“เนเธอร์แลนด์” ดินแดนที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล กับการจัดการน้ำที่ชาญฉลาด
เรียนรู้เรื่อง "อุทกภัย" ภัยธรรมชาติ ที่ความรุนแรงขึ้นอยู่กับพื้นที่
เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ลุ่ม ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำ และพื้นที่เกือบทั้งหมดของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เคยเจอกับหายนะน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อ 68 ปีที่แล้ว และเป็นที่มาของการคิดค้นระบบป้องกันน้ำท่วมแบบองค์รวมที่เรียกว่า “Delta Works”
Delta Works ถือเป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีที่สุดของโลก และหลายประเทศพยายามนำวิธีนี้ไปใช้ แต่ปัญหาโลกร้อนที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ทำให้แม้แต่ในปีนี้ ระบบ Delta Works ของเนเธอร์แลนด์ก็ยังถูกเจาะกำแพงเข้าไปได้
ย้อนไปเมื่อปี 1953 เนเธอร์แลนด์เผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ คืนวันที่ 31 มกราคม มวลน้ำมหาศาล ผสมผสานกับพายุที่มาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ ยกน้ำทะเลขึ้นสูงผิดปกติ ก่อนถาโถมโหมกระหน่ำเข้าสู่ฝั่ง ปริมาณน้ำที่สูงกว่า 4.8 เมตรทะลักเข้าสู่ผืนดิน นี่คือสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่นี้รู้จักกันในชื่อ '1953 North Sea Flood' อุทกภัยที่คร่าชีวิตชาวดัชท์ไปกว่า 2,000 ราย ทำให้พื้นที่ร้อยละ 9 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และคนอีกนับแสนไร้ที่อยู่ฉับพลัน
สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้หากพิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศของเนเธอร์แลนด์ ไม่เพียงแต่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มปากแม่น้ำใหญ่ของยุโรป 3 สาย คือแม่น้ำไรน์-เมิซ-สเกลต์ ซึ่งเชื่อมติดกับทะเลเหนือ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่คือ 2 ใน 3 ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล กระนั้นไม่มีใครเคยคิดว่า น้ำท่วมจะใหญ่จะสร้างความเสียหายได้มากขนาดนี้
วิกฤตอุทกภัยครั้งนั้นเป็นจุดพลิกผันให้เนเธอร์แลนด์หาวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ด้วยการสร้างระบบที่เรียกว่า “Delta Works” ประกอบไปด้วยโครงการย่อย 16 โครงการ ตั้งแต่เขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน และกำแพงกั้นคลื่นทะเล ทั้งแบบเป็นที่กั้นถาวร และแบบที่สามารถเปิด-ปิดได้ กั้นตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำจนเข้ามาถึงลำน้ำในประเทศ เพื่อป้องกันน้ำท่วมให้พื้นที่มีความเสี่ยงสูง ปัจจุบันถือว่าเป็นโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากระบบป้องกันน้ำท่วม เนเธอร์แลนด์มองไปไกลถึงปัญหาและความท้าทายในอนาคต นั่นคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ซึ่งมาพร้อมกับความต้องการใช้พื้นที่ที่มากขึ้น ศาสตร์ความรู้เรื่องการจัดการน้ำของชาวดัชท์จึงขยายไปถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เคยเป็นน้ำมาก่อน
ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ สนามบินสกิปโฮล สนามบินหลักของประเทศ พื้นที่ ๆ สนามบินตั้งอยู่นี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 4 เมตร ในอดีตคือ พื้นที่น้ำอันกว้างใหญ่
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์สั่งระบายน้ำออกจากจุดนี้ด้วยเครื่องจักรไฮโดรลิกที่เดินเครื่องอยู่เกือบ 3 ปี และเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สร้างสนามบินและพื้นที่ทำการเกษตรที่สำคัญของประเทศ เหล่านี้คือการสร้างสรรค์งานด้านวิศวกรรมเพื่อปกป้องประชาชนและดินแดนไว้จากพลังธรรมชาติของน้ำหลังเนเธอร์แลนด์เจอกับโศกนาฎกรรมใหญ่เมื่อ 68 ปีที่แล้ว
ชาวดัชต์ไม่หยุดนิ่งที่คิดค้นหนทางที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำ โครงการ Delta Works กลายเป็นตัวอย่างและต้นแบบของการจัดการน้ำที่โลกยกย่อง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบสุดขั้วที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน แม้แต่ Delta Work ของเนเธอร์แลนด์ก็ยังเจอกับความท้าทาย กรกฎาคมที่ผ่านมา ยุโรปเผชิญกับน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายศตวรรษ หนักที่สุดคือเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐนอร์ทไรน์เวสต์ฟาเลียและรัฐไรน์ลันด์-พฟัลซ์ทางตะวันตก ฝนหนักที่สุดในรอบร้อยปีส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาคารบ้านเรือนจำนวนมากหายไปกับสายน้ำ มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 103 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง และยังสูญหายอีกมากกว่า 1,000 ราย โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัญญาณโทรศัพท์ใช้การไม่ได้ หลังจากบ้านเรือนถูกน้ำพัดพังทลาย ถนนและสะพานถูกตัดขาดเสียหายอย่างหนัก
ความเสียหายหนักจากน้ำท่วมยังเกิดกับเยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ส่วนเนเธอร์แลนด์ น้ำปริมาณมหาศาลสามารถทะลุทะลวงปราการ และระบบป้องกันน้ำที่ดีที่สุดของโลกเข้าไปได้ ประชาชนหลายพันคนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศต้องพากันขนข้าวของหนีน้ำ เจ้าหน้าที่ช่วยอพยพบรรดาผู้สูงวัยที่อยู่ในบ้านพักคนชราออกมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย หลายคนบอกว่าไม่เคยเห็นสภาพน้ำท่วมแบบนี้มาก่อน เกิดขึ้นเนื่องจากน้ำมามากจนคันกั้นน้ำ (Dyke) มีรอยร้าวและแตกในบางจุด
เนเธอร์ เป็นภาษาโบราณที่แปลว่า “ต่ำ” เนเธอร์แลนด์จึงแปลว่าดินแดนที่ต่ำกว่าน้ำ ชาวดัตช์มีชีวิตอยู่กับการขึ้น ๆ ลง ๆ อันเป็นธรรมชาติของน้ำมาแต่ไหนแต่ไร ความพยายามมีชีวิตบนผืนน้ำแทรกซึมอยู่ในทุกมิติของชีวิตคนที่นี่ แต่สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกหนักขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ชาติที่ปรับตัวและเรียนรู้ในการใช้ชีวิตกับน้ำอย่างชาญฉลาดได้ก็ยังต้องเจอกับความท้าทาย