดาวฝาแฝดกับโลก นอกจากนั้นดาวศุกร์ยังเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่ร้อนสุด ๆ เนื่องจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สูงมาก ทำให้ดาวศุกร์กักเก็บความร้อนไว้ถึง 465 องศาเซลเซียส ลักษณะเด่นของดาวศุกร์อีกอย่าง คือการหมุนรอบตัวเองที่ตรงข้ามกับดาวดวงอื่น ๆ และใช้เวลาถึง 243 วันหากเทียบกับดาวโลก
โลก
โลก คือดาวเคราะห์ลำดับที่สามและเป็นดาวที่มนุษย์เราอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่มีปัจจัยที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ด้วยองค์ประกอบของน้ำที่ครอบคลุมโลกถึง 71% และออกซิเจนในอากาศ 21% ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ โลกมีฉายาว่า “ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน” ใช้เวลาหมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 365 วัน ดาวโลกมีดวงจันทร์บริวาร 1 ดวง ซึ่งดาวพุธและศุกร์ไม่มี
ดาวอังคาร
ดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่สี่ มีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า “ดาวเคราะห์แดง” ซึ่งมาจากสีแดงบนผิวดาวที่เกิดขึ้นโดยการออกซิเดชันของเหล็ก ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารสองดวง ส่วนสภาพอากาศบนดาวค่อนข้างแปรปรวนมักเกิดกระแสลมแรงบ่อย ๆ และในอากาศมีคาร์บอนไดออกไซด์เป็นองค์ประกอบหลัก ถึงอย่างนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็พยายามสำรวจดาวอังคารเป็นอย่างมาก เพราะเป็นดาวที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต และมีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตมากที่สุด
ดาวพฤหัสบดี
ดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ห้า ซึ่งนับว่าเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ และระยะเวลาที่ใช้โคจรรอบตัวเองน้อยที่สุดเพียง 10 ชั่วโมง ลักษณะเด่นของดาวพฤหัสบดี คือ ชั้นบรรยากาศที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นส่วนประกอบหลัก และสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนสูง
บนดาวมีจุดแดงใหญ่ หรือที่เรียกว่า Great Red Spot ที่มีอายุมากกว่า 300 ปี และมีวงแหวนจาง ๆ 3 วงล้อมรอบดาว อีกหนึ่งจุดเด่นของดาวพฤหัสบดี คือ มีดวงจันทร์ที่เป็นบริวารมากกว่า 65 ดวง โดยมีแกนิมีดเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
ดาวเสาร์
ดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่หกถัดจากดาวพฤหัสบดี และมีขนาดใหญ่รองลงมา โดยมีวงแหวนที่เกิดจากน้ำแข็งและเศษหินล้อมรอบดวงดาวเป็นลักษณะเด่น สภาพอากาศบนดาวเสาร์ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียม มีดวงจันทร์บริวารกว่า 50 ดวง ไททันเป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีชั้นบรรยากาศที่คล้ายคลึงกับโลก
ดาวยูเรนัส
ดาวยูเรนัส เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่เจ็ดและมีวงแหวนจาง ๆ 13 ชั้นรอบดวงดาว ประกอบด้วยดวงจันทร์บริวาร 27 ดวง ดาวยูเรนัสเป็นดาวสีฟ้าที่เกิดจากมีเทนที่ดูดแสงสีแดงและสะท้อนออกมาเป็นแสงสีน้ำเงิน ลักษณะเด่นอีกอย่างของดาวยูเรนัส คือการหมุนรอบตัวเองเป็นแนวตะแคง และใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์นานถึง 84 ปี
ดาวเนปจูน
ดาวเนปจูน เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับสุดท้าย ประกอบด้วยดวงจันทร์บริวาร 13 ดวง และวงแหวน 6 วง ดาวเนปจูนมีความคล้ายคลึงกับดาวยูเรนัสเป็นอย่างมาก แต่กลับมีระยะเวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่นานกว่าเป็นเท่าตัว โดยใช้เวลาถึง 165 ปี อีกทั้งสภาพอากาศบนดาวเนปจูนเข้าขั้นเลวร้ายด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยที่ -200 องศาเซลเซียส และกระแสลมที่พัดแรงมาก ๆ
การแบ่งดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมีเกณฑ์อย่างไรบ้าง?
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมีการจำแนกออกมาตามเกณฑ์ ซึ่งมีทั้งเกณฑ์การแยกจากลักษณะทางกายภาพ ลักษณะพื้นผิวของดาว และการเรียงวงโคจรระบบสุริยะ โดยเกณฑ์ที่นักดาราศาสตร์ใช้แบ่งแยกดาวเคราะห์ในปัจจุบัน ได้แก่
ลักษณะทางกายภาพ
- ดาวเคราะห์ชั้นใน : เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากกว่า มีความหนาแน่นและองค์ประกอบเป็นของแข็ง มักถูกเรียกว่าดาวเคราะห์หิน ดาวเคราะห์ชั้นใน คือดาวพุธ, ดาวศุกร์, โลก และดาวอังคาร
- ดาวเคราะห์ชั้นนอก : ดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่า เป็นดาวที่ปกคลุมด้วยก๊าซ ดาวเคราะห์ชั้นนอก ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
ลักษณะพื้นผิว
- ดาวเคราะห์ก้อนหิน : พื้นผิวของดาวมีลักษณะแข็งเป็นหิน ดาวเคราะห์กลุ่มนี้ ได้แก่ ดาวพุธ, ดาวศุกร์, โลก และดาวอังคาร
- ดาวเคราะห์ก๊าซ : ดาวที่เป็นก๊าซทั้งดวง ชั้นบรรยากาศมีองค์ประกอบของก๊าซมีเทน, ฮีเลียม, แอมโมเนีย และไฮโดรเจน ดาวในกลุ่มนี้ ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
วงโคจร
- ดาวเคราะห์วงใน : ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์โดยยึดโลกเป็นเกณฑ์หลัก มีเพียง 2 ดวง คือ ดาวพุธ และดาวศุกร์
- ดาวเคราะห์วงนอก : ดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ถัดจากดาวโลกเป็นต้นไป ดาวเคราะห์วงนอก ได้แก่ ดาวอังคาร, ดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
นอกจากดาวเคราะห์แล้ว ในระบบสุริยะยังประกอบด้วยดาวใดอีกบ้าง ?
- ดาวเคราะห์แคระ : วัตถุทรงกลมลักษณะคล้ายดาวเคราะห์แต่มีขนาดเล็กกว่า สิ่งที่ทำให้ดาวเคราะห์แคระต่างจากดาวเคราะห์ คือวิถีการโคจรที่ซ้อนทับกับดาวอื่น เช่น ดาวพลูโต อดีตดาวบริวารลำดับที่เก้า
- ดาวเคราะห์น้อย : วัตถุลักษณะคล้ายดาวมีทรงกลมขนาดเล็ก โคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี เช่น ดาวเคราะห์น้อยซีรีส
- ดวงจันทร์บริวาร : ดาวที่โคจรอยู่รอบดาวเคราะห์ ไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยตรง ตัวอย่างดวงจันทร์ เช่น ดวงจันทร์ของดาวโลก แกนิมีดที่เป็นดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี
- ดาวหาง : วัตถุขนาดเล็กที่มีองค์ประกอบของน้ำแข็งและแก๊สที่มีลักษณะเป็นของแข็ง โคจรเป็นรูปวงรีแคบเข้าหาดวงอาทิตย์ ซึ่งต่อมาดวงอาทิตย์จะปล่อยพลังงานที่ทำให้ดาวหางระเหิด และพุ่งไปทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ด้วยผลของลมสุริยะ
- ดาวตก : สะเก็ดของดวงดาวที่พุ่งมายังโลกจนเกิดการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดความร้อนจนลุกไหม้เป็นแสงสว่างขึ้นมา ดาวตกนั้นมักปรากฏเป็นแสงบนท้องฟ้าแล้วก็หายไป
- อุกกาบาต : เป็นดาวตกที่ถูกเผาไหม้ไม่หมด ส่งผลให้เหลือหินและเหล็กจากดาวบางส่วนพุ่งตกลงมาบนโลกเป็นอุกกาบาต
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ดาวเคราะห์แคระ และองค์ประกอบของสุริยจักรวาล
ปัจจุบันดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมีทั้งหมด 8 ดวง ไล่ตั้งแต่ดาวพุธไปจนถึงดาวเนปจูน และตัดดาวพลูโตออก เนื่องจากนักดาราศาสตร์ตัดสินใจว่าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์แคระ โดยดาวเคราะห์แต่ละดวงจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่มีเพียงแค่ดาวโลกเท่านั้นที่ค้นพบว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน โดยในอนาคตนักวิทยาศาสตร์ก็อาจค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่น