ปวดในช่องท้อง สัญญาณเตือน 9 โรคอันตราย อย่านิ่งนอนใจจนโรคลุกลาม
ปวดท้องอย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะ หากมีความผิดปกติควรได้รับการวินิจฉันจากแพทย์ ก่อนโรคลุกลามจนสายเกินแก้
อวัยวะภายในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็น กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับอ่อน ล้วนเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่รับประทานเข้าไป รวมทั้งย่อยและขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
เมื่อใดก็ตามที่อวัยวะเหล่านี้ทำงานผิดปกติ ย่อมส่งสัญญาณเตือนอันตรายออกมา ที่สังเกตได้ง่ายคือ อาการปวดท้อง ซึ่งไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะแม้อาการปวดเพียงเล็กน้อยก็อาจมีภาวะผิดปกติอย่างร้ายแรงที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคที่ผู้ชายวัย 50+ เสี่ยงมากกว่าใคร
ท้องผูกบ่อย ๆ เรื่องใหญ่กว่าที่คิด ลองปรับชีวิตประจำวันก่อนกินยา
9 โรคในช่องท้องที่พบได้บ่อย ได้แก่
1.นิ่วในถุงน้ำดี
โดยปกติแล้วถุงน้ำดีจะทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำดี และเพิ่มความเข้มข้นในการย่อยสลายอาหารประเภทไขมันให้ดียิ่งขึ้น การเกิดนิ่วในถุงน้ำดีอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อาทิ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ๆ หรือคนที่อ้วนมาก ๆ และโรคเลือดต่าง ๆ ทำให้องค์ประกอบน้ำดีเสียไปจนเกิดการตกตะกอนกลายเป็นนิ่วขึ้น
อาการของนิ่วในถุงน้ำดี
- สัญญาณเตือนเบื้องต้นคือ ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แต่จะไม่ปวดแสบเหมือนโรคกระเพาะ ผ่านไปสักพักคนไข้จะรู้สึกดีขึ้นเอง จนบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่ากินแค่ยาลดกรดขับลมก็หาย
- ในกรณีที่ปล่อยทิ้งไว้ถึงขั้นถุงน้ำดีอักเสบอาการอาจรุนแรงขึ้นได้ เช่น
- คนไข้จะมีอาการปวดจุก ๆ ขยับตัวไม่ได้
- หายใจเข้าก็เจ็บ เพราะเวลาหายใจเข้ากระบังลมจะดันลงต่ำจนไปดันถุงน้ำดีที่อักเสบอยู่
- ปวดชายโครงขวาหรือร้าวไปหลัง
- อาจเกิดเป็นหนองและติดเชื้อในกระแสเลือดได้
- ถ้านิ่วหลุดและหล่นลงมาอุดตันบริเวณท่อน้ำดี คนไข้จะมีอาการไข้
- หนาวสั่น
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- เกิดการอักเสบติดเชื้อของทางเดินท่อน้ำดี ต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วนและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
หากมีนิ่วค้างอยู่เป็นเวลานานอาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี หรือทำให้ตับอ่อนอักเสบได้ นอกจากนี้ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่มากยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งถุงน้ำดีได้
ดังนั้นหากตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา เพราะนิ่วนั้นโอกาสน้อยมากที่จะหายไปได้เอง ควรหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หรือหากมีอาการตามเบื้องต้น ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคด้วยการอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนเพื่อทำการรักษาต่อไป
ท้องอืด แน่นท้อง คลำพบก้อน “มะเร็งรังไข่” ภัยร้ายของผู้หญิง
ปวดท้อง "ไส้ติ่งอักเสบ" สังเกตให้เป็นก่อนเสี่ยง “แตก”
2.ไส้เลื่อนหน้าท้อง ขาหนีบ
ไส้เลื่อนหน้าท้อง ขาหนีบ คือ การที่ผนังของกล้ามเนื้ออ่อนแอลงหรือความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้เกิดการหย่อนหรือฉีกขาด ส่งผลให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนออกมา ทำให้เกิดอาการปวดจุก ๆ ท้อง ร่วมกับสังเกตเห็นการนูนเป็นก้อนในตำแหน่งนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ บริเวณสะดือ ขาหนีบ ผนังหน้าท้องที่เคยมีการผ่าตัดมาก่อน
ปัจจัยของการเกิดไส้เลื่อนเกิดได้จาก
- ความอ้วน น้ำหนักตัวที่เพิ่มจะทำผนังหน้าท้องขยายจนทำให้ผิวบริเวณหน้าท้องตึงและบาง
- อายุที่เพิ่มขึ้นผนังหน้าท้องจะเริ่มบางและอ่อนแอลง
- ความดันในช่องท้องมากกว่าปกติ เช่น ยกของหนัก การเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรง ๆ ต่อมลูกหมากโต ท้องผูก
- โรคบางชนิดที่ทำให้มีน้ำในช่องท้องเพิ่มขึ้น
อาการของไส้เลื่อนคือ คนไข้จะปวดท้องแบบจุก ๆ รู้สึกแน่น ๆ บริเวณใกล้ ๆ ก้อน หากสังเกตว่ามีส่วนใดบริเวณหน้าท้องหรือขาหนีบนูนขึ้นมาเป็นก้อนผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
อาการเหล่านี้หากเป็นจากไส้เลื่อนไม่สามารถหายได้เอง หากปล่อยทิ้งไว้อาจรุนแรงหรือมีความยุ่งยากในการผ่าตัดมากขึ้น เช่น ลำไส้เน่าหรืออุดตัน เพราะลำไส้ไม่สามารถกลับเข้าไปได้ โดยคนไข้จะมีอาการปวดที่ก้อนมาก อาเจียน ปวดท้องแบบบีบ ๆ ถ่ายไม่ออก
3.ไส้ติ่ง
ไส้ติ่ง อวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อตัน เป็นส่วนหนึ่งที่ยื่นออกจากลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอุดตันจากเศษอาหาร ต่อมน้ำเหลืองจากการติดเชื้อของลำไส้
อาการของไส้ติ่งอักเสบคือ ในช่วงแรกจะคล้ายคลึงกับโรคกระเพาะ ต้องอาศัยการซักประวัติตรวจอย่างละเอียด โดยคนไข้จะมีอาการเบื้องต้นคือ
- คลื่นไส้
- เบื่ออาหาร
- ปวดท้องบริเวณลิ่นปี่หรือกลางท้อง ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านขวามากขึ้นหรือร้าวไปด้านหลังก็ได้ ขึ้นกับตำแหน่งการวางตัวของไส้ติ่ง
- หากอาการปวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนไข้มักขยับตัวไม่ค่อยได้ จะรู้สึกเจ็บมาก เริ่มมีไข้
ซึ่งอาการปวดไส้ติ่งไม่สามารถหายเองได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ไส้ติ่งแตกเป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ควรสังเกตตนเองหากมีอาการปวดท้องด้านขวาสักพักแล้วไม่หาย และยังมีอาการเจ็บเพิ่มขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ปวดท้องอย่าชะล่าใจ หลอดเลือดแดงใหญ่อาจ "ปริ แตก" อันตรายถึงชีวิต
หน้าร้อนแบบนี้ต้องระวัง โรคท้องร่วง - อาหารเป็นพิษใน "เด็ก"
4.แผลในกระเพาะอาหาร / ลำไส้อักเสบ
โรคแผลในกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยรวมไปถึงเด็กเล็ก โดยกระเพาะอักเสบมักจะพบได้กับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี
ส่วนลำไส้เล็กอักเสบพบในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่พบมากคือ กลุ่มคนที่ทานยาละลายลิ่มเลือด ยาแอสไพริน ยาแก้อักเสบบ่อย ๆ ทานข้าวไม่ตรงเวลา ทานรสเผ็ดจัด ดื่มกาแฟเป็นประจำ รวมถึงความเครียด หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร
อาการ
คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบมักมีอาการปวดท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร แต่จะค่อย ๆ หายไปเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปสักพัก ไม่สบายท้องส่วนบน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกเหมือนมีลมในท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน
ขณะที่โรคลำไส้อักเสบมักพบในกลุ่มวัยทำงานได้มากกว่า สังเกตอาการเบื้องต้นคือ อาการแสบท้อง คนไข้จะมีอาการแสบท้องก่อนรับประทานอาหาร แต่เมื่อได้ทานเข้าไปแล้วจะมีอาการดีขึ้น
การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการส่องกล้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดภายในลำไส้ การปฏิบัติตัวเป็นสิ่งสำคัญคือ ทานอาหารให้ตรงเวลา ทานอาหารย่อยง่าย งดอาหารรสจัด ไม่ทานเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และลดความเครียด
5.กรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน อาการสังเกตเบื้องต้นของโรคกรดไหลย้อน เช่น เรอเปรี้ยว ปวดแสบปวดร้อนในช่องท้องส่วนบน ไปถึงบริเวณกลางอก บางคนอาจมีอาการไอ สะอึก เจ็บคอบ่อย ๆ ก็มีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ อ้วน สูบบุหรี่จัด ดื่มชา กาแฟ ทานช็อกโกแลตเป็นประจำ หรือคนที่ชอบเคี้ยวหมากฝรั่งบ่อย ๆ เพราะเป็นการเรียกน้ำย่อยและกระตุ้นกรดในกระเพาะอาหาร หรือคนที่ทานอาหารแล้วนอนทันที
การดูแลตัวเองหากเป็นกรดไหลย้อน อันดับแรกคือ
- งดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ลดการทานช็อกโกแลต สเต็ก เปปเปอร์มินต์ หมากฝรั่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ควรนอนหนุนหัวสูง (หมอนหนุนถึงหัวไหล่) หรือตะแคงซ้าย
- อย่านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งจะช่วยให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นได้
หากการรักษาดังกล่าวไม่ดีขึ้น อาจมีไส้เลื่อนหูรูดกะบังลมร่วมด้วย ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง หรือเครื่องตรวจวัดกรดที่หลอดอาหารและกระเพาะใน 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจให้ยาเพิ่มเติมหรือจำเป็นต้องพิจารณาผ่าตัดรักษาต่อไป
หลักการกินอาหาร ช่วยต้าน “นิ่วในถุงน้ำดี” ภัยเงียบที่หลายคนมองข้าม
กินเก่ง อายุน้อย หนักเกือบร้อย ระวัง "โรคนิ่วในถุงน้ำดี"
6.ตับอ่อนอักเสบ
ตับอ่อนอักเสบ คือ ภาวะที่เกิดการอักเสบของตับอ่อน ทำให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรงได้ หน้าที่ของตับอ่อนคือ ผลิตน้ำย่อยและฮอร์โมนบางชนิด
สาเหตุของตับอ่อนอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี หรือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์
อาการตับอ่อนอักเสบ ปวดท้องและคลื่นไส้อาเจียนมาก โดยเฉพาะคนที่ดื่มเหล้าหนัก ๆ จะมีอาการปวดท้องจนต้องงอตัวเพื่อให้ความปวดทุเลาลง ซึ่งมักพบบ่อยในเพศชาย สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยการอัลตราซาวนด์
7.ตับอักเสบ
ตับอักเสบเป็นภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณตับ สาเหตุเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา และติดเชื้อไวรัสตับ หากตับอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เกิดตับแข็ง หรือเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับตามมาได้
อาการที่พบโดยส่วนใหญ่คือ
- ผู้ป่วยจะมีไข้
- ปวดท้องด้านบนขวา
- ตัวเหลืองขึ้น
การวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดช่วยให้พบค่าการทำงานของตับผิดปกติได้
8.กระเปาะลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ
กระเปาะลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ ผู้ป่วยมักมีประวัติท้องผูกเรื้อรัง อาการที่พบมักปวดท้องบริเวณด้านล่างขวาหรือด้านล่างซ้าย นอกจากนี้เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาจมีการแตกหรือการอุดตัน หรือถ่ายเป็นเลือดได้ การรักษาเริ่มตั้งแต่การให้ยาไปจนถึงการผ่าตัด
9.โรคทางนรีเวช
อาการปวดท้องของโรคทางนรีเวช อาการสังเกตคือ การปวดบริเวณท้องน้อยด้านล่าง ตรงกลาง หรืออาจจะซ้ายและขวาก็ได้ อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับมดลูก หรือปีกมดลูกในผู้หญิง
การสังเกตความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ มากะปริบกะปรอย คุณผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจภายในหรืออัลตราซาวนด์เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น
เช็กสักหน่อย "ถอดหน้ากากอนามัย" ทำได้หรือไม่ได้ ตรงไหนบ้าง?
10 วิธีรับมือโควิด-19 ในผู้ป่วยมะเร็ง รู้แนวทางป้องกันไว้ดีกว่าแก้
อาการปวดในช่องท้องทั้ง 9 โรคที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบการทำงานทั้งสิ้น เมื่อมีสัญญาณเตือนอย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะโรคในช่องท้องแต่ละโรค มีอาการแสดงถึงความผิดปกติ เช่น การปวดท้องที่คล้ายคลึงกัน จนหลายครั้งอาจได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดหรือผู้ป่วยนิ่งนอนใจคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะ จนวินิจฉัยล่าช้าและส่งผลอันตรายได้
ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการปวดท้องในแต่ละโรคนั้นไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการสังเกตและความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัย อีกทั้งการตรวจสุขภาพด้วยการเจาะเลือดเพียงอย่างเดียวอาจไม่พบความผิดปกติ การเข้ารับการตรวจภายในช่องท้องด้วยการอัลตราซาวนด์นับเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อการวินิจฉัยให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงทีและช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
ขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ