“วนเกษตร” น่านโมเดล เยียวยาชาวบ้านชีวิตล้มละลายจากนโยบายทวงคืนผืนป่า


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หากเอ่ยถึงการดำเนินคดีฐานบุกรุกป่า ชัดเจนที่สุดและมีผลมาจนถึงวันนี้คือ นโยบายทวงคืนผืนป่าในปี 2557 มีการที่ใช้มาตรทางกฎหมาย กดดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ทำกินเดิมในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย อย่างเช่นชาวบ้าน อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ถูกสั่งห้ามเข้าพื้นที่ แม้เวลาจะผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ผลของนโยบายดังกล่าวก็เปลี่ยนชีวิตของชาวบ้านหลายรายไปอย่างสิ้นเชิง

ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. นำมาสู่การตรวจสอบและดำเนินคดีชาวบ้านที่ทำกินในพื้นที่ป่าสงวน จ.น่าน แม้จะทำกินบนที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ยึดพื้นที่ป่าจ.น่านคืน 5,000 ไร่

ชาวบ้าน ทำกินบนที่ส.ป.ก. ไม่รอดอาญา

ปี 2559 ชาวบ้านใน อ.นาน้อย และ อ.นาหมื่น จำนวน 298 คน ถูกสั่งห้ามเข้าพื้นที่ทำกิน  โชคร้ายที่ช่วงเวลานั้น พวกเขาเพิ่งกู้เงินจาก ธ.ก.ส. มาซื้อเมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์ทำเกษตร เมื่อถูกสั่งห้ามเข้าพื้นที่ จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อไว้ไร้ความหมาย มิหนำซ้ำ แถมยังมีหนี้สินติดตัวคนละหลายแสนบาท

ปัญหาหนี้สิน ทำให้ “เชิดชัย อ้นน้อย” หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกยึดพื้นที่ทำกิน เครียดจนป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ จนเป็นอัมพฤกครึ่งซีกถึงทุกวันนี้ 

โดยเขาเล่าว่า หลังไม่สามารถเข้าไปทำกินบนที่ดินเดิมได้ ก็เกิดความเครียดสะสม เพราะไม่มีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส. จนวันหนึ่งวูบหมดสติระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้รถตกข้างทาง เมื่อไปพบแพทย์ก็พบว่าสาเหตุของอาการวูบมาจากโรคหลอดเลือดในสมองตีบ

ไม่เพียงผลกระทบด้านสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาของลูกชายนางสังเวียน ตาละ ชาวบ้านอีกรายหนึ่งที่ถูกห้ามเข้าพื้นที่เช่นเดียวกันนางสังเวียน เล่าว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ลูกชายเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ กำลังจะเข้าสู่เทอมสุดท้าย แต่ครอบครัวไม่มีรายได้ส่งค่าหอพักและค่าใช้จ่ายในการทำโปรเจกต์ จึงต้องออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน มีเพียงวุฒิม.6 ติดตัว มาหางานใช้หนี้ กยศ. ที่กู้มาเรียน

ชาวบ้านห้วยน้ำหิน ทราบดีว่าพวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนอดีตได้ แต่สิ่งที่พยายามเรียกร้อง คือสิทธิทำกินบนที่ดินเดิม โดยพวกเขายินดีเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาใช้แนวทางวนเกษตร คือ แบ่งพื้นที่ปลูกไม้ผล 70 เปอร์เซ็นต์ ปลูกต้นไม้ป่า 10 เปอร์เซ็นต์ และทำการเกษตรตามฤดูกาล 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแนวทางนี้ได้เสนอไปยังกรมป่าไม้แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

“วนเกษตร” กลายเป็นความหวังต่อแนวทางแก้แบบพบกันคนละครึ่งทางระหว่างคนพื้นที่กับรัฐ ซึ่งชาวบ้านมองว่า เป็นทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนหากภาครัฐสนับสนุน พวกเขายินดีจะเปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้นใน จ.น่าน ให้กลายสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ที่นอกจากจะสวยงามตามธรรมชาติ ยังสอดคล้องกับวิถีของชุมชน

ชาวชัยภูมิตั้งคำถาม ทำไร่ก่อนเป็นเขตป่า ทำไมถูกดำเนินคดี

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ