ยังเสียงแตก !! พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ “เภสัชกร-พยาบาล”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สภาเภสัชกรรม ค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ประเด็นให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่ “เภสัชกร” จ่ายยาได้ ด้านอดีต ปธ.เครือข่ายพยาบาล ระบุ เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ยา ใหม่ เหตุบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ส่วน อย. ชี้ยังไม่ได้สรุป

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.61 สภาเภสัชกรรม ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา คัดค้านร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ.... (ฉบับใหม่) โดยระบุว่า ตามที่สำนักงานอาหารและยาได้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงและยกร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม 2561) และจะดำเนินการเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามขั้นตอนต่อไปนั้น สภาเภสัชกรรมพิจารณาเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม 2561) แล้ว มีความเห็นว่ามีบทบัญญัติยังเป็นประเด็นปัญหาอันเป็นสาระสำคัญอยู่หลายประการ จึงยืนยันสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559) ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงให้ประชาชนได้รับหลักประกันในการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยส่งเอกสารคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม 2561) ทั้งหมด 9 ข้อ ขอหยิบยกประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันมาก คือ เรื่อง คำนิยาม และการให้วิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาได้

อ่านข่าว: เภสัชกร-พยาบาล เห็นต่าง แก้ไข พ.ร.บ.ยา ให้บุคลากร สธ.ด้านอื่นจ่ายยาได้

ประเด็น การแบ่งประเภทยาตามร่างมาตรา 4 ว่าด้วยนิยามไม่เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งตามหลักสากลแล้วการแบ่งประเภทยาจะมีเพียง 3 กลุ่ม คือ ยาที่จ่ายตามใบสั่ง ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร และยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง ซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยง่ายของประชาชนในการได้มาซึ่งยารักษาโรค ส่วนนิยามเดิมเป็นการระบุถึงอันตรายจากการใช้ยา ไม่สร้างสรร เพียงแต่เป็นที่เข้าใจในวิชาชีพเท่านั้น จึงไม่ควรกำหนดนิยามคำเดิมว่า “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” และ “ยาที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ” ขึ้นมา นิยามเดิมดังกล่าวถูกใช้มาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2510 อันจะขัดต่อเจตนารมณ์ของการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งนิยามใหม่นี้ถูกเสนอในร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559) โดยไม่มีผู้ใดเสนอแก้ไข แต่เหตุใดจึงถูกเปลี่ยนกลับไปใช้นิยามเก่า

และประเด็น การตัดเนื้อหาบทบาทของวิชาชีพเภสัชกรรมในการปรุงยา และจ่ายยาตามใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ซึ่งเดิมมีบัญญัติอยู่ใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ตามมาตรา 26 (4) และมาตรา 39 (4) อยู่แล้ว ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. .... (ฉบับใหม่ กรกฎาคม 2561) ได้ให้อำนาจนี้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นไว้ในวงกว้างในมาตรา 35 มาตรา 36  แต่ไม่ได้ระบุไว้ในมาตรา 37 ซึ่งเป็นที่มาของข้อขัดแย้งระหว่างวิชาชีพว่าด้วยการผลิตยาและการผลิตผสมยาให้ผู้ป่วยเป็นการเฉพาะราย ซึ่งอันที่จริงการผลิตหรือผสมยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพใดก็จะต้องจัดให้มีสถานที่ตามมาตรฐาน ความสะอาดปราศจากการปนเปื้อน อีกทั้งผู้ปฏิบัติการจะต้องมีความรู้เรื่องการผลิตหรือปรุงยาที่ถูกต้องอีกด้วย การยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพที่ไม่ใช่เภสัชกร จึงเปิดให้มีการผลิตผสมปรุงยาเป็น “สองมาตรฐาน” สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน

“เครือข่ายพยาบาลเห็นด้วยกับพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ถ้าระบุหน้าที่ชัดเจนไม่ก้าวก่ายกัน

ขณะที่วันนี้ (28 ส.ค.61) นายสราวุฒิ ที่ดี อดีตประธานเครือข่ายพยาบาลลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวพีพีทีวีว่า สำหรับพ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ตนเห็นด้วยถ้ามีการกำหนดหน้าที่งานไม่ให้ก้าวก่ายกันชัดเจน เพราะพยาบาลก็ไม่ได้อยากจ่ายยา ไม่ได้อยากเปิดร้านขายยา แต่ที่ต้องทำหน้าที่จ่ายยาเพราะบุคลากรไม่เพียงพอ

นายสราวุฒิ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพยาบาลต้องจ่ายยาให้ผู้ป่วยเรื้อรัง และต้องจ่ายยาสามัญประจำบ้าน จึงอยากให้ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ คุ้มครองบุคลากรพยาบาลด้วย ซึ่งหากอยากให้เกิดความยุติธรรม ในโรงพยาบาลต้องมีบุคลากรเภสัชกรให้ครอบคลุมซึ่งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ยาหลายอย่างพยาบาลต้องทำหน้าที่จ่ายให้กับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล

นายสราวุฒิ กล่าวว่า ถ้าจะให้ดี พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ต้องชัดเจนในการทำหน้าที่ และแต่ละวิชาชีพต้องห้ามก้าวก่ายการทำหน้าที่กัน แต่เพราะประเทศไทยบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนทำให้เกิดการทำงานดังที่กล่าวมาข้างต้น

“เพราะบุคลากรขาดแคลน และในเมื่อในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พยาบาลจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ แล้วทำไมจ่ายในคลินิกพยาบาลไม่ได้” นายสราวุฒิ กล่าว

อย. ระบุ ยังไม่ได้สรุปว่าให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้

นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.61 ว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นนานกว่า 7 เดือน พบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ มากถึงร้อยละ 90 โดยเห็นด้วยต่อประเด็นสำคัญๆ เช่น องค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการยาแห่งชาติ การแบ่งประเภทยา การทบทวน และการต่ออายุทะเบียนตำรับยา การจดแจ้งเภสัชเคมีภัณฑ์ เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เภสัชชีววัตถุ และเภสัชสมุนไพร

นายแพทย์วันชัย ระบุว่า ส่วนกรณีที่ยังคงมีความเห็นต่างต่อร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่นี้คือในเรื่องของการเปิดช่องทางให้วิชาชีพอื่นสามารถสั่งจ่ายยาได้ จากเดิมมีเพียง 3 วิชาชีพเท่านั้น คือ แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ยืนยันว่า ในร่างกฎหมายฉบันนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นการเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นสั่งจ่ายยาได้ แต่เป็นเพียงการพูดคุยรับความคิดเห็นกัน โดยมีการเสนอมา 2 ด้านคือ ให้เพิ่มวิชาชีพอื่นเข้าไป หรือลดให้เหลือเพียงแค่วิชาชีพเดียวในการสั่งจ่ายยา ซึ่งจะตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเข้ามา ร่วมพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ

อ่านข่าวพ.ร.บ.ยา เพิ่มเติมได้ที่นี่:

 

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >>> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ