“มาฆบูชา” แนะวิธีทำบุญของพุทธศาสนิกชน ในวันพระใหญ่ได้บุญมากกว่าจริงไหม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดคู่มือการทำบุญในวันมาฆบูชาของพุทธศาสนิกชน เช้า-บ่าย-ค่ำ ควรทำอะไร พร้อมไขข้อสงสัยทำบุญในวันพระใหญ่จะได้บุญมากว่าจริงไหม ที่นี่!

วันมาฆบูชา ถือเป็นวันพระใหญ่ที่ผู้คนนิยมเข้าวัดไปตักบาตร ทำบุญ หรือเวียนเทียนกันในช่วงหัวค่ำ เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

ขณะที่ในวันพระเล็ก ใน 7-8 วันจะมีครั้งหนึ่ง แม้ในวันนี้ผู้คนจะยึดถือเป็นวันถือศีล ทำบุญตักบาตรเป็นพิเศษในรอบสัปดาห์ แต่หลายคนมักตั้งข้อสงสัยว่า การทำบุญในวันพระเล็ก และวันพระใหญ่นั้นแตกต่างกันหรือไม่ ทำเหมือนกันได้ไหม และถ้าทำบุญในวันที่พิเศษกว่า จะได้บุญมากกว่าหรือไม่? เราได้รวบรวมคำตอบมาให้แล้วดังนี้

ผ่าประวัติศาสตร์ “วันมาฆบูชา” ทำไมกลายมาเป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ”

“วันมาฆบูชา” เช็กความต่างวันสำคัญทางพุทธศาสนา กิจกรรม-เหตุการณ์สำคัญ

ปฏิทินวันพระ 2567 เช็กวันสำคัญทางศาสนา-วันมาฆบูชา ตรงกับวันที่เท่าไร

คู่มือทำบุญมาฆบูชา ช่างภาพพีพีทีวี
ประชาชนทำบุญตักบาตร

การทำบุญ

ก่อนอื่นเลย ต้องรู้จัก "การทำบุญ" ในทางพระพุทธศาสนา การทำบุญมีอยู่ด้วยกันถึง 10 วิธี เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ 10” ได้แก่

1.) การให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดก็ได้ที่เป็นการให้ การสละ หรือเผื่อแผ่แบ่งปันให้ผู้อื่น

2.) รักษาศีล การครองตนทั้งกาย และวาจา ให้อยู่ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนา เช่น ศีล 5 ศีล 8

3.) เจริญภาวนา หรือภาวนามัย เป็นการมุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา

4.) การอ่อนน้อมถ่อมตน การอ่อนน้อมถ่อมตน การให้เกียรติ และการให้ความเคารพต่อความคิด ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของบุคคล หรือสังคมที่แตกต่างจากเรา หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าเป็นการทำบุญ แต่ที่จริงแล้วเป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเรา ช่วยให้สังคมทุกระดับเกิดความเข้าใจต่อกันและสงบสุข จึงถือเป็นผลบุญอย่างหนึ่งนั่นเอง

5.) การขวนขวายทำในกิจที่ชอบ การช่วยเหลือคนรอบข้างในการทำความดีต่างๆ เช่น ช่วยสอดส่องดูแลบ้านให้เพื่อนยามเขาต้องไปทำธุระ การช่วยงานเพื่อนให้เสร็จทันเวลา หรือการให้กำลังใจเพื่อนที่มีความทุกข์

6.) การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญ การเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญ ไม่ขี้เหนียว ไม่งกบุญใหญ่ไว้คนเดียว

7.) การอนุโมทนาบุญ การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อเห็นใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉา หรือระแวง

8.) การฟังธรรม การให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่นด้วยการนำธรรมหรือเรื่องราวดีๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี

9.) การแสดงธรรม การให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆ แก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆ ที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือคำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี

10.) การทำให้ถูกต้อง เหมาะสม การไม่ถือทิฐิ เอาแต่ความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ แต่ให้รู้จักแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ

คู่มือทำบุญมาฆบูชา ช่างภาพพีพีทีวี
ประชาชนสวดมนต์

การทำบุญในวันพระใหญ่

ในวันพระใหญ่ที่มีความสำคัญของพุทธศาสนิกชน ส่วนใหญ่แล้วจะถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย

รวมถึงในวันมาฆบูชานี้ ยังเป็นวันที่ชวนให้ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาในวันเพ็ญเดือนสาม ที่มีพระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และเกิด “โอวาทปาติโมกข์” ขึ้นมา อันเป็นคำสอนหัวใจของพระพุทธศาสนาที่สอนให้ “คนทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำให้จิตใจบริสุทธิ์นั่นเอง”

เราจึงขอแนะนำกิจกรรมดีๆ ที่พุทธศาสนิกชนสามารถเลือกไปปฏิบัติในวันมาฆบูชาได้ แบ่งเป็นช่วงเวลาดังนี้

ช่วงเช้า  : ควรไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร

ช่วงบ่าย : ฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา หรือ เจริญสมาธิภาวนา

ช่วงค่ำ : นำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียน 3 รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ช่วงระยะเวลาที่ว่าง : พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ และรักษาศีล

คู่มือทำบุญมาฆบูชา ช่างภาพพีพีทีวี
ประชาชนเวียนเทียน

ทำบุญในวันพระใหญ่ ได้บุญมากกว่า?

ส่วนการทำบุญในวันพระใหญ่จะได้บุญมากกว่าหรือไม่นั้น เรื่องนี้อาจมีหลายคนสงสัย แท้จริงแล้วอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะทำบุญในวันไหนๆ หากมีเจตนาดี ก็ได้บุญเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

โดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญโญ เคยสอนไว้ว่า ในการทำบุญ หรือขอพร ทุกคนอยากได้สิ่งที่ดีในชีวิต แต่พรที่ดี บุญที่ดีไม่ต้องแสวงหาที่ไหน พรที่ดี อยู่ที่ตัวเรา ทำดีเมื่อไร ได้ดีทันที ขณะที่คิดดี ทำดี พูดดี ผลที่เกิดขึ้นถือเป็นพร เป็นบุญอันประเสิรฐ ไม่มีใครทำอะไรเราได้ ถ้าเราไม่ทำด้วยตัวเอง

จริง ๆ แล้ว วันเทศกาลต่างๆ เป็นการสมมุติของชาวโลกว่าวันนี้ต้องทำบุญเยอะๆ วันนี้ต้องทำเช่นนี้ จริงๆ แล้ว วันที่ดีที่สุดคือวันที่เราทำความดี

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะทำบุญในวันพระเล็ก หรือวันพระใหญ่ก็ตาม ต่างก็ได้บุญเท่ากันอยู่ที่เจตนามากกว่า เพียงแต่ในวันพระใหญ่นั้นเป็นทั้งวันหยุดราชการ และจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีลด้วย โอกาสจึงเอื้ออำนวยในการทำบุญได้มากกว่า สามารถทำบุญได้ครบทั้งทานมัย ศีลมัย ภาวนามัยนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : พระมหาสมชาย ฐานวุฆโฒ, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“วันมาฆบูชา 2567” ชวนคนกรุงเวียนเทียนด้วยต้นไม้ เปิด 5 จุดรับต้นกล้าฟรี

ตรวจหวยงวดนี้ - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ลอตเตอรี่ 16/2/67

ตรวจผลออกรางวัลสลากออมสินพิเศษ 1 ปี งวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567

รู้จัก สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 คนนับหมื่นแห่เก็บภาพก่อนเปิดใช้จริง

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ