‘ขยะอาหาร’ ปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง เพื่อโลกที่น่าอยู่

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ขยะอาหาร คือ อาหารทานเหลือทิ้งหรือเศษอาหารที่เกิดระหว่างกระบวนการผลิต ที่แม้ว่าจะย่อยสลายได้ แต่ก็สามารถสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่คิด

‘ขยะอาหาร’ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อโลกที่น่าอยู่

ปัญหาขยะล้นโลกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ซึ่ง ‘ขยะอาหาร’ เป็นขยะอีกประเภทที่สามารถสร้างปัญหาให้กับโลกได้ไม่แตกต่างจากขยะประเภทอื่นเท่าไรนัก แต่กลับถูกมองข้ามเพราะความเข้าใจว่าขยะประเภทนี้สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งในบทความนี้จะพามาทำความเข้าใจถึงปัญหาขยะอาหารที่ถูกต้อง เพื่อการตระหนักถึงปัญหาอย่างจริงจัง และสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมต่อไป

คอนเทนต์แนะนำ
กินทุเรียนอย่างไร ให้ดีต่อสุขภาพ เรื่องจริงที่คนรักการกินควรรู้!
กินอะไรดี? คัดมาให้แล้ว 170 เมนู เลือกได้เลย อร่อยแน่นอน
ต้มไข่กี่นาทีถึงจะได้ความสุกที่ต้องการ เคล็ดลับเพื่อคนรักไข่ต้ม!

‘ขยะอาหาร’ ปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง เพื่อโลกที่น่าอยู่ Freepik/freepik
‘ขยะอาหาร’ ปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง เพื่อโลกที่น่าอยู่

ทำความรู้จัก ‘ขยะอาหาร’ ขยะที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ได้มากกว่าที่คิด

ขยะอาหาร คือ ขยะที่เกิดจากการทานอาหารเหลือทิ้ง อาหารที่หมดอายุ รวมถึงขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งขยะอาหารถูกจัดอยู่ในประเภท ‘ขยะมูลฝอย’ ที่มีสัดส่วนมากถึง 38% ของขยะมูลฝอยทั้งหมด ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับขยะมูลฝอยประเภทอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า Food Waste ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของขยะทุกประเภทรวมกัน และกว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั้งโลกมักจะกลายเป็นขยะอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์

จากข้อมูลดังกล่าว ขยะอาหารสามารถสะท้อนถึงปัญหาการจัดการทรัพยากรที่มีคุณภาพอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะในเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในทุกทาง

ทิ้งขยะอย่างไรช่วยลดโลกร้อน? อ่านต่อได้ที่ “ถังขยะแยกประเภท แยกขยะให้ถูกวิธี เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

ประเภทของขยะอาหาร แยกให้ออก แล้วจัดการให้ถูกจุด

ขยะอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามแหล่งกำเนิดของการเกิดขยะ ได้แก่

Food Loss

Food Loss คือ ขยะอาหารที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การปรุง หรือการแปรรูปก่อนถึงมือผู้บริโภค ทำให้เกิดการสูญเสียอาหารที่สามารถบริโภคได้โดยไม่จำเป็น ซึ่งมักเกิดจากปัญหาการขาดความรู้ หรือขาดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ รวมไปถึงการบริหารทรัพยากรอาหารที่มีประสิทธิภาพ

Food Waste

Food Waste คือ ขยะอาหารที่เกิดขึ้นในตอนปลายของห่วงโซ่อาหารจากการทานเหลือทิ้ง อาหารเน่าเสีย อาหารที่ทานได้อยู่แต่หน้าตาไม่น่ารับประทานตามมาตรฐาน รวมไปถึงอาหารเหลือที่เกิดจากการจัดการอาหารที่ไม่เหมาะสมของร้านค้าต่าง ๆ

ขยะอาหารเริ่มจากไหน? เผยแหล่งกำเนิดและสาเหตุที่หลายคนมองข้าม

‘ขยะอาหาร’ ปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง เพื่อโลกที่น่าอยู่ Freepik/NicoBecker
‘ขยะอาหาร’ ปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง เพื่อโลกที่น่าอยู่

ขยะอาหารเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งมีแหล่งกำเนิดและสาเหตุที่ทำให้อาหารกลายเป็นฟู้ดเวสต์ดังต่อไปนี้

ในการเกษตร

  • การเก็บเกี่ยวผลผลิตล่าช้าจนเน่าเสีย
  • ความเสียหายจากโรค แมลง รวมไปถึงสภาพอากาศ
  • การคัดทิ้งผลผลิตที่ไม่ตรงตามมาตรฐานรูปลักษณ์
  • การขาดเทคโนโลยีในการเก็บรักษาหรือแปรรูปอย่างมีประสิทธิภาพ

ในโรงงานอุตสาหกรรม

  • กระบวนการผลิตเกิดความผิดพลาด สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
  • การขนส่งที่ไม่เหมาะสม

ในร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต

  • การจัดเก็บอาหารที่ไม่เหมาะสม
  • การจัดการสต๊อกสินค้าไม่เหมาะสม
  • อาหารถูกคัดทิ้งจากบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์

ในร้านอาหาร

  • การเตรียมวัตถุดิบที่มากเกินไป
  • การจัดการสต๊อกวัตถุดิบไม่เป็นระบบ
  • อาหารถูกคัดทิ้งเนื่องจากรูปลักษณ์หรือรสชาติไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
  • อาหารเหลือจากลูกค้า

ในครัวเรือน

  • การตักอาหารที่มากเกินไปจนทานไม่หมด
  • การจัดเก็บอาหารที่ไม่เหมาะสม
  • ซื้อกักตุนอาหารที่มากเกินจำเป็น

ผลกระทบจากขยะอาหาร… ที่คุณอาจไม่เคยรู้

แม้ว่าผู้คนจะเริ่มตระหนักรู้ในเรื่องขยะล้นโลก และมีการรณรงค์ลดปริมาณขยะในรูปแบบต่าง ๆ กันแล้วก็ตาม แต่ขยะอาหารกลับเป็นที่ละเลย เนื่องจากความเข้าใจว่าขยะประเภทนี้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จึงไม่น่าจะก่อปัญหาร้ายแรง

สำหรับขยะอาหาร แม้ว่าจะไม่ใช่ขยะอันตราย แต่สามารถส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ไม่ต่างจากขยะประเภทอื่น หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ตั้งแต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน หนึ่งในกลุ่มก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ไปจนถึงการเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่สามารถก่อให้เกิดกลิ่นรบกวน และอาจก่อโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อีกด้วย

ปัญหาขยะอาหารจะลดลงได้ ถ้าจัดการอย่างถูกวิธี!

เมื่อตระหนักรู้ถึงปัญหาของขยะอาหารที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง วิธีแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง การป้องกันไม่ให้อาหารกลายเป็นขยะ และการจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสม จึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัญหาขยะอาหาร ซึ่งมีแนวทางดังนี้

ป้องกันการเกิดขยะอาหาร

เราสามารถป้องกันไม่ให้อาหารดี ๆ กลายเป็นขยะได้หลากหลายวิธี ได้แก่

  • การยืดอายุอาหารด้วยการแปรรูปอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การอบแห้ง การหมักดอง เป็นต้น
  • การจัดการวัตถุดิบด้วยหลัก “มาก่อน ใช้ก่อน” (First In, First Out - FIFO)
  • จัดเก็บวัตถุดิบและอาหารแต่ละประเภทอย่างเหมาะสม
  • การส่งต่ออาหารที่ยังรับประทานได้ให้กับผู้ที่ต้องการ

ลดการเกิดขยะอาหาร

เราสามารถลดการเกิดขยะอาหารโดยไม่จำเป็นได้โดยวางแผนการซื้ออาหารให้ดี ดังนี้

  • ไม่กักตุนอาหารในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น
  • ไม่ซื้อวัตถุดิบและอาหารเพียงเพราะโปรโมชันการตลาด

ไม่ซื้ออาหารตอนหิว เพราะอาจทำให้เผลอซื้ออาหารมากเกินรับประทาน อาจเลือกซื้ออาหารตามสั่ง ที่ทานจบในจานเดียว เพื่อลดการเกิดอาหารเหลือทิ้ง

นำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์

ขยะอาหารบางอย่างสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้ เช่น การนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ การนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือนำไปทำเป็นอาหารสัตว์

กำจัดขยะอาหารอย่างถูกวิธี

ขยะอาหารที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จะถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบ ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายในการกำจัดขยะอาหารอย่างถูกวิธี

ขยะอาหาร อย่ามองข้าม รีบจัดการเพื่อโลกที่สะอาดและน่าอยู่ต่อไป

ขยะอาหารที่ดูเหมือนจะไม่สร้างปัญหามากนัก แต่กลับส่งผลกระทบได้มากกว่าที่คิด ดังนั้นการตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะอาหารจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการปรับพฤติกรรม และร่วมกันหาวิธีจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว

Bottom-VNL2025 Bottom-VNL2025

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ