เสียงจากประชาชนในยูเครน สูญเสียหลายสิ่ง แต่ยังไม่สิ้นความหวัง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




พูดคุยกับประชาชนชาวยูเครนที่ยังคงไม่หนีออกมาจากยูเครน พวกเขาสูญเสียอะไรไปบ้าง และพวกเขายังมีความหวังเหลืออยู่หรือไม่

ผ่านมามากกว่า 1 เดือนแล้ว สำหรับเหตุการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครน ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในยูเครน

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นิวมีเดีย พีพีทีวี ได้มีโอกาสพูดคุยผ่านวิดีโอทางไกลกับประชาชนชาวยูเครนที่ยังคงพำนักอยู่ในประเทศ เพื่อรับข้อมูลตรง ๆ จากพวกเขาว่า สถานการณ์ในยูเครนตอนนี้เป็นอย่างไร และชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง

สหรัฐฯชี้ “ปูติน” ก่ออาชญากรรมสงคราม เร่งรวบรวมหลักฐานเอาผิด

ยูเครนพบศพนายกเทศมนตรีถูกฝังอยู่ หลังถูกลักพาตัวไปเกือบ 2 สัปดาห์

ยูเครนประณามรัสเซีย สังหารหมู่พลเรือนกว่า 410 คน

ชีวิตที่เปลี่ยนไป

หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน ขณะนี้มีชาวยูเครนมากกว่า 4 ล้านคนที่ต้องอพยพออกจากประเทศของตัวเอง ยังมีพลเรือนหลายพันคนเสียชีวิต หลายเมืองทั่วยูเครนถูกโจมตีจนพังเสียหาย

นาตาเลีย ยาคอฟเลวา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครที่เมืองคาร์คิฟ เล่าให้ฟังว่า เธออาศัยอยู่ในเมืองคาร์คิฟ ซึ่งเป็นเมืองการศึกษาที่เคยสวยงามและก้าวหน้า แต่หลังจากรัสเซียเริ่มโจมตี ก็ทำให้มหาวิทยาลัย โบสถ์ อาคารต่าง ๆ ถูกทำลายได้รับความเสียหาย

“พวกเขายิงไปทุกที่ โรงเรียน โรงเรียนอนุบาล โรงพยาบาล พวกเขายิง ยิง และยิง ได้โปรดช่วยพวกเราหยุดสงครามบ้า ๆ ครั้งนี้ที เพราะพวกเราเป็นเมืองที่สงบสุข ฉันเป็นคนที่รักความสงบ ครอบครัวเรารักความสงบ ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันพรุ่งนี้ฉันจะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า” เธอบอก

เธอยังแพนกล้องให้เราเห็นด้วยว่า สถานที่ที่ถูกทำลายเป็นมหาวิทยาลัยจริง ๆ ไม่ใช่โครงสร้างทางการทหารอย่างที่รัสเซียกล่าวอ้างทุกครั้งที่โจมตีอาคารของพลเรือน

“ประชาชนในประเทศไทย คุณได้ยินฉันไหม เห็นความหวาดกลัว เห็นสถานการณ์ที่อันตรายนี้ไหม นี่คือมหาวิทยาลัยของเรา ไม่ใช่โครงสร้างทางทหาร มีคนทั่วไป มีคนที่เรียนที่นี่จริง ๆ” ยาคอฟเลวากล่าว

ด้าน โอเล็กซี วาซีเลฟสกี อาสาสมัครกองกำลังป้องกันดินแดน กรุงเคียฟ เล่าว่า ในวันที่สองหลังการบุกของรัสเซีย ช่วงประมาณ 04.30 น. มีเครื่องบินโจมตีโดนบ้านถัดไปไม่กี่หลังจากบ้านของเขา เขาบอกว่ามันเป็นภาพที่เหมือนกับหลุดออกมาจากภาพยนตร์

จากนั้นในวันที่สามหลังรัสเซียบุก วาซีเลฟสกี ซึ่งเป็นเพียงพลเรือนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ตัดสินใจจะไปช่วยเหลือกองทัพทหาร ซึ่งขณะนั้นหน่วยงานของกองทัพกำลังรับสมัครคนไปรบในแนวหน้า แต่พวกเขาไม่ได้รับวาซีเลฟสกีในทีแรก เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ เขาจึงไปคอยช่วยสนับสนุนแนวหน้าด้วยการส่งและจัดหาอาหาร ยา เสื้อผ้า แทน

“จนในวันที่สี่ ตอนที่ผมอยู่ในหน่วยงานของกองทัพประจำเมือง มีคนหนึ่งที่เขาอยู่ห่างจากผมไปแค่ 15 เมตร เป็นพลเรือนยูเครนทั่วไป แล้วเขาก็ถูกสไนเปอร์รัสเซียยิงล้มลงไปเลย” เขาบอก

วาซีเลฟสกีกล่าวต่อว่า สี่วันแรกของการบุกยูเครนนี้ทำให้เขาได้เห็นอะไรมากมาย เขาไม่รู้สึกกลัวอีกแล้ว และกลับเป็นแรงกระตุ้นและสร้างสปิริตให้เขาต้องการพยายามทำให้ยูเครนเข้าใกล้กับชัยชนะมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้เรามีชีวิตที่ธรรมดา เป้าหมายคือเก็บเงินให้ได้มาก ๆ ตั้งเป้าว่าจะไปเที่ยวที่ไหน หรือเก็บเงินซื้ออะไรบางอย่าง แต่ปรากฏว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปในวินาทีเดียว ตั้งแต่ตี 4 ของวันนั้นที่ทุกคนได้ยินเสียงระเบิด ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป” วาซีเลฟสกีกล่าว

ขณะที่ เอลิซาร์ แกรนคอฟ แพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมาริอูโปล บอกว่า ตอนนี้เขาหนีออกจากมาริอูโปลมาอยู่ที่เมืองดนิโปรแล้ว และในขณะที่กำลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทย เขาบอกว่า ที่ข้างนอกนั่นกำลังมีเสียงไซเรนดัง เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าอาจจะมีการโจมตีทางอากาศ

“รัสเซียสามารถยิงถล่ม ระเบิด เราได้ทุกเมื่อ พวกเขาสามารถทำลายพวกเราได้ทุกเมื่อ ได้ทุกอย่าง ในเมืองตอนนี้พวกเขาสามารถทำลายแฟลตที่ผมอยู่ โรงพยาบาล หรือโรงละคร” แกรนคอฟกล่าว

เขาเล่าว่า ตัวเขาเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมาริอูโปล โดยอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี 2014 หรือประมาณ 8 ปีแล้ว โดยทำงานเป็นแพทย์คอยรักษาประชาชนในเมืองเหมือนแพทย์ทั่ว ๆ ไป

แกรนคอฟบอกว่า ในช่วงสัปดาห์แรกหลังรัสเซียบุกโจมตี ในโรงพยาบาลยังมียาเหลืออยู่ แต่พอหลังสัปดาห์ที่ 2 และ 3 พวกเขาก็ไม่มียาปฏิชีวนะเหลือแล้ว

“สัปดาห์ที่ 3 หลังการบุก เรายังช่วยผู้คนอยู่ แต่เมื่อทหารรัสเซีย กองทัพรัสเซีย เริ่มโจมตีโรงพยาบาลของเรา เมืองของเรา เราก็ถูกตัดขาดโอกาสในการจัดหายาต่าง ๆ” เขาเล่า

นายแพทย์บอกว่า ช่วง 5-6 วันแรกหลังจากที่มาริอูโปลเริ่มถูกโจมตียังไม่มีผลกระทบกับโรงพยาบาลมากนัก แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ เขาบอกว่ารัสเซียเริ่มทำลายตึกรามบ้านช่องรอบ ๆ โรงพยาบาล และการโจมตีลามมาถึงโรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่ด้วย

เขาทำลายห้องผ่าตัดของพวกเรา ทำลายชั้นผู้ป่วยที่ยังมีผู้ป่วยอยู่เป็นจำนวนมาก เราไม่มีหน้าต่าง ไม่มีกำแพง ไม่มีเครื่องทำความร้อน ไม่มีน้ำ ไม่มีอะไรเลย เราแทบไม่เหลืออะไรเลย แม้แต่ไฟ เราไม่มีไฟใช้ ทั้งเมืองเลย โรงพยาบาลด้วย เราต้องใช้เครื่องปั่นไฟ พวกเราถึงจะทำการผ่าตัดและช่วยชีวิตผู้คนได้” แกรนคอฟกล่าว

ความทุกข์และความสูญเสีย

เรื่องของสงคราม คือเรื่องของการสูญเสีย หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน ก็ทำให้ชาวยูเครนหลายคนต้องเผชิญกับความทุกข์ การสูญเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการสูญเสียมีทั้งรูปแบบของการสูญเสียบ้านที่เคยอยู่ การสูญเสียอิสรภาพ และการจากเป็นจากตายกับคนที่รัก

ยาคอฟเลวาเล่าว่า ขณะนี้ เธออาศัยอยู่ในคาร์คิฟร่วมกับชาวเมืองคนอื่น ๆ ส่วนครอบครัว คือลูกสาวและหลานสาว ตอนนี้อาศัยอยู่ที่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ซึ่งก็ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงพอ ๆ กันกับคาร์คิฟ

เธอบอกว่า “ลูกสาวของฉันอยู่ในกรุงเคียฟ ซึ่งที่นั่นก็ถูกโจมตีเช่นกัน แม้แต่หลานสาวของฉัน เคียรา เธอก็ต้องเจอกับเหตุระเบิดทุกวันเหมือนกัน นี่มันไม่ใช่เรื่องปกติเลย”

ยาคอฟเลวายังเล่าอีกว่า “ฉันได้คุยกับลูก ๆ หลาน ๆ แล้วถามพวกเขาว่า ‘เป็นยังไงบ้าง’ ทุกวันนี้คำว่า ’เป็นยังไงบ้าง’ กลายเป็นสัญลักษณ์ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ขอแค่พวกเขายังมีวิตอยู่ ฉันก็มีความสุขแล้ว

เรื่องราวของยาคอฟเลวาถือว่าอยู่ในข่ายของการ “จากเป็น” แต่วาซีเลฟสกีไม่ได้โชคดีขนาดนั้น เพราะเขาต้องเธอกับสถานการณ์ “จากตาย” ที่ถือว่าหนักหนาต่อสภาพจิตใจอย่างยิ่ง

“ชีวิตผมเปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อ 5 วันก่อน ผมได้รับโทรศัพท์ที่โทรมาแจ้งว่า เพื่อนของผมเสียชีวิตแล้วในแนวหน้า ไม่ไกลจากกรุงเคียฟ” วาซีเลฟสกีกล่าว

ส่วนสถานการณ์ของแกรนคอฟ สิ่งที่ขาเสียไป คือ “อิสรภาพ” โดยแกรนคอฟบอกว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ทหารรัสเซียยึดโรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่ได้สำเร็จ และสร้างกำบังขึ้นที่โรงพยาบาลเพื่อใช้เป็นฐานในการโจมตีเมืองมาริอูโปล

“พวกเขาโจมตีเมืองระเบิดเมือง “จากพื้นที่โรงพยาบาลของเรา” ใช้รถถัง ระเบิด และเครื่องมืออื่น ๆ” เขาบอก และเสริมว่า หลังจากยึดโรงพยาบาลได้ ทหารรัสเซียเคยให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาล โดยการ “มอบน้ำให้เพียงครั้งเดียว”

แกรนคอฟเล่าต่อว่า หลังจากยึดโรงพยาบาลได้ ทหารรัสเซียยังจับแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ไว้เป็นเหมือนตัวประกัน

“มีครั้งหนึ่งที่ผมอยากกลับบ้าน เพราะผมอยู่ที่โรงพยาบาลมาสัปดาห์หนึ่งแล้ว ผมอยากเจอครอบครัว และผมถามหนึ่งในทหารรัสเซียว่า ผมขอกลับบ้านได้มั้ย เขาบอกว่า ‘ได้สิ แต่ถ้าคุณออกไปเราจะยิงคุณ’ ... พวกเราเป็นตัวประกัน เราไปไหนไม่ได้ เพราะเขาจะยิงเรา แค่นั้นเลย เราจะตาย” เขากล่าว

หลังจากนั้น แกรนคอฟจึงวางแผนที่จะหนีออกมาจากโรงพยาบาล โดยเขาวิ่งออกมาสุดชีวิตในตอนที่ทหารรัสเซียไม่เห็น

“เราวิ่ง และหวังว่าพวกเขาจะไม่เห็นเรา และพวกเขาก็ไม่เห็นเราจริง ๆ เพราะตอนนั้นพวกเขาน่าจะมีปัญหาอย่างอื่นอยู่ นั่นคือสาเหตุที่ผมสามารถหนีออกมาจากโรงพยาบาลและออกมาจากเมืองได้ ผมวิ่งหนีไปที่บ้าน ระหว่างทางผมเห็นตึกที่ถูกทำลาย เห็นคนตายจำนวนมาก ... พวกเขามาที่ประเทศของเรา ที่เมืองของเรา พวกเขาทำลายทุกอย่าง พวกเขาทำลายตึกไปเกือบทุกตึกในเมืองของผม มาริอูโปล ตึกทุกอย่าง โรงเรียน โรงพยาบาล แม้แต่โรงละครที่มีผู้หญิงและเด็กหลบภัยอยู่” แกรนคอฟกล่าว

ด้าน เอฟกินี มอยซีฟ หัวหน้าศูนย์พักพิงในเมืองสตรีย์ เขตลวีฟ บอกว่า เขาเปิดศูนย์พักพิงในเมืองสตรีย์ คอยช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยอพยพออกจากพื้นที่สงครามไปต่างประเทศ และช่วยเหลือเด็ก ๆ จากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เป็นผู้ที่สูญเสียทั้งบ้าน และอาจจะทั้งครอบครัว

“มีผู้ลี้ภัยอยู่ที่นี่ประมาณ 150 คนตอนนี้ มาจากโดเนตสค์ ทางตะวันออกของยูเครน บางคนมาจากเชอร์นิฮิฟ ทางเหนือของยูเครน” เขาบอก

มอยซีฟเสริมว่า ศูนย์พักพิงยังได้ทำงานร่วมกับจิตแพทย์ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพจิตของผู้ลี้ภัยด้วย เพราะหลายคนมาถึงที่ศูนย์พักพิงพร้อมบาดแผลในใจ จากสิ่งที่พวกเขาประสบมาระหว่างหลบหนีการโจมตีของรัสเซีย

“ผู้ลี้ภัยบางคนร้องไห้ทุกวัน และไม่สามารถหยุดได้ เพราะบางคนต้องอยู่ในห้องใต้ดินนานนับสัปดาห์ เพื่อหลบจากระเบิด หลบจากสงคราม พวกเขาร้องไห้และไม่สามารถสงบลงได้ ... ทุกวันนี้องค์กรของเราช่วยให้คนมากกว่า 3,000 คนอพยพจากพื้นที่สงครามไปยังต่างประเทศได้สำเร็จ” มอยซีฟกล่าว

หัวหน้าศูนย์พักพิงยังเล่าเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มเด็กกำพร้าที่หนีมาไกลจากคาร์คิฟจนถึงลวีฟ (จากตะวันออกเกือบสุดของยูเครนมายังทางตะวันตกใกล้กับโปแลนด์)

“มีครูและเด็กรวม 56 คนหนีมาจากคาร์คิฟ พวกเขาต้องหลบอยู่ในโรงยิมแห่งหนึ่งถึง 5 วัน โดยที่ในนั้นไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเลย ... ตอนที่กำลังอพยพเด็กกำพร้าจากคาร์คิฟ มีระเบิดไม่หยุด” เขาบอก

มอยซีฟเล่าต่อว่า ครูและเด็กกลุ่มนี้ต้องไปหลบในโบกี้รถไฟเล็ก ๆ อยู่ในนั้น กับผู้ลี้ภัยคนอื่นอีก 150 คนในโบกี้เดียวในตอนที่ยังไปไหนไม่ได้ ซ้ำร้าย เด็กกำพร้าเหล่านี้บางคนเดินไม่ได้เดินไม่ไหล ครูและคนที่ดูแลก็จะต้องแบกเด็ก ๆ หนีกระสุนและระเบิด และโชคดีที่ช่วยปกป้องเด็กได้ทุกคนจนมาถึงโบกี้รถไฟที่ใช้หลบภัย

“ด้วยเงื่อนไขของสถานที่ ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถนั่งได้นานกว่า 1 ชั่วโมง เพราะในโบกี้รถไฟมีคนมากกว่า 150 คน แต่พวกเขาไม่มีทางเลือก นี่คือหนทางเดียวในการเอาชีวิตรอด ... คุณครูสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเลือกที่จะช่วยเด็กกำพร้า พาพวกเขาอพยพไปยังต่างประเทศ ทำให้ครูเหล่านี้ต้องทิ้งลูก ทิ้งสามี ทิ้งครอบครัวของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ” มอยซีฟกล่าว

ยังไม่หมดหวัง

แต่ท่ามกลางความสูญเสียหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับพวกเขา แม้อาจจะมีกำลังใจลดลงบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่หมดไปจากใจของประชาชนในยูเครน คือ “ความหวัง”

วาซีเลฟสกีบอกว่า เขาไม่ต้องการหนีไปจากประเทศของเขา และเขาจะสู้ต่อ “วันแรก ๆ หลังสงครามเริ่ม พ่อแม่ผมโทรมาให้ผมอพยพไปกับพวกเขา ผมตอบไปว่า ‘ไม่มีวัน’ ... วันแรก ๆ บางคนอาจจะอยู่เพราะอะดรีนาลีนที่หลั่งออกมา แต่ตอนนี้ผมยังอยู่เพื่อให้เราเข้าใกล้ชัยชนะมากขึ้นเท่าที่จะทำได้ ผมไม่อยากได้รับสายที่โทรมาแจ้งข่าวแบบเมื่อ 5 วันก่อนอีกแล้ว”

เช่นเดียวกับมอยซีฟที่บอกว่า เขาจะทำงานช่วยเหลือให้ชาวยูเครนได้ออกไปจากสมรภูมิอย่างปลอดภัย “หลังจากที่องค์กรของเราสามารถช่วยผู้คนให้ออกจากพื้นที่สงครามข้ามไปยังประเทศอื่นได้สำเร็จ พวกเขารู้สึกขอบคุณ และเขียนจดหมายขอบคุณให้ผม นี่คือสิ่งที่มอบพลังให้ผมยังคงทำสิ่งนี้ต่อไป”

มอยซีฟบอกว่า “มีคนที่ต้องการผมอยู่ ทำให้ผมไปต่อ”

ด้าน แอนนา โควาเลนโก อดีตรองหัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีแห่งยูเครน บอกว่า ที่ยูเครนสามารถยืนหยัดต้านรัสเซียได้นานขนาดนี้ ที่พวกเธอยังคงไม่ยอมแพ้ต่อรัสเซีย ปัจจัยสำคัญคือ “ประชาชน”

“ในรัฐธรรมนูญของยูเครนบอกว่า ‘แหล่งพลังอำนาจของยูเครนคือประชาชน’ ... เมื่อรัสเซียบุกมาเต็มกำลังในปัจจุบัน พลเรือนหลายคนก็เลือกที่จะปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง” เธอเสริมว่า ประชาชน คืออาวุธที่ทรงอำนาจที่สุดของยูเครน

“ทุกวันนี้ 70% ของชาวยูเครนรู้สึกโกรธรัสเซียที่บุกบ้านเกิดของเขา และมีถึง 90% เชื่อว่ายูเครนจะชนะ” เธอกล่าว ซึ่งเราก็คงจะพออนุมานได้ด้วยตัวเองว่า หนึ่งในเสียงของ 90% นี้ต้องมีเธอรวมอยู่ด้วยแน่ ๆ

ในใจของชาวยูเครน ยังคงเปี่ยมไปด้วยไฟแห่งการต่อสู้ และความหวังความเชื่อมั่นอันแรงกล้าว่า พวกเขาจะมีชัยเหนือรัสเซีย และทวงชีวิตที่สงบสุขกลับคืนมา

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ