ผู้อยู่อาศัยในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ยังคงเป็นกังวลเกี่ยวกับแผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เตรียมปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันนี้ (พฤหัสบดี 24 ส.ค.) โดยระบุว่า คงเป็นการดี หากรัฐบาลชี้แจงหลักฐานเพิ่มเติมว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วกว่า 1 ล้านเมตรติกตัน จะถูกปล่อยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ดำเนินการโดยบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ หรือ “เทปโก” (Tepco) ภายใต้แผนการของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากจีน รวมถึง กลุ่มประมงท้องถิ่น ซึ่งกลัวว่า การตัดสินใจดังกล่าวที่นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงแล้ว จะยังเป็นการทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วดังกล่าว มีความปลอดภัย
ด้านนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ วัย 23 ปี รายหนึ่ง เปิดเผยว่า การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่น ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมาเยือนที่นี่ของชาวต่างชาติ
ทั้งนี้ สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ (IAEA) หน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ขององค์การสหประชาชาติ ไฟเขียวแผนการดังกล่าวของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ เมื่อปี 2011 นั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมนั้นอยู่ในระดับน้อยมาก